นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 60
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน (หิรัญญาราม) จังหวัดพิจิตร
พระโพธิสัตว์แห่งเมืองชาละวัน เจ้าของรูปหล่อเหนือมัจจุราช ตอนที่ ๒
พ่อเงินท่านชอบแสวงหาวิชาความรู้ เมื่อมาจำพรรษายังเมืองพิจิตรนี้ท่านได้เดินทางไปศึกษาวิชากับ หลวงพ่อโพธิ์ วัดวังหมาเน่า (แต่ก่อนคือสำนักสงฆ์วังหมาเน่า) รุ่นเดียวกับ “หลวงพ่อเทียน วัดหนองดง จ.พิจิตร ” หลวงพ่อโพธิ์ท่านนี้เป็นพระมอญเดิมอยู่ที่บ้านเนินมะขวิด จังหวัดปทุมธานี ท่านได้รับการอุปสมบทและเป็นศิษย์ หลวงพ่อท่านเจ้าคุณรามัญมุนี (ปุ๊) เจ้าอาวาสวัดบางหลวง จ.ปทุมธานี สำหรับหลวงพ่อโพธิ์ท่านนี้เชี่ยวชาญ ในวิปัสสนากรรมฐานยิ่งนักโดยเฉพาะ อสุภกรรมฐาน นั้นหลวงพ่อโพธิ์ท่านถนัดเป็นอย่างยิ่งเพราะมิฉะนั้นแล้วท่านคงไม่สามารถจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์วังหมาเน่าได้
เนื่องจากว่าสิ่งแวดล้อมบริเวณคุ้งน้ำหน้าวัดนั้นเป็นไปตามชื่อของวัด กล่าวคือมีซากสุนัขเน่าจำนวนมากลอยมาติดบริเวณวังน้ำวนหน้าวัดเป็นจำนวนมาก นอกจากอสุภกรรมฐานแล้วหลวงพ่อโพธิ์ท่านยังสำเร็จกสิณอีกด้วย โดยเฉพาะ กสิณน้ำ ดังนั้นตะกรุดของหลวงพ่อโพธิ์ที่ลงไว้ทั้งหมดนั้นจึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง “ ตะกรุดอาโปธาตุ” ซึ่งภายหลังหลวงพ่อเงินได้นำมาจัดสร้างแจกลูกศิษย์ในนาม “ ตะกรุดพระเจ้าห้ามอาวุธ” หรือ “ตะกรุดคู่ชีวิต” นั่นเอง จากนั้นท่านจึงออกรุกขมูลธุดงค์ไปตามป่าเขาลำเนาไพรเพื่อศึกษาปฏิบัติต่อไปซึ่งรวมระยะเวลาแล้วนานกว่า ๕๐ ปีเลยทีเดียว
นอกจากนี้หลวงพ่อเงินท่านยังเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นพี่ของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่าอีกด้วย ซึ่งในช่วงเวลาที่ท่านมาอยู่เมืองพิจิตรท่านได้รู้จักกับหลวงพ่อศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งอำเภอวัดสิงห์ จ.ชัยนาท สาเหตุที่สามารถยืนยันได้ก็คือ พระสมุห์บุญยัง คงฺคสโร ลูกศิษย์เอกของหลวงพ่อศุขได้เคยให้คำยืนยันกับ“หลวงพ่อมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ” ว่า หลวงพ่อเงินเคยให้คาบพระคาถาแก่หลวงพ่อศุขไว้ด้วยนั่นก็คือ “๑๙ พระคาถา” วิชาเอกของท่านซึ่งทั้ง ๑๙ พยางศ์พระคาถามีใจความดังนี้คือ๏ นะ ๚โม ๚พุท ๚ธา ๚ยะ ๚สิ ๚ทัง ๚ อะ ๚อา ๚อิ ๚อี ๚อุ ๚อู ๚เอ ๚ไอ ๚ โอ๚ เอา ๚ อัง ๚ อะ ๚ ซึ่งหลวงพ่อบุญยัง คงคสโร แห่งวัดหนองน้อย จ.ชัยนาถ
หวงแหนพระคาถานี้มากถึงขนาดที่ว่าเก็บรักษาไว้ในอังสะ ไม่ให้ใครทราบเลย จนเมื่อท่านใกล้ถึงการมรณภาพลง ท่านจึงมอบไว้ให้กับ หลวงพ่อมหาโพธิ์ วัดคลองมอญ ศิษย์ใกล้ชิดของท่านนั่นเอง นอกจากนี้มีหลักฐานบันทึกเป็นเอกสารระบุว่า ๑๙ พยางค์พระคาถานี้หลวงปู่ศุขท่านได้มาจาก “หลวงพ่อวัดท่านั่ง” ได้ให้พระคาถานี้ไว้ หลวงพ่อวัดท่านั่งก็คือ หลวงพ่อเงิน วัดท้ายน้ำ นั่นเอง เพราะในสมัยก่อนบ้านท่านั่งและบ้านบางคลานเป็นคนละหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันบางคนก็เรียกรวมกันไปเลยคือ ท่านั่งบางคลาน ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลในปัจจุบันก็ยังคงเรียกเจ้าคณะตำบลท่านั่งบางคลานอยู่ในขณะนี้ สำหรับ ๑๙ พยางค์พระคาถานี้ ถือว่าถูกนำมาเปิดเผยและลงไว้เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษากันในหนังสือเล่มนี้เป็นที่แรก ซึ่งถือว่าเป็นโชคของท่านผู้อ่านหนังสือเล่มนี้เลยก็ว่าได้