Saturday, September 14, 2024
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

พระรอด พิมพ์ตื้นเนื้อเขียว

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 24
เรื่อง: คนชอบ(พระ)สวย, ปรีชา เอี่ยมธรรม

พระรอด
พิมพ์ตื้นเนื้อเขียว

พระแม่เจ้าจามเทวี จักรพรรดินีศรีหริภุญชัย พระราชธิดาในพระเจ้ากรุงละโว้ (ลพบุรี) ผู้ซึ่งครองเมืองลูกหลวงของชนชาติขอมที่เคยครอบครองตลอดลุ่มแม่นน้ำเจ้าพระยาและตลอดสุวรรณภูมิ พอเจริญเติบใหญ่ พระนางเจ้าได้ประพฤติปฏิบัติอยู่แต่ร่มพุทธศาสนาตลอดมาอย่างไม่หยุดยั้งดังปรากฏรูปเคารพในพระนางในเครื่องทรงนุ่งขาวห่มขาวขณะบวชชีพราหมณ์อยู่วัดหนองนกไข่ จังหวัดสมุทรสาคร

สุดท้ายพระนางได้สละทางโลกเข้าสู่ทางธรรม เมื่อเดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ. ๑๒๓๖

มีบทสวดสรรเสริญพระนางดังนี้
ยา เทวี จามะเทวีนามิกา อะภิรูปา อะโหสิ ทัสสะนียา ปาสาทิกา พุทธสาสะเน จะ อะภิปะสันนา สา อะตีเต เมตตายะ เจวะ ธัมเมนะจะ หะริภุญชะยะธานิยา รัชชัง กาเรสิ อะหัง หะริภุญชะยะนะคะระ วาสีนังปิ มะหันตัง หิตะ สุขัง อุปาเทสิ อะหัง ปะสันเนนะ เจตะสา ตัง วันทามิ สิระสา สัพพะทา

ด้วยการปฏิบัติในทางธรรม ยึดมั่นในทาน ศีล ภาวนาอย่างเคร่งครัดติดต่อกันมาเป็นเวลานาน จึงทำให้พระนางทรงรู้แจ้งแทงตลอดในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์โดยเฉพาะในด้านวิปัสสนาธุระเพื่อการหลุดพ้นจากอาสวะกิเลส คือ ความรัก ความโลภ ความโกรธ และความหลงกิตติศัพท์ของพระนางโด่งดังขจรขจายไปถ้วนทั่วและเป็นที่กล่าวขานสรรเสริญโดยทั่วกัน

ในวาระนั้นเอง เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ทางหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนได้ขาดผู้ครองนครสืบต่อกันมาถึงการล่มสลาย ชีพ่อพราหมณ์ตลอดจนบัณฑิตทั้งหลายจึงได้ตั้งคณะเดินทางมายังกรุงละโว้ (ลพบุรี) เพื่อขอพระราชทานพระธิดาแห่งกรุงละโว้ไปเป็นเจ้าแม่ครองเมืองหริภุญชัยสืบต่อไป

เจ้ากรุงละโว้จึงพระราชทานให้พระนางขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัยตามที่คณะขอมา เพื่อให้เป็นหัวเมืองลูกหลวงทางฝ่ายเหนือ

ในการที่พระนางขึ้นไปครองเมืองหริภุญชัยในครั้งนี้นั้นเป็นขณะที่เมืองหริภุญชัยได้ชำรุดทรุดโทรมเป็นที่สุด เท่ากับพระนางต้องไปสร้างแปลงเมืองขึ้นใหม่ทั้งหมดเลย ขบวนของพระนางในการนี้ต้องใช้ผู้คนตลอดจนทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาล โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูปได้สร้างจตุรพุทธปราการทั้ง ๔ ทิศ ซึ่งเป็นวัดอารามอันใหญ่ เพื่อเป็นที่พำนักพักนอนของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสที่เดินทางรอนแรมมาแต่แดนไกล

นอกจากนั้นยังได้ชาวเมืองหริภุญชัยผู้มีศรัทธาร่วมสร้างวัดวาอารามกว่า ๒๐๐ วัด บ้านเมืองหริภุญชัยได้กลับมาอยู่ในสภาพที่เจริญรุ่งเรืองอีกวาระหนึ่ง พระนางได้ขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๒๐๒ ทรงพระนามว่า พระนางเจ้าจามเทวีจักรพรรดินีศรีหริภุญชัย เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่มีชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ของสยามประเทศ เมื่อ ๑,๓๐๐ ปีมาแล้ว

วัดมหาวัน เมืองลำพูน เป็นวัดที่มีความสำคัญยิ่ง คือเป็นวัดที่พระนางเจ้าได้เสด็จมาประกอบศาสนพิธี เช่นเดียวกับวัดพุทไธศวรรย์ในสมัยอยุธยา วัดพระศรีรัตนศาสดารามในปัจจุบันนี้

