Wednesday, December 4, 2024
ชื่นชมอดีต

ย้อนรำลึก “หัวหิน”

ภาพงานรื่นเริงจัดขึ้นที่วังไกลกังวลหัวหินในราวปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ประทับอยู่กลางภาพ ห้อมล้อมด้วยพระประยูรญาติ และข้าราชสำนัก อาธิเช่น พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารำไพประภาซึ่งประทับอยู่บนพื้นเบื้องหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนทุกชนชั้น โดยเฉพาะเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ กลุ่มข้าราชบริพาร และครอบครัวผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เคยผูกพันกับพระราชสำนัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ แล้วจึงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติและประทับอยู่ที่นั่นเป็นการถาวร หัวหินได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น บรรยากาศของเมืองชายทะเลที่เคยชื่นมื่นคึกคักไปด้วยกลุ่มคนสังคมชั้นสูงและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ดูจะค่อยๆ ซาลงไป ตลอดจนทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่ยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ายึดครองประเทศไทยและแหลมมลายูสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในภูมิลำเนานี้อย่างที่สุด

มีการเกณฑ์เชลยชาวตะวันตกให้ไปรวมกันที่ค่ายกักกันในจังหวัดกาญจนบุรีเพื่อใช้แรงงานสร้างทางรถไฟสายตะวันตกสำหรับเชื่อมต่อเข้าไปในประเทศพม่า ผู้คนล้มตายลงในคราวนั้นเป็นจำนวนมากนับเป็นช่วงเวลาอันมืดมนน่าสะพรึงกลัวที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติไทย

หัวหินกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังสงครามโลกสิ้นสุดลงในรัชสมัยอันยาวนานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น วังไกลกังวลได้เป็นวังที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับอยู่อย่างสม่ำเสมอ หัวหินกลับมีชีวิตชีวาด้วยคณะข้าราชบริพารตามเสด็จฯ ตลอดจนครอบครัวเสนาบดีข้าราชการ และตระกูลเก่าแก่ที่ชวนกันกลับมาซ่อมแซมดูแลบ้านพักชายทะเลหาดหัวหินให้งดงามดั่งเดิม

พระตำหนักชมดงในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับภาพเก่าครั้งแรกสร้าง

ก็กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จฯ ให้มาทอดพระเนตรก็โปรดมาก เพราะเป็นพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๐ เมตร มองเห็นเขาตะเกียบ ท้องทะเล รวมทั้งทิวทัศน์งดงามของเขาหินเหล็กไฟซึ่งเป็นวนอุทยาน และยังใกล้กับสนามกอล์ฟหัวหินที่ทรงเคยเสด็จไปทรงกอล์ฟเป็นประจำตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๗ จึงมีพระเสาวนีย์ให้ซื้อที่ดินแปลงถัดไปอีกแปลงหนึ่งเพื่อสร้างพระตำหนักหลังใหม่ คุณพ่อของผมซึ่งตามเสด็จมาด้วยในคราวนั้นก็ตัดสินใจว่าจะซื้อด้วยอีกแปลงเพื่อจะได้ปลูกบ้านไว้อยู่ใกล้ๆ กัน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ปรับราคาที่ดินขึ้นไปหนึ่งเท่าตัวด้วยความรวดเร็ว เป็นไร่ละ ๒๐,๐๐๐ บาท แต่สมเด็จฯ ก็ทรงยอม และยังทรงพระกรุณาซื้อพระราชทานคุณพ่อและคุณแม่ของผมด้วยอีกหนึ่งแปลงรวมแล้วทรงซื้อสองแปลง มีพื้นที่กว่า ๒๐ ไร่”

