Wednesday, December 11, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต

ทวี ฟินาเล่

“…ผมรู้สึกดอกไม้อย่างดีเลย มองปั๊บก็รู้กิริยาของมัน รู้สึกว่าแสงมันผ่านยังไง เบาไป มากไป ว่างไป โล่งไป เมื่อเราทำงานมากๆความรู้สึกจะบอกเราเอง เขียนรูปก็เหมือนเสียงเพลง มันเป็นเมโลดี้ พอไม่ลงตัวมันก็ไม่ไพเราะ ไม่ดีไม่งาม รูปเขียนนี่ก็เหมือนกัน บทที่จะเน้นจะปล่อยต้องมีจังหวะ…บางคนรู้ว่าสวย ไม่สวย แต่ไม่รู้เพราะอะไร นี่มันสำคัญตรงนี้ ประสบการณ์จะช่วยให้เราแยกแยะได้…’ นี่คือคำแนะนำสำหรับผู้ไม่ประสีประสาด้านศิลปะที่ ทวี นันทขว้าง กล่าวไว้ไม่นานก่อนที่ท่านจะจากไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ทวี นันทขว้าง (2468 – 2534)
ศิลปินชั้นเยี่ยมปี 2499 และ ศิลปินแห่งชาติประจำปี 2533 สาขา ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

เหมือนทุกสิ่งอย่างในโลกนี้ การจะรู้ว่าอะไรคือดี ไม่ดี งาม ไม่งาม นั้นไม่ใช่แค่อ่านถึง หรือฟังใครเล่ามาแล้วจะรู้สึกรู้สาได้ ความสามารถในการจำแนกแยกแยะนี้จะก่อให้เกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบุคคลผู้นั้นมีโอกาสสัมผัสของจริง อย่างการที่ได้ยืนอยู่ตรงหน้าผลงานศิลปะชั้นเลิศขนานแท้ซักชิ้น ได้เปิดใจรับรู้ถึงจิตวิญญาณ พละกำลัง และสติปัญญาของศิลปินที่กลั่นกรองหล่อหลอมจนกลายเป็นผลงานศิลปะที่เร้าอารมณ์มีจังหวะจะโคนออกมา นั่นล่ะเป็นโมเมนท์ในการสั่งสมประสบการณ์ทางสุนทรียศาสตร์ล้ำค่ายิ่งกว่าหาเอาจากตำรา หรือคำร่ำลือใดๆ

หากพระเบญจภาคีในวงการพระเครื่องหมายถึงพระชั้นเลิศ ชุดสุดยอดปรารถนาที่มีอายุเก่าแก่หายาก มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ มีพลัง และนับวันจะยิ่งมีมูลค่าทวีคูณมหาศาล ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วผลงาน ทวี นัทขว้าง ก็นับได้ว่าเป็นหนึ่งในเบญจภาคีของวงการศิลปะ ทวี เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆของอาจารย์ ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย ยุคที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่งเริ่มจะก่อตั้งขึ้นมาใหม่ๆ

ทวี ฟินาเล่

ตั้งแต่เป็นนักศึกษาทวีมีความสามารถที่โดดเด่นกว่าใคร ในชั้นเรียนภาพวาดของท่านทำคะแนนแบบล้นๆจนได้ ๑๐๐++ อยู่เป็นประจำ ผลงานที่ทวีส่งไปร่วมในงานการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ชนะรางวัลอยู่เสมอๆ จนอาจารย์ศิลป์ผู้เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสินถึงกับกล่าวว่า ‘นายทวีเขาเกิดมาเพื่อเขียนรูป งานของนายทวีนี้ให้รางวัลที่ ๑ ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้’ เมื่อได้รับรางวัลบ่อยครั้งเข้าในที่สุดทวีก็ผ่านเกณฑ์ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมของชาติตั้งแต่อายุเพิ่งจะพ้น ๓๐ ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ นู่น และหลังจากนั้นอีก ๓๐ กว่าปีก็ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติพ่วงไปอีก

