นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 24
เรื่อง: เพชร ท่าพระจันทร์
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ มีเหรียญและของที่ระลึกเกิดขึ้นมากมายด้วยเป็นรัชสมัยที่ยาวนาน ของสำคัญบางอย่างมีภาพเผยแพร่ให้เห็น ของบางอย่างแม้มูลค่าไม่มากแต่กลับเป็นเพียงของที่เคยมีคนพูดถึงได้ยินได้ฟังมา สุดท้ายก็ไม่เคยได้เห็นของจริง วันนี้ขอนำของที่ระลึก ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ บางอย่างเป็นของพระราชทาน บางอย่างรัฐวิสาหกิจและเอกชนออกให้ตามโอกาสต่างๆ ที่ “นักนิยมสะสม” ควรได้เห็นถึงลักษณะซึ่งมี แตกต่างกันตามนี้
เหรียญราชอิสริยาภรณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในมหามงคลสมัยพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๙ เนื้อทองคำด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ฉลองพระองค์ครุย ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน พระหัตถ์ทรงจับพระแสงขรรค์ชัยศรีวางพาดบนพระเพลา ประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ด้านข้างพระที่นั่งทั้งสองข้างมีโต๊ะเคียงสลักลายมังกร โต๊ะเคียงด้านขวาทอดเครื่องราชูปโภค พานพระขันหมาก โต๊ะเคียงด้านซ้ายทอดเครื่องราชูปโภค พระมณฑปรัตนกัณฑ์และทอดนำ้เต้าทักษิโณทก
ด้านหลัง กลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี ภายในวงขอบเหรียญด้านขวามีข้อความว่า “ฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๕๐ ปี” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙” เบื้องล่างมีข้อความว่า “กาญจนาภิเษก” ขอบนอกเหรียญเบื้องบนเป็นพระแสงขรรค์ชัยศรี ไขว้กับพระคทาจอมพล มีห่วงใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง ๓๒ มิลลิเมตร พื้นของแพรแถบเป็นสีเหลือง อันเป็นสีประจำมหาจักรีบรมราชวงศ์ มีริ้วสีนำ้เงินอันเป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ผู้มีสิทธิประดับ บุคคลมีสิทธิประดับเหรียญนี้ได้ตั้งแต่วันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เป็นต้นไป การประดับให้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากไม่ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะประดับโดยใช้ห้อยคอหรือวิธีอื่นที่สมควรโดยไม่มีแพรแถบก็ได้
ผู้ออกแบบด้านหน้า
นายพินิจ สุวรรณะบุณย์
นางสาวสุภาพ อุ่นอารีย์
ด้านหลัง
นางสาวสุภาพ อุ่นอารีย์
ผู้ปั้นแบบ ด้านหน้า
นายวุฒิชัย แสงเงิน
ด้านหลัง
นายธรรมนูญ แก้วสว่าง
เห็นได้ชัดว่าความสุขของพระองค์ท่านคือการได้สร้างความสุขให้กับพสกนิกรของพระองค์ ทำอย่างไรที่จะทำให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ดี มีฐานะพอที่จะเลี้ยงดูตนเองได้ ทรงห่วงใยพี่น้องชาวไทยทุกคน โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมที่อยู่สามจังหวัดชายแดนใต้ จากภาพ: พระองค์ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม โดยทรงให้มีการแปลความหมายของคัมภีร์ อัลกุรอานจากภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อสร้างมัสยิดหลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงมัสยิดนารุลฮูดา หรือมัสยิดประจำจังหวัดนราธิวาสและเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานเปิด เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ และทรงแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ทุกปี นำมาซึ่งความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้ของพสกนิกรชาวไทยมุสลิม (คำกล่าวของนักบรรยายศาสนา สำนักงานการศึกษาเอกชน อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส)
เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภช ช้างเผือก พุทธศักราช ๒๕๒๐ ลักษณะเหรียญ รูปเสมาด้านหน้า พระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ด้านหลังเป็น พระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐานเหนือ ช้างเผือกยืนบนแท่นภายใต้ช้างมีข้อความว่า “จ.นราธิวาส ส.ค. ๒๕๒๐” ริมขอบด้านล่าง มีข้อความว่า “พระราชพิธีขึ้นระวางสมโภช ช้างเผือก” ชนิดเงิน ทองแดง มีขนาดกว้าง ๒๕ มิลลิเมตร ยาว ๓๕ มิลลิเมตรผู้ออกแบบ นายพินิจ สุวรรณะบุณย์
เนื่องจากเหรียญนี้เป็นเหรียญนิยม จึงมีของเก๊ ทำเทียมเลียนแบบออกมามากมายหลายฝีมือกล่าวกันว่าเฉพาะเหรียญเงินนั้นของปลอมทำเหมือนจนแยกเกือบไม่ออก ในที่นี้จึงขอแนะนำให้ผู้สนใจหลีกเลี่ยงและบูชาเช่าเหรียญเนื้อทองแดงที่กำลังเป็นที่นิยมไปก่อน เนื่องจากมีสีของเนื้อเหรียญที่ของปลอมยังทำไม่ได้และแยกพิมพ์นิยมกับไม่นิยมได้ง่าย ด้วยเหรียญนิยมให้ดูเหรียญที่มีเส้นแตกเหนือไรพระศกพระบรมรูปของสมเด็จ
พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สนใจได้ใช้ศึกษาป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการเช่าบูชาเหรียญ ผู้เขียนขอนำขอบตัวตัดข้างเหรียญมาลงเพื่อให้เป็นตัวเทียบกับท่านผู้สนใจ เมื่อเทียบแล้วพบว่าไม่มีจุดเหมือนหรือไม่มีเส้นตัวตัดที่คล้ายกับตัวอย่าง ให้ยุติการเช่าซื้อเหรียญนั้นทันที มิเช่นนั้นแล้วท่านอาจจะสูญเงินเปล่าและได้ของ “ไม่มีคุณค่า” มาเป็นที่ระลึก
ภาพพระราชทาน เหรียญทองทั้ง ๒ พระองค์ รูปประวัติศาสตร์ของการกีฬาไทย ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบ ประเภท โอ.เค. หนึ่งในกีฬาที่พระองค์ชื่นชอบและคว้าชัยชนะติดต่อกันตามกฎกติกา ร่วมกับทูลกระหม่อม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยมีพิธีมอบเหรียญรางวัลในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ซึ่งต่อมาวันเวลาดังกล่าวถูกกำหนดให้เป็นวันกีฬาแห่งชาติมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
เพื่อบันทึกถึงเกียรติประวัติของนักกีฬาไทยที่ร่วมการแข่งขัน ภายหลังได้มีการออกจำหน่ายบัตรที่ระลึกกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๖ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ (จัดทำโดยแสตมป์คลับประเทศไทย) บัตรดังกล่าวทำด้วยกระดาษแข็งเปิดได้ ภายในด้านขวาติดผนึกภาพถ่ายในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงจุดไฟเอเชียนเกมส์ ด้านซ้ายมือตรงกลางติดแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงจุดไฟเอเชียนเกมส์ พร้อมตราประทับเฉพาะกีฬาครั้งนั้นปรากฏอยู่ด้วย นับเป็นของที่ระลึกที่หาดูได้ยากชิ้นหนึ่งภายใต้การทำงานของเอกชนไทย
ซองวันแรกจำหน่าย ของที่ระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่หาดูยาก ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ๔ ครั้ง มากเป็นอันดับ ๑ ของชนชาวทวีปเอเชียโดยสองครั้งแรกรับเป็นเจ้าภาพติดต่อกัน ๒ สมัยเอเชียนเกมส์ครั้งที่ ๒ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้มีการออกจำหน่ายของที่ระลึกถึงมหกรรมกีฬาของทวีปเอเชียหนึ่งในของที่ระลึกที่มีผู้สนใจมากที่สุดคือ ซองวันแรกจำหน่าย ซึ่งนอกจากจะมีการออกแบบตัวนักกีฬากับตัวอักษรโดยศิลปินนักวาดภาพแล้ว ซองดังกล่าวยังมีแสตมป์พระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงจุดไฟเอเชียนเกมส์พร้อมตราประทับเฉพาะกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นปรากฏอยู่ด้วย
ประเภทของที่ระลึกที่หาดูยาก มีมูลค่าสูง และมีผู้สนใจสะสมเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ “ซองจดหมาย” ที่วันนี้ไม่พูดถึงไม่ได้ ซองจดหมายที่ขอแนะนำในครั้งนี้ ซองแรกเป็นซองจดหมายซองเล็ก ติดแสตมป์ในหลวงชุดบรรลุราชนิติภาวะ ดวงสีน้ำตาล ราคา ๑๐ สตางค์ เนื่องจากแสตมป์ตัวสีน้ำตาล อันเป็นตัวติดของชุด เป็นแสตมป์ที่หายากเมื่อปรากฏใช้จริงบนซอง จึงนับเป็นที่สุดของ “ซองหายาก” มูลค่าการสะสมจึงค่อนข้างสูง งบในการเสาะหาขั้นต้นอยู่ประมาณกว่า ๒๐,๐๐๐ – ๓๐,๐๐๐ บาท
ซองนี้ผนึกดวงตราไปรษณียากรชุดอากาศ (ชุด ๔ รูปครุฑ) ที่ออกจำหน่ายวันแรก พ.ศ. ๒๔๙๕ กับชุดพระเจ้าตากสิน (ออกจำหน่าย ๑ พ.ค. ๒๔๙๘) ความสำคัญอยู่ตรงลายพระหัตถ์ที่ทรงเขียนจ่าหน้าถึงผู้รับที่เป็นหมอประจำพระองค์ ซึ่งลายพระหัตถ์ดังกล่าวเป็นของสมเด็จย่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นับเป็นซองจดหมายที่หาดูยากซองหนึ่งของเมืองไทยทีเดียว
ซองติดแสตมป์ลักษณะนี้วงการเรียกติดแบบมัมมี่ ซองนี้ติดแสตมป์อันมีค่ามากมายหลายชุดนับแต่ชุดพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ ๘ กับ (รัชกาลที่ ๙) ชุดบรรลุราชนิติภาวะ ด้านหลังมีแสตมป์หลุดหาย ๒ ดวง หาไม่แล้วราคาซองคงมีค่าสูงไม่ใช่อยู่แค่ ๒๐,๐๐๐ บาท ตามค่าตัวของซองนี้อย่างแน่นอน
ซองจดหมายลงทะเบียนยุคต้นรัชกาลที่ ๙ ซองนี้ นอกจากหายากจากการส่งใช้จริงจาก “ทุ่งสง” ปลายทางที่ประเทศสเปนแล้ว ยังติดแสตมป์อันมีค่ามากมายหลายชุดชุดสำคัญคือชุดพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๗ รัชกาลที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ที่ปวงชนชาวไทยต่างก็รำลึกถึงพระองค์ด้วยใจที่บ่งบอกเสมอว่า “ตราบชั่วนิจนิรันดร์” นั่นเอง