คุณพ่อของ ฯพณฯ วรพจน์ มีชื่อเล่นว่า หนอน บ้านพักตากอากาศที่เขาหินเหล็กไฟของท่านจึงชื่อ บ้านหนอนนอน“บ้านของครอบครัวเราสร้างเสร็จก่อนพระตำหนักชมดง เพราะมีขนาดเล็กกว่ามาก สมเด็จฯ เสด็จฯ มาประทับที่บ้าน หนอนนอนก่อนระหว่างที่ทรงรอให้พระตำหนักใหญ่สร้างเสร็จ ในวันแรกที่เริ่มก่อสร้างพระตำหนักมีการทำพิธีแบบโบราณ ซึ่งน่าชม น่าตื่นเต้น ปกติการสร้างบ้านนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว แต่การสร้างพระตำหนักหรือวังเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ กว่ามาก ท่านท้าวมหาครู

ในสมัยนั้นก็คือคุณพ่อของท่านมหาครูคนปัจจุบันเป็นผู้ลงมาทำพิธีกรรมถวาย ศิลาฤกษ์ยังติดอยู่ ที่ผนังพระตำหนักจนบัดนี้ในพิธียกเสาเอกของพระตำหนักมีการเขียนยันต์บนแผ่นไม้ ๕ แผ่นเพื่อไปเสียบตรงนั้นตรงนี้แผ่นยันต์เหล่านี้สำหรับไว้กันผี กันไฟ กันหมดทุกอย่าง ที่นี่ จึงไม่ต้องมีศาลพระภูมิ และก็ไม่มีผีด้วย เพราะถือว่าเป็นวังเป็นเขตพระราชฐาน ซึ่งคนโบราณเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว ผีเข้าออกไม่ได้” พอบทสนทนาเข้าสู่เรื่องเร้นลับเข้ากันกับบรรยากาศ เรื่องราวในอดีตก็เริ่มสนุกและมีสีสันเพิ่มขึ้น อีกทั้งท่านเจ้าของบ้านได้พาเราเดินลงมายังบริเวณชั้นล่างของพระตำหนักที่แบ่งเป็นห้องหับหลายห้องซึ่งปรับแต่งจนงดงาม น่าสนใจ

“ดิฉันมีหลานที่มีซิกซ์เซนส์คนหนึ่งค่ะ เขาบอกว่าเวลามาอยู่ที่นี่จะสบายมากเลย ไม่เจออะไรเลย” คุณพัชรินทร์ กล่าวเสริม “เดิมที่ส่วนนี้จะเป็นที่อยู่ของข้าราชบริพารนะคะ มีทั้งห้องพักและห้องครัว เราปลูกต้นสร้อยอินทนิลที่สมเด็จฯโปรด เป็นแนวยาวใกล้ๆ กับบริเวณบ่อน้ำพุ มีตุ๊กตาบรอนซ์รูปเด็กกำลังยกมือป้องน้ำที่กบสามตัวพ่นขึ้นมา ซึ่งสมเด็จทรงซื้อที่ลอนดอนเพื่อประดับพระตำหนักที่นั่น พอท่านเสด็จกลับเมืองไทยก็ทรงนำกลับมาด้วยและโปรดให้มาตั้งที่ตรงนี้”

“เราปรับกลุ่มห้องเก่าที่เคยมืดๆ ให้เป็นเกสต์รูมครับทำกำแพงหน้าห้องทั้ง ๕ ห้องเป็นเหมือนร้านรวงต่างๆ เพื่อสร้างบรรยากาศอาเขตเล็กๆ แบบที่ปารีส มีร้านหนังสือร้านขนมปัง สตูดิโอถ่ายรูป และร้านขายของเล่น ซึ่งอันนี้ เป็นร้านจริง เพราะใช้เป็นห้องเก็บคอลเลคชั่นรถไฟโมเดลของผม” ท่านวรพจน์กล่าวอย่างอารมณ์ดีขณะที่เปิดประตูกระจกแบบเก่าพาเราเดินเข้าไปชมรถไฟมากมายที่ตั้งแสดงอยู่ภายในห้อง

“ที่นี่เรามีรถไฟโมเดลหลายขนาด ด้านนอกจะเป็น G สเกลใหญ่ที่สุด คือ ๑.๒๐ ที่เราวางรางให้วิ่งไปได้รอบ พระตำหนัก ส่วนสเกลที่คนส่วนใหญ่จะเล่นกันคือ ๑.๘๗ และที่อยู่ภายในห้องนี้คือสเกล 00 ขนาดลดลงมาหน่อย ของที่ผมสะสมจริงๆ คือรถไฟไทยชนิดต่างๆ จากหลายยุคหลายสมัยรวมทั้งยังได้จำลองขบวนรถไฟที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านประทับเพื่อเสด็จฯ ไปกาญจนบุรีเมื่อไม่นานนี้ด้วย