ผลงานของทวี นันทขว้าง นั้นเป็นที่หมายปองในหมู่ผู้นิยมศิลปะกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออกแล้ว ขนาดอาจารย์ศิลป์ พีระศรี นอกจะจะชมเปาะออกหน้าออกตายังเลือกแขวนภาพวาดฝีมือทวีไว้ข้างโต๊ะทำงานหลายภาพกว่าผลงานของศิลปินท่านไหน ยิ่งนานปีผลงานของทวีไม่เคยเสื่อมความนิยมลง เมื่อยิ่งถูกหมักบ่มจนกลมกล่อมด้วยกาลเวลากลับยิ่งเพิ่มเสน่ห์และความขลังขึ้นอีกอักโข เหมือนไวน์ชั้นดีที่ได้อายุผู้คนยิ่งตามหายิ่งมีราคา ไม่ต้องไปสืบที่ไหนให้ยากดูได้จากผลการประมูลศิลปะไทยในงานต่างๆที่ผ่านมา หากมีภาพวาดของทวีเข้าร่วม ผลงานชิ้นนั้นจะได้ราคาสูงที่สุดในงานอยู่เป็นนิจ แถมนานวันเข้าราคายังพุ่งพรวดพราดทะลุเพดานทำลายสถิติซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งๆที่ทวีไม่มีหน้าม้า หรือแกลเลอรีคลอยผลักดันเหมือนระบบศิลปะสมัยนี้ มีแต่แฟนคลับทั้งไทย และเทศผู้เข้าใจรู้จริงในคุณค่าของผลงานมาชิงชัยกันล้วนๆ

ศาสตรจารย์ ศิลป์ พีระศรี (2435-2505)
บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยไทย ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลยศิลปากร
ภาพจาก www.finearts.go.th

ในบรรดาผลงานภาพวาดพิมพ์นิยมรูปดอกไม้ในบรรยากาศธรรมชาติของทวี มีอยู่ชุดหนึ่งที่นับว่าเป็นตำนาน เหตุเพราะแต่ละภาพมีขนาดใหญ่ที่สุด และถูกวาดต่อเนื่องให้เป็นซีรีย์เดียวกันจำนวนมากที่สุด ภาพชุดที่ว่าคือชุดของโรงเรียนทิวไผ่งาม ปฐมบทของผลงานสุดอลังการนี้เกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนวันหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ณ ตึกแถว ๓ ชั้นในซอยพาณิชยการธนบุรีบ้านซึ่งเป็นของทวี วันนั้น ณรงค์ ทิวไผ่งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งามได้พบกับ ทวี นันทขว้าง เป็นครั้งแรกด้วยคำแนะนำจากสถาปนิกที่มาช่วยณรงค์ออกแบบหอประชุมของโรงเรียนซึ่งก็บังเอิญเป็นลูกศิษย์ของทวีด้วยพอดี ณรงค์ผู้หลงใหลในผลงานของทวีอยู่แล้วมีความมุ่งหมายจะให้ทวีช่วยวาดภาพขนาดยาว ๓ เมตร ๑๒ ภาพเพื่อใช้ประดับหอประชุมของโรงเรียนแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้าง คุยไปคุยมาตั้งแต่ ๒ ทุ่มถึงตี ๑ ทวีซึ่งสมัยนั้นป๊อปปูลาร์อยู่แล้วก็ไม่ยอมตอบตกลงสักที เพราะมีงานล้นมือและไม่เคยวาดภาพที่มีไซส์ใหญ่ขนาดนี้ให้ใครมาก่อน ดูวี่แววแล้วงานนี้ทวีคงไม่ตกลงปลงใจแน่ๆ แต่ก่อนกลับณรงค์ตัดสินใจลองขออีกทีเผื่อมีลุ้นโดยเอ่ยปากว่า

ศิลปิน – ทวี นันทขว้าง – ภาพท้ายสุดของ ทวี นันทขว้าง 

‘อย่านึกว่าเขียนให้ผมเลยครับ คิดว่าเขียนภาพเหล่านี้ขึ้นเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ได้อยู่ในห้องประชุมเด็กๆ ผู้ปกครอง และผู้มาเยี่ยมชมโรงเรียนได้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี เด็กๆจะได้ยึดถือผลงานของอาจารย์เป็นแบบอย่างที่ดี เปรียบเสมือนเป็นครูคนหนึ่งของโรงเรียน เป็นครูที่พูดไม่ได้ แต่ค่อยๆสอนเด็กให้สัมผัสและซึมซาบความงามของศิลปะเข้าไปเรื่อยๆ โดยที่เด็กๆไม่รู้ตัว’

