หลวงพ่อพรหม ถาวโร ถือกำเนิด ณ หมู่บ้านโก่งธนู ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม(ผู้เขียนได้ตรวจตามปฏิทิน ๑๕๐ ปีแล้ว ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๖) เป็นบุตรของคุณพ่อหมีและคุณแม่ล้อม โกสะลัง มีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกัน ๔ คน ได้แก่ ๑. นางลอย(ไม่ทราบนามสกุล) ๒. นายปลิว โกสะลัง ๓. หลวงพ่อพรหม ถาวโร ๔.นางฉาบ (ไม่ทราบนามสกุล)
เมื่อเยาว์วัยหลวงพ่อพรหมศึกษาเล่าเรียนกับพระในวัดใกล้บ้านท่าน โดยเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมควบคู่กัน จนอ่านและเขียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอมได้ กระทั่งเมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๗ จึงได้อุปสมบทที่วัดเขียนลาย ตำบลบ้านแพรก อำเภอมหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อถมยา วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ถาวโร” แปลว่า “ผู้มั่นคง” ซึ่งพระอุปัชฌาย์ของท่านมีความปรารถนาให้หลวงพ่อพรหมเป็น “ผู้มีความมั่นคงในธรรม”
หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค นครสวรรค์
ภายหลังจากอุปสมบทท่านอยู่จำพรรษา ณ วัดเขียนลาย เป็นเวลา ๑๐ ปี เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและฝึกปฏิบัติพระกรรมฐานตลอดจนพระเวทย์วิทยาคมต่างๆ จากครูบาอาจารย์ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส ได้แก่
๑) อาจารย์พ่วง(ฆราวาส) ท่านเป็นศิษย์สายหลวงปู่มา วัดบางม่วง(ซึ่งหลวงปู่มาเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) และศิษย์สายสมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว(อาจารย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) โดยอาจารย์พ่วงท่านนี้เป็นผู้ปูพื้นฐานด้านพระกรรมฐานและพระเวทย์วิทยาคมให้แก่หลวงพ่อพรหมตั้งแต่ก่อนอุปสมบทจนถึงช่วงแรกๆของการอุปสมบท
๒) หลวงพ่อดำ(ไม่ทราบวัด) หลวงพ่อพรหมได้ศึกษาพระกรรมฐานและพระเวทย์วิทยาคมกับท่านในช่วงพรรษาที่ ๑-๔ โดยอาจารย์พ่วงเป็นผู้นำหลวงพ่อพรหมไปฝากเรียน
๓) ปู่วอน(ฆราวาส) ท่านเป็นศิษย์สายหลวงปู่นิล วัดแควป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์(อาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรังสี วัดระฆังโฆสิตาราม) และอาจารย์เพ็ง(ฆราวาส) ซึ่งทั้งสามท่านเป็นพี่น้องกัน โดยอาจารย์พ่วงเป็นผู้นำหลวงพ่อพรหมไปฝากเรียนพระกรรมฐานและพระเวทย์วิทยาคมกับปู่วอนที่บ้านวังแดง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นเวลากว่า ๕ ปี ในช่วงพรรษาที่ ๕-๑๐ จนกระทั่งปู่วอนถึงแก่การอสัญกรรม จากนั้นหลวงพ่อพรหมก็ไม่เคยไปเรียนพระกรรมฐานกับใครอีกเลย ภายหลังได้นำอัฐิของปู่วอนมาเก็บรักษาไว้ที่วัดช่องแค เพื่อรำลึกถึงพระคุณท่าน
ภูมิทัศน์วัดช่องแค
เมื่อท่านฝึกพระกรรมฐานจนช่ำชองแล้ว จึงได้กราบลาพระอุปัชฌาย์และครูบาอาจารย์ที่สอนพระกรรมฐาน ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่วิเวกต่างๆเพื่อแสวงหาวิมุติธรรม โดยเดินทางผ่านจังหวัดต่างๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี เข้าสู่กาญจนบุรี ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ เข้าสู่ประเทศพม่า แล้วเดินธุดงค์ต่อไปยังเมืองย่างกุ้ง เพื่อเข้าไปนมัสการพระธาตุตะโก้ง(พระเจดีย์ชเวดากอง)
ระหว่างการเดินทางต้องผจญกับสัตว์ร้ายนาๆชนิด รวมถึงพบโครงกระดูกและเศษจีวรของมนุษย์ในระหว่างทางที่เดิน ซึ่งท่านกล่าวว่า
“โครงกระดูกนั้นเป็นของพระธุดงค์ที่ตกอยู่ในความประมาท กล่าวคือพระธุดงค์เหล่านั้นอาจจะไปปักกลดขวางทางเดินของสัตว์ใหญ่หรือขบฉันอาหารที่มีพิษจนถึงแก่ความตาย ดังนั้นการเดินธุดงค์นั้นจะต้องกอปรไปด้วยสติและใช้ปัญญาไตร่ตรองทุกย่างก้าว เพราะภยันอันตรายอาจจะมาถึงตัวเมื่อไรก็ได้”
สำหรับหลวงพ่อพรหมนั้น แม้ว่าท่านไม่เคยตกอยู่ในความประมาท แม้ว่าจะมีพระเวทย์วิทยาคมป้องกันตัว ตอนปลักกลดท่านจะเลือกบริเวณที่มิใช่ทางเดินของสัตว์ใหญ่รวมถึงไม่เบียดเบียนสัตว์ชนิดต่างๆ พร้อมทั้งเสกด้วยคาถากำแพงแก้วเจ็ดชั้นล้อมกลดภายในไว้ ส่วนภายนอกให้ภาวนาคาถาอิติปิโส ๘ ทิศ เพื่อป้องกันอันตรายทั้ง ๘ ทิศ เมื่อถอนกลดก็ต้องถอนคาถาต่างๆออกด้วย เพื่อกันสัตว์ป่าเดินหลงเข้าไป แล้วออกมาไม่ได้จนถึงแก่ความตาย จะเป็นบาปแก่เรา( โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)