อันที่จริงผมกำลังเตรียมจะทำนิทรรศการรถไฟโมเดลที่แกลเลอรีบ้านคลองที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๖๒ โดยมีจุดประสงค์จะแสดงความเคารพผู้ที่เสียชีวิตลงในการสร้างทางรถไฟ เหลือเชื่อนะครับว่าสมัยก่อนเราไม่มีเอนจิเนียร์รถไฟ เราต้องจ้างฝรั่งแล้วก็มาตายลงตั้ง ๓๓ คน ศพก็ฝังไว้ตามรางบ้างหรือข้างป่าบ้างยังมีกุลีอีก ๗,๐๐๐ คน

ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่จ้างจากเมืองจีน คนเหล่านี้มักจะตายเพราะไข้ป่า ตอนสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปภาคอีสาน รถไฟโมเดลเหล่านี้ผมไม่ได้ประกอบเองนะครับ แต่ผมดัดแปลงจากโมเดลของญี่ปุ่น เยอรมนี หรือของอังกฤษ โดยหาซื้อรุ่นเดียวกันกับที่ไทยนำมาใช้ บางทีก็ทำง่ายๆ แค่เปลี่ยนสีใส่เลข ใส่ รฟท. แต่บางคัน ก็ยากเพราะต้องมีรายละเอียดเพิ่มเติมอีกมาก ต้องขอให้มือโปรมาช่วยทำ”

จากพื้นที่ด้านล่างของพระตำหนักชมดงมีทางเดินเข้าไป ยังสวนสวยได้หลายทาง ต้นไม้นานาชนิดผลิดอกออกใบงดงามเขียวขจีไปทั่วบริเวณ จนยากที่จะนึกภาพความแห้งแล้งในยุคที่เพิ่งย้ายมาอยู่ตามที่ท่านเจ้าของบ้านได้เล่าให้ฟัง เมื่อสักครู่

“พอสมเด็จฯ เสด็จสวรรคตเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ พระราชพินัยกรรมระบุว่าได้พระราชทานพระตำหนักชมดง และพื้นที่สวนโดยรอบให้หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ พระสวามีของ พระขนิษฐาในสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี” หม่อมเจ้าการวิกทรงเป็นศิลปินที่มีฝีมือมากทั้งท่านและชายาไม่ทรงมีทายาท และไม่มีพระประสงค์ที่จะดูแลตำหนักในต่างจังหวัด เลยมีพระดำริว่าจะประทานให้คุณพ่อของผมเนื่องจากมีบ้านหนอนนอนซึ่งอยู่ติดกันกับพระตำหนักชมดงอยู่แล้ว คุณพ่อก็รับไว้แต่ขอถวายเงินเป็นการตอบแทนพระกรุณาของท่านตามความเหมาะสมในเวลานั้น พอคุณพ่อผมเสียชีวิต ที่ดินทั้งหมดนี้ก็ตกเป็นของคุณแม่”