คำพูดของณรงค์บังเอิญไปตรงกับความฝันของอาจารย์ศิลป์ที่เคยเปรยกับทวีไว้สมัยที่ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากรว่า ถ้าราชการมีงบมาจ้างใครที่สอนแทนทวีได้อาจารย์ศิลป์จะให้ทวีมาทำงานทุกวันโดยไม่ต้องสอน แต่จะให้นั่งวาดภาพอย่างเดียวเพื่อประเทศไทยจะได้มีสมบัติชาติเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะๆ เพราะเหตุนี้เมื่อทวีได้ยินคำของณรงค์จึงถึงกับน้ำตาเอ่อหวนคิดถึงภาพเก่าๆสมัยที่อาจารย์ศิลป์ยังอยู่และตอบตกลงที่จะวาดภาพให้ตามคำขอ

ต่อจากนั้นเป็นเวลา ๓ ปีทวีได้ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจจนภาพขนาดใหญ่ทุกชิ้นสำเร็จลุล่วงออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ภาพวาดขนาด ๓ เมตรทั้ง ๑๒ ภาพประกอบไปด้วยภาพดอกไม้และวิวทิวทัศน์ในอุดมคติที่ให้อารมณ์แตกต่างกันไป เช่นภาพทุ่งดอกบัวตอง, ดอกฝิ่น, ดอกกุหลาบ, ดอกบัว, ดอกไม้ป่า, ดงตาล, ดงไผ่ ในจำนวนนี้มีภาพหนึ่งที่ทวีวาดรูปโรงเรียนทิวไผ่งามในมุมมองจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งหมดถูกนำไปตกแต่งในหอประชุมแห่งใหม่ของโรงเรียนทิวไผ่งามตามที่ได้ตั้งใจไว้

ศิลปิน – ทวี นันทขว้าง

ฉากฟินาเล่ปิดม่านของผลงานในตำนานชุดนี้เกิดขึ้นตอนที่ภาพทั้งหมด ๑๒ ภาพถูกวาดขึ้นมาเสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ประจวบเหมาะกับเวลานั้นณรงค์กำลังสร้างบ้านใหม่อยู่พอดีจึงขอร้องทวีอีกครั้งให้ช่วยวาดภาพพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ ภาพเพื่อใช้ประดับบ้าน ตอนนั้นณรงค์ และทวี ก็สนิทสนมกันแล้วเพราะที่ผ่านมาระหว่างที่วาดภาพประดับหอประชุม ทั้งคู่ก็ไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่เสมอ อีกทั้งบุตรสาวคนเล็กของทวีก็เข้าเรียนที่โรงเรียนทิวไผ่งาม ทวีจึงยิ่งคุ้นเคยกับโรงเรียน ครูบาอาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษาแห่งนี้เข้าไปใหญ่

เพื่อไม่ให้ซ้ำกับผลงานที่เคยวาดให้โรงเรียนไปแล้ว ภาพ ๒ ชิ้นสุดท้ายนี้ทวีจึงตั้งใจสร้างสรรค์ให้มีขนาดใหญ่โตมโหฬารขึ้นมากกว่าที่เคยวาด และเลือกใช้ชุดสีชุดใหม่ในโทนหวานๆที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายสบายตา ภาพแรกมีขนาดยาว ๔ เมตร ทวีวาดสวนหินที่เต็มไปด้วยดอกไม้ต้นไม้ขึ้นแซม แต่เมื่อภาพนี้วาดเสร็จณรงค์กลับไม่ได้เป็นเจ้าของ ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบญาติของทวีกลับไปตกลงขายให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ สุดท้ายภาพสวนหินจึงถูกนำไปเข้าคอลเล็คชั่นร่วมกับผลงานศิลปะสะสมอันประเมินค่าไม่ได้ชิ้นอื่นๆของธนาคาร

เหตุการณ์ลงเอยเช่นนี้ทวีจึงรู้สึกไม่สบายใจ อยากจะแก้ไขโดยการลงมือวาดภาพที่ ๒ ซึ่งมีขนาดใหญ่ราว ๔ เมตรเศษๆอย่างสุดฝีมืออยู่หลายเดือน ภาพนี้ทวีเลือกวาดกล้วยไม้ ๒๓ ชนิด ที่มีอารมณ์ลึกลับแตกต่างกัน แต่ละชนิดล้วนแข่งขันกันชูช่อดอกและเผยกลีบใบให้งดงามโดดเด่นกว่าใครเรียกร้องความสนใจ โดยมีจุดรวมสายตาตรงกลางของภาพเป็นดอกกล้วยไม้คัทลียาสีขาวสะอาดดอกใหญ่ที่กระทบตาผู้ชมจนดูเหมือนจะเอามือคว้าเด็ดออกมาได้ ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ทวีพบว่าตนเองป่วยด้วยโรคมะเร็ง จะไปไหนมาไหนก็ลำบาก การได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองรักอย่างวาดภาพจึงเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้จิตใจสดชื่นมีกำลังวังชาฮึดสู้กับโรคร้ายต่อไป