หลังจากที่พระองค์ท่านสร้างวัดวาอารามเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์ได้สร้างพระเครื่องขนาดเล็กพิมพ์ต้นบรรจุอยู่ในสถูปในเจดีย์ตามวัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นการสืบพระศาสนาตามคตินิยมมาแต่โบราณกาล และเพื่อแจกทหารอาณาประชาราษฎร์ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ พระเครื่องในกรุวัดมหาวันที่ขุดพบ นอกจากชุดพระรอด ยอดนิรันตรายองค์ประกอบสำคัญองค์หนึ่งในชุดพระเบญจภาคีแล้ว ยังมีพระพิมพ์ที่สำคัญๆ อีกมากที่น่าจะกล่าวถึงก็คือ พระพิมพ์ที่เรียกกันว่า พระนางสิกขี เนื้อด้านในกรุพระรอด พุทธลักษณะมีทั้งอย่างครึ่งองค์และเต็มองค์ มีพุทธลักษณะทรงเครื่องทรงเทริดประดับรัดข้อรัดกรซึ่งเป็นอย่างพระร่วงสมัยลพบุรีก็เรียกกันว่า พระนางสิกขี ซึ่งเป็นเพศหญิง โดยเน้นแสดงอย่างชัดเจนที่หน้าอกสองข้างอันนูนเด่นเป็นปทุมถัน ผมเกิดความสงสัยจึงได้นำเอาไปถามท่านผู้รู้อย่างกับท่านมหาบาเรียนผู้ทรงคุณวุฒิว่า พระนางสิกขีคือใคร มีความเป็นมาอย่างไรและเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอย่างไรหรือไม่ประการใด ท่านผู้รู้ได้พยายามค้นคว้าหาความจริงทั้งในด้านพุทธประวัติอันเกี่ยวกับผู้หญิงที่ชื่อ พระนางสิกขี ก็หาได้มีไม่ และจากความเข้าใจของคนฝ่ายเหนือที่นำภาพของพระนางสิกขี มานำเสนออยู่ในหนังสือพระรอดอยู่เนืองๆ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วพระนางสิกขีคือรูปเคารพในพระนางเจ้าจามเทวี ศรีหริภุญชัยนั่นเอง ส่วนเครื่องต้น เครื่องทรง เช่น เครื่องเทริดที่ศีรษะทรงสร้อยรัดเกล้า รัดแขน ทรงผ้าจีบหน้านางนั้น ล้วนแต่เป็นเครื่องทรงของเจ้าพระยามหากษัตริย์ทั้งสิ้น

พระรวมกรุกับพระรอดวัดมหาวันอีกพิมพ์หนึ่งก็คือรูปฤษี เนื้อดินเผาขนาดเล็ก เป็นพระพิมพ์ที่สวยงาม ประณีตในเชิงช่างอย่างหาที่เปรียบไม่ได้เลย

พระพิมพ์รูปพระฤษีที่ว่านี้เป็นรูปเคารพของพระฤษีผู้เป็นประธานสร้างพระพิมพ์ต่างๆ ในกรุวัดมหาวัน รวม ๕ ตนด้วยกันคือ
พระฤษีนารอด
พระฤษีนาลัย
พระฤษีตาวัว
พระฤษีตาไฟ
พระฤษีบรรลัยโกฏิ
พระฤษีเป็นครูบาอาจารย์ในเชิงช่างและศิลปศาสตร์ใน
แขนงต่างๆ จึงเป็นที่นิยมเช่าหาในกลุ่มศิลปินครับ

สำหรับพระรอดยอดนิยมแห่งวัดมหาวันรวม ๕ พิมพ์ได้แก่ พระรอดใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ตื้น และพิมพ์ต้อนั้นเป็นอีกองค์หนึ่งในชุดพระเบญจภาคี เป็นพระเนื้อดินที่มีขนาดเล็กกว่าพระองค์อื่นใด ทว่ามีรายละเอียดเส้นสายที่ชัดเจน ประณีตบรรจงในฝีมือช่างที่เยี่ยมยอดจริงๆ และเป็นพระองค์ที่หายากที่สุดกว่าพระอื่นใด ด้วยพระรอด วัดมหาวันเมืองลำพูนนั้นเป็นพระเนื้อดินเผา แต่เป็นเนื้อดินที่มีส่วนผสมของแร่เหล็กผสมผสานอยู่เป็นอย่างมาก พระรอดในส่วนที่ฝังอยู่ในกรุต่ำจะมีคราบสนิมเหล็กเกาะฝังตัวอย่างแน่นหนา ยากแก่การจะแคะเอาสนิมเหล็กออก ถ้าแกะแรงไปหน่อยพระก็จะหักและเสียหาย ด้วยเหตุนี้กระมัง พระรอดยอดนิยมจึงมีน้อยและหายาก แต่สนิมเหล็กที่เกาะแน่นในพระรอดดังกล่าวแล้วนั้น เขาเรียกว่า น้ำฮาก เมื่อแกะเอาสนิมเหล็กออกแล้ว แต่ยังทิ้งน้ำฮาก หรือน้ำสนิมเหล็ก บ่งบอกถึงความแท้ ความเก่าได้อีกประการหนึ่งที่มองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม

ฉบับนี้ ท่านผู้ใหญ่ใจดีเอื้อเฟื้อพระรอดพิมพ์ตื้นที่งดงามมาเสนอเพื่อได้โปรดทัศนา และถ้าท่านพิจารณาดีๆ จะมองเห็นน้ำฮาก หรือน้ำสนิมเหล็กที่ฝังตัวอยู่ทั่วไปน้ำฮากของแท้ยังไม่มีใครทำได้ครับ


เรื่องเล่าคนรักพระสวย

อนุรักษ์ฉบับนี้เป็นเรื่องราวของพระรอดพิมพ์ตื้นเนื้อเขียว ซึ่งหากท่านผู้อ่านพิจารณาจากภาพถ่ายของพระที่ปรากฏในฉบับนี้ก็จะพบว่าการติดของพระจากแม่พิมพ์ในส่วนของใบหน้าพระทุกส่วนคือ ตา จมูก ปาก ของพระนั้นมีความเด่นชัดมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับส่วนล่างลงมาขององค์พระทั้งหมด คนรุ่นเก่าในอดีตจึงได้ตั้งพิมพ์พระรอดพิมพ์นี้ว่าเป็นพิมพ์ตื้น ทว่าจริงๆ แล้วก็ตื้นแต่เฉพาะส่วนขององค์พระเท่านั้น เพราะหากพิจารณาเปรียบเทียบส่วนที่เป็นใบหน้าของพระแล้วจะพบว่า แท้ที่จริงแล้ว ศิลปะจากแม่พิมพ์ของพระรอดพิมพ์ตื้นนั้นมีหน้าตาที่ลึก คม ชัดที่สุดในทั้ง ๕ พิมพ์ของพระรอด ดังนั้น เอกลักษณ์ของพระรอดพิมพ์ตื้นก็น่าจะเป็นความลึก คมชัด ในส่วนของใบหน้าพระ

พระรอดพิมพ์ตื้นเนื้อเขียวในฉบับนี้เดิมเป็นของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท่านผู้นี้เป็นนักสะสมพระเครื่องชุดเบญจภาคีสวยๆระดับแชมป์อยู่หลายองค์ และเฉพาะพระรอดท่านเคยมีอยู่ในคราวเดียวกันจำนวนเกือบ ๑๐ องค์ ผมได้มีโอกาสรู้จักท่านตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๑ และแอบชอบพระของท่านอยู่หลายๆ องค์ แต่เห็นว่าท่านเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกเงียบขรึมและตัวผมเองก็อยู่ในวัย ๒๐ กว่าปี ซึ่งเพิ่งจะพ้นจากความเป็นวัยรุ่นได้ไม่นาน จึงไม่กล้าแม้กระทั่งที่จะเอ่ยปากขอดูพระของท่านเลย

จนกระทั่งต่อมาประมาณปี พ.ศ. ๒๕๓๕ จึงได้ทราบข่าวว่าพระสวยแชมป์หลายองค์ของท่านได้ย้ายมาอยู่กับผู้ใหญ่ในวงการพระที่สนิทสนมกับท่านเช่นคุณพี่เสถียร เสถียรสุต ผมจึงได้ตัดสินใจบุกตามตื๊อในสไตล์ที่ผมถนัดถึงบ้านอยู่หลายครั้ง แรกๆ ก็ได้รับการปฏิเสธโดยท่านเจ้าของพระให้เหตุผลน่าฟังว่าในชีวิตรับราชการของท่านตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งเกษียณอายุราชการได้มี

ประสบการณ์ที่แคล้วคลาด ปลอดภัยจากภัยอันตรายโดยพุทธคุณของพระรอดมาหลายครั้งหลายหน และตั้งใจว่าจะเก็บรักษาชุดพระรอดชุดนี้ไว้ในตระกูลตลอดไปแต่ผมก็ไม่ย่อท้อ และได้ใช้ความพยายามตามตื๊ออยู่หลายปีกว่าท่านจะเห็นใจและยอมแบ่งให้ผมได้มีโอกาสบูชาพระจากท่านจำนวน ๓ องค์ ส่วนที่เหลืออีกหลายองค์ยังคงอยู่ในตระกูลของท่านและก็คิดว่าคงจะอยู่ตลอดไป หากผู้อ่านท่านใดคิดว่าสามารถตื๊อได้เก่งกว่าผม ผมก็ไม่ขัดข้องแต่เชื่อผมเถอะครับ อย่าเหนื่อยเปล่าเลยเพราะเมื่อไม่กี่ปีก่อน ผมได้ลองขอให้บุคคลที่เป็นเสมือนลูกหลานที่สนิทกับท่านลองขยับดู เห็นว่าได้ยินแค่เสียงหัวเราะหึๆเท่านั้น แต่ก็ไม่แน่นะครับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะเป็นของใครก็จะเป็นของเขาเสมอ

ผมขอขอบคุณอนุรักษ์ที่ได้ให้โอกาสผมเล่าความหลังเกี่ยวกับเรื่องของพระในอดีตอีกครั้งหนึ่ง

ขอขอบคุณครับ

About the Author

Share:
Tags: พระเครื่อง / พระรอด / พระรอด พิมพ์ตื้นเนื้อเขียว / ฉบับที่ 24 / พระ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