เมื่อเดินห่างออกมาจากตัวพระตำหนักจนถึงบริเวณบ่อน้ำใหญ่ที่ขุดขึ้นตามพื้นที่ลดหลั่นสองระดับ ด้านหนึ่งเป็นเนินลาดชันสูงขึ้นไปตามไหล่เขา มีน้ำตกขนาดเล็กไหลรินลงมาไม่ขาดสาย มองกลับไปทางเดิมจะเห็นโครงสร้างของกลุ่มพระตำหนักชมดงสวยเด่นอยู่ไกลๆ “สมเด็จฯ เสด็จมาประทับที่นี่เป็นครั้งคราว คราวละประมาณ ๓ เดือน ท่านจะทรงมีพระญาติสนิท ข้าราชบริพาร มหาดเล็ก ตำรวจติดตามรวมแล้วประมาณ ๕๐ คน นอกจากนั้นยังมีพระสหายอายุเท่ากันกับพระองค์ท่าน คือที่โกนจุกพร้อมกันตามเสด็จด้วยเช่น ท่านหญิงพวง (หม่อมเจ้าพวงรัตนประไพ ชุมพล)หม่อมเจ้าหญิงรัสสาทิส กฤดากร (พระชายาในหม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร ผู้ทรงเป็นสถาปนิกมีชื่อในสมัยรัชกาลที่ ๗) และหม่อมเจ้าคัสตาวัสจักรพันธุ์ (พ่อตาของคุณอานันท์ ปันยารชุน) เป็นช่วงพระชนม์ชีพที่สมเด็จฯ ทรงมีความสุข ทรงมีพระพลานามัยดีพร้อม ในเวลาบ่ายจะทรงขับรถไปทรงกอล์ฟที่สนามกอล์ฟหัวหิน โดยทางสนามจะเปิดประตูด้านข้างให้เสด็จเข้าโดยไม่ต้องอ้อมไปทางประตูหน้าส่วนใหญ่พระองค์จะทรงกอล์ฟสามหลุม และพอเย็น ทหารวังจะส่งรถไปรับเสด็จกลับพระตำหนัก”

ชีวิตในพระตำหนักชมดงดำเนินไปอย่างเรียบง่ายเป็นกันเอง ยามค่ำสมเด็จฯ ทรงโปรดที่จะให้ข้าราชบริพารและพระญาติเล่นเครื่องดนตรีไทย ซึ่งทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของท่านวรพจน์ก็ได้ร่วมบรรเลงด้วยเสมอ “อากาศในสมัยก่อนนั้นเย็นสบาย และพื้นที่แถวนี้เงียบสงบน่าอยู่เพราะยังไม่มีคนเข้ามาอยู่มากนัก น่าเสียดายที่ตอนนั้นต้นไม้ยังไม่ขึ้นเขียวร่มรื่นอย่างตอนนี้”

ในการวางแผนจัดสวนของพระตำหนักชมดงนั้นคุณพัชรินทร์ สนิทวงศ์ กรุณาอธิบายต่อให้ฟังว่า “ในช่วงแรกๆคุณประเทือง ภรรยาของ ม.ร.ว. เทพพงศ์ เทวกุล เป็นผู้เริ่มทดลองปลูกต้นไม้ต่างๆ ก่อนค่ะ แต่ไม่ค่อยจะขึ้นเพราะดินแล้งมาก มีต้นชวนชม เฟื่องฟ้า และลั่นทมที่พอจะรอดบางต้นยังอยู่มาจนถึงเดี๋ยวนี้ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของเราก็ชอบปลูกต้นไม้นะคะ ท่านพยายามเติมปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอกเติมดินปลูก ปรับสภาพพื้นดินให้ดีขึ้นตามลำดับ ในยุคของดิฉันก็ปลูกต้นไม้ต่อมาเรื่อยๆ ค่ะ คือเห็นอะไร หรือชอบต้นอะไรก็นำมาปลูก และตอนหลังไปได้แรงบันดาลใจจาก White Garden ที่ Sissinghurst เมือง Kent ของอังกฤษค่ะ เลยคิดจะทำสวนขาวขึ้นที่พระตำหนักชมดงนี้บ้าง”

จากริมบ่อน้ำใหญ่ใจกลางพื้นที่ สามารถมองเห็นไปได้ ทั่วบริเวณ “สวนขาว” แสนสวย ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของคุณพัชรินทร์ตั้งอยู่ใกล้ๆ มีศาลาหลังเล็กปกคลุมด้วยกอพวงชมพูดอกขาว น่ารักน่าเอ็นดู