เมื่อภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในชีวิตของทวีสมบูรณ์เป็นที่พอใจแล้ว ณรงค์ก็ได้นำไปประดับในห้องรับแขกอย่างภาคภูมิใจ ซึ่งโดยปกติแล้วผลงานจิตรกรรมชุดดอกไม้ที่วาดด้วยสีอคริลิกบนผ้าใบทุกชิ้น เมื่อเสร็จแล้วทวีจะลงชื่อเป็นภาษาไทย และอังกฤษ พร้อมทั้งระบุปีที่วาดไว้บริเวณมุมล่างของผลงานอย่างชัดเจน แต่ในวันที่ส่งมอบภาพพิเศษชิ้นนี้ทวียังไม่ได้เซ็นชื่อลงไปเพราะตั้งใจจะเดินทางมาอวยพรแสดงความยินดีกับบ้านใหม่และลงชื่อให้ในโอกาสนั้น แต่อนิจจาความปรารถนาดีของทวีไม่สัมฤทธิ์ผล ภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุด กลับกลายเป็นภาพท้ายสุดของ ทวี นันทขว้าง ด้วยในเวลาเดียวกัน เพราะภายหลังท่านมีอาการทรุดลงและถึงแก่กรรมไปในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ยังไม่ทันจะได้มาเห็นว่าผลงานที่ท่านภาคภูมิใจถูกติดตั้งไว้อย่างสง่างามเพียงใด

ภาพวาดในตำนานชุดทิวไผ่งามขนาด ๓ เมตร ทั้ง ๑๒ ชิ้นเคยทำหน้าที่ครูที่พูดไม่ได้ เป็นแบบอย่างที่ดีงามทางศิลปะ ช่วยขัดเกลาจิตใจผู้ที่ได้ผ่านมาพบพานอยู่ภายในหอประชุมของโรงเรียนเป็นเวลายาวนาน และในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ภาพชุดนี้ยังได้ไปจัดแสดงร่วมกับผลงานชิ้นสำคัญอื่นๆในนิทรรศการแสดงเดี่ยว ผลงานย้อนหลังของ ทวี นันทขว้าง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ส่วนภาพสวนหินขนาด ๔ เมตรก็ถูกนำไปติดตั้งไว้ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่คุ้นตาของบุคลากร และลูกค้าธนาคาร เหลือเพียงภาพกล้วยไม้ชิ้นสุดท้ายเพียงภาพเดียวที่ถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลเสมอมาแม้จะเปลี่ยนมือไปกี่ครั้งแล้วก็ตาม ไม่เคยจัดแสดง หรือเผยแพร่สู่สาธารณะในรูปแบบใดที่ไหนมาก่อน

ภาพวาดที่อบอวลไปด้วยสเน่ห์ของพรรณพฤกษาที่พลิ้วไหว ผนวกกับความปราถนาดีอันแรงกล้าของทวีที่ยังคงค้างคา จะวิเศษวิโสถึงขั้นคู่ควรเรียกว่าสมบัติอันล้ำค่าของชาติอย่างที่ผู้สรรค์สร้างวาดหวังไว้หรือไม่ เมื่อได้เห็นแล้วลองปล่อยใจให้ล่องลอยไปกับความเร้นลับของเหล่ากล้วยไม้ ในบรรยากาศเสมือนฝันฉ่ำเย็นสบายๆ แล้วความรู้สึกจะบอกเราเอง

อ่านบทความศิลปะจากตัวแน่น

https://anurakmag.com/author/anurak_author001/

About the Author

Share:
Tags: ทิวไผ่งาม / นิตยสารอนุรักษ์ / ศิลปะสมัยใหม่ / อนุรักษ์ / ตัวแน่น / ทวี นันทขว้าง / ณรงค์ ทิวไผ่งาม / บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ / ศิลปินแห่งชาติ / ศิลปะไทย / ศิลป์พีระศรี /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