“พวงชมพูนี่ปลูกให้เขาเลื้อยไต่ขึ้นไปนะคะ แล้วก็ลง ขิงขาว ราชาวดี แก้ว ประยงค์ พุดตานทวายดอกขาว ดอนย่า อินทนิลน้ำ รวมทั้งเชอร์รีที่ออกดอกเป็นสีขาว ก็เลยได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในสวนนี้ด้วยค่ะ” สำหรับคนรักสวนคงไม่มีอะไรที่จะทำแล้วเปี่ยมไปด้วยความสุขมากกว่าการได้คัดเลือกต้นไม้ที่ชื่นชอบแล้วนำมาปลูกลงในสวนที่จัดเองคุณพัชรินทร์เสาะหาต้นไม้จากตลาดต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน เฝ้าทะนุถนอมสังเกตการเจริญเติบโต และชื่นใจเมื่อต้นไม้เหล่านั้นออกดอกผลิใบให้ชื่นชม

“เรามีราตรีประมาณ ๔๐ ต้นค่ะ และช่วงนี้กำลังมีดอกปกติราตรีจะบานช่วงปลายปี แต่ปีนี้เร็วนิดนึง บานทีไรก็หอมไปทั้งสวนในเวลากลางคืน ช่วงเช้าดอกราชาวดีก็หอม รวมทั้ง จำปาแคระ และพุดแม่ลาดอกหอมซึ่งหอมมาก ส่วนช่วงเย็น ดอกบานเย็นสีขาวจะบานสะพรั่ง”

“มองจากตรงนี้จะเห็นประตูทางเข้าของ Maze ซึ่งเรา เรียกสวนวงกต” ท่านวรพจน์กรุณาชี้แนะต่อจากภรรยา ในขณะเดียวกันนกยูงตัวโปรดของครอบครัวสนิทวงศ์เข้ามา ร่วมวงสนทนา และทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ประจำบ้าน เดินนำทางไปยังสวนต่างๆ “สวนวงกตนี้เราได้แรงบันดาลใจ จากสวนเมสของพระราชวัง Hampton Court ค่ะ แต่ที่นั่นจะใหญ่กว่าหลายเท่า” ในสวนวงกตทางเดินหักเหลี่ยมลดเลี้ยวเวียนวนเหมือนเล่นกลกับความคิด แต่ไม่นานเราก็เดินมาถึงจุดลึกสุดที่มีรูปปั้นของท่านเจ้าของสวนกับสุนัขตัวโปรดตั้งอยู่“ตัวนี้ผมรักมากแต่โดนงูกัดตาย ยังคิดถึงมากครับ”

ยิ่งสวนเขียวร่มรื่นขึ้นมากเท่าใด สัตว์ป่าจากวนอุทยานที่อยู่ติดกันกับพระตำหนักต่างพากันแวะเวียนมามากขึ้นนอกจากนกยูงและงูแล้วยังมีฝูงลิงเกเรที่เข้ามาอาละวาดเสมอท่านเจ้าของสวนยังจัดวางบ้านแมลงเพื่อดึงดูดแมลงจากป่าแต่ก็ยังไม่มีแมลงเข้ามาอยู่สักชนิดเดียว

“ปัจจุบันเรามีต้นไม้กว่า ๗๐๐ ชนิด เกือบทุกต้นจะมีป้าย บอกชื่อทั้งภาษาละติน อังกฤษ และไทย ตามรูปแบบของ สวนพฤกษศาสตร์ ถ้าต้นไหนมีสรรพคุณทางยาจะมีป้ายพิเศษ สีน้ำตาลบอกรายละเอียด” ท่านวรพจน์กล่าวเสริม “ต้นไม้ที่ เราสะสมอีกกลุ่มหนึ่งคือต้นไม้จากสมัยพุทธกาล ซึ่งมีทั้งหมด ๔๔ ชนิด แต่ที่นี่ปลูกรอดแค่ ๓๔ ชนิด เพราะบางต้นนั้นเป็น ไม้แถบเขตหนาว ซึ่งไม่เหมาะกับพื้นที่ร้อนแล้ง”

ถัดจากสวนวงกตขึ้นมาหน่อยเป็นสวนลับแล หรือ Secret Garden ตามคอนเซปต์แบบอังกฤษ สวนนี้มีรั้วรอบขอบชิดพร้อมด้วยประตูกลที่จะเปิดเข้าไปได้ก็เฉพาะแต่ผู้ที่รู้วิธีเท่านั้น เป็นบริเวณร่มรื่น มีความเป็นส่วนตัว พร้อมพรั่งด้วยสระว่ายน้ำ ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน เลยเป็นที่พักผ่อนสำราญใจของท่าน เจ้าของบ้าน และเหมาะสำหรับจัดงานปาร์ตี้ยามบ่าย นอกจาก สวนสำหรับผู้ใหญ่แล้ว ที่ขาดไม่ได้คือสวนสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งมีเรือโจรสลัดจำลอง บ้านบนต้นไม้ ปราสาทเทพนิยาย และบ้านฮอบบิท ที่ใหญ่พอให้เด็กๆ จะเข้าไปนั่งกันได้สบายๆ พอมองทะลุหน้าต่างจิ๋วๆ ออกมาจะเห็นราวตากเสื้อผ้าตัวเล็กตัวน้อยแขวนรอการเก็บของเจ้าของบ้านในจินตนาการ

ยังมีอีกส่วนของสวนที่น่าสนใจ นั่นคือทรีเฮาส์ หรือบ้านบนต้นจามจุรีขนาดใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นอย่างแยบยลโดยไม่รบกวนกิ่งก้านของต้นไม้เลยแม้แต่กิ่งเดียว ด้วยความสูงเท่ากับตึกหลายชั้น จึงมีการติดตั้งลิฟต์ผนังแก้วไว้อำนวยความสะดวกต่อผู้สูงอายุและเพื่อชมทัศนียภาพโดยรอบ “เรามีความสุขกับบ้านทรีเฮาส์หลังใหม่นี้มากค่ะ เพราะสามารถขึ้นมาค้างคืนบนนี้ได้แบบสบายๆ แต่จะนอนตื่นสายกันไม่ได้นะคะ เพราะฝูงนกยูงที่เกาะกิ่งไม้โดยรอบจะพากันตื่นและส่งเสียงทักกันตอนรุ่งเช้า”

บทความนี้ได้บรรยายถึงความพิเศษต่างๆ ของพระตำหนักชมดง แต่สิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดคือน้ำใจที่ครอบครัวสนิทวงศ์มีให้แก่บุคลภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง “ในแต่ละปีเราจัดแสดงคอนเสิร์ตขึ้นหลายรอบที่ในสวน โดยใช้เวทีกลางบ่อใหญ่ที่ในเวลาปกติจะจมอยู่ใต้น้ำ แต่พอจะมีการแสดงเราจะลดระดับน้ำให้เวทีปรากฏ” ท่านวรพจน์กล่าวปิดท้ายคอนเสิร์ตทุกรายการนั้นมีจุดประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนกลุ่มนักร้องและนักดนตรีคุณภาพ และเป็นการเปิดโอกาสให้สาธารณชนที่ชื่นชอบดนตรีและสนใจประวัติของพระตำหนักชมดง รวมทั้งพฤกษศาสตร์ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ ทุกงานจัดขึ้นอย่างสวยงาม มีอาหาร เครื่องดื่ม และของที่ระลึกจำหน่าย ท่านผู้อ่านสามารถเช็กข้อมูลทางเว็บไซต์ของพระตำหนักชมดงได้ที่ www.chomdong.com

ขอขอบคุณ: ม.ร.ว. อัจฉรียา คงสิริ, ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล, ท่านทูตวรพจน์-คุณพัชรินทร์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และภาพโบราณจากคลังภาพหม่อมหลวงภูมิใจ ชุมพล

เรื่อง / ภาพ : ม.ล. ภูมิใจ ชุมพล

About the Author

Share:
Tags: สารสิน / นิตยสารอนุรักษ์ / โชติกเสถียร / อนุรักษ์ / ไกรฤกษ์ / ชื่นชมอดีต / ตำหนักดลสุขเพลิน / ม.ล.ภูมิใจ ชุมพล / บ้านน้อย / anurakmagazine / พระตำหนักแสนสำราญ / อนุรักษ์แท็บลอยด์ / travel / หัวหิน / กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ / บุนนาค /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