Lampang Heritage
อนุรักษ์ ฉบับที่ 60
เรื่องและภาพโดย คุณ จิระนันท์ พิตรปรีชา
มรดกไม้สัก เมืองลำปาง
ยุดเพื่องฟูของกิจการทําไม้สักในภาคเหนือเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากรัฐบาลสยามตกลงทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ ส่งผลให้การตัด ชักลาก และค้าไม้ที่ทํากันอยู่แล้วในระดับภูมิภาค “โกอินเตอร์” เป็นอุตสาหกรรมส่งออกอย่างรวดเร็ว หลายบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนผูกสัมปทาน และความมั่งคั่งจากการค้าไม้ก็ทําให้เกิดคหบดี “พอเลี้ยง” รุ่นใหม่ทั้งฝรั่งอังกฤษ พม่า จีน ไทย โดยมีชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆเป็นแรงานหลัก
นครลำปาง
คือหนึ่งในศูนย์กลางการค้าไม้สัก “เขลางค์นคร” “เมืองลคร” มีอีกชื่อที่น่ารักมากคือ “กุกกุฎนคร” ทําให้นึกถึงไก่กุ๊ก ๆ สัญลักษณ์ประจําจังหวัดและผลิตภัณฑ์ชามตราไก่อันเลื่องชื่อ นอกจากวัดวาอารามเก่าแก่นับร้อยในเขตเทศบาลแล้ว หลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทันสมัยเมื่อร้อยกว่าปีก่อนปรากฏอยู่แทบทุกซอกมุม สําหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป จุดเช็คอินที่พลาดไม่ได้คือ อาคารร้านรวงสไตล์วินเทจที่ “กาดกองต้า” “สะพานรัษฎา” และการนั่งรถม้าชมเมือง ซึ่งเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มี “วินรถม้า” จัดให้บริการอย่างเป็นระบบ
ทัวร์วันเดียวเที่ยวชมรมรดกไม้สักของเรา เริ่มต้นที่ “เฮือนป่องนัก” ชื่อภาษาคำเมือง แปลว่า “เรือนที่มีช่องหน้าต่างประตูเยอะมาก” กล่าวคือ มีหน้าต่างบานเกล็ดไม้ ๒๕๐ บาน ช่องลมช่องหน้าต่างนับรวมได้ถึง ๔๖๙ ช่อง อาคารไม้สองชั้นหลังมหึมานี้ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายสุรศักดิ์มนตรี สร้างขึ้นเมื่อ ๙๘ ปีก่อน เพื่อเป็นที่ประทับแรมของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เมื่อคราวเสด็จมณฑลพายัพ ปัจจุบันใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ทหารและภาพถ่ายประวัติศาสตร์ มีร้านกาแฟในสวนน่านั่งอยู่ข้างๆ นอกจากการชื่นชมสถาปัตยศิลป์สไตล์บ้านขนมปังขิงและงานไม้อันประณีตพิสดารแล้ว เรายังได้เรียนรู้อดีตจากวัตถุจัดแสดงอันหลากหลาย ทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องมือสื่อสารสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเครื่องเรือนของใช้ต่าง ๆ ในยุคนั้น น่ายินดีที่ค่ายทหารแห่งนี้ไม่เพียงเปิดรับนักท่องเที่ยว หากยังเชิญชวนชาวบ้านชุมชนมาเปิดตลาดนัดวันหยุดสุดสัปดาห์ และจัดกิจกรรมออกกําลังกายร้องรำทำเพลงให้กลุ่มผู้สูงวัยเป็นประจําอีกด้วย
บ้านหลุยส์ คฤหาสน์อายุ ๑๒๓ ปี
เป็นเรือนปั้นหยา ชั้นล่างก่อปูน ชั้นบนมีโถงมุขเจ็ดเหลี่ยมติดหน้าต่างบานเกล็ดไม้โดยรอบ แลดูอลังการ แม้จะอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ชุมชนบ้านมะโอเครือข่ายลำปางรักษ์เมืองเก่าได้ร่วมแรงร่วมใจบูรณะดูแลรักษาและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยหวังว่าจะเป็นจุดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สําคัญในอนาคต เนื่องจากที่นี้คือบ้านและออฟฟิศของ “นายห้างหลุยส์” บุตรชายแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสํานักสยามยุครัชกาลที่ ๔ และเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในกิจการค้าไม้สักสยามข้ามชาติ จริง ๆ แล้วใกล้กันยังมีอาคารไม้สักอีกหลายหลังที่ถูกทิ้งร้างหรือปล่อยให้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เนื่องจากเป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งไม่ใช่กรมศิลปากร จึงไม่มีทั้งงบประมาณและภารกิจในการชุบชีวิตโบราณสถาน ขอแนะนําว่าควรไปเยี่ยมบ้านหลุยส์ ในช่วงบ่ายวันศุกร์ ซึ่งจะมีบรรยากาศคึกคักด้วยตลาดนัดสายวัฒนธรรมของชุมชนท่ามะโอ
วัดเกาะวาลุการาม
ริมแม่น้ำวังใกล้ตลาดกองต้า มีศาลาการเปรียญหลังใหญ่ในสภาพทรุดโทรมมาก แต่รายละเอียดของสถาปัตยศิลป์ทั้งงานไม้งานปูนทําให้ต้องเข้าไปชมอย่างใกล้ชิด ก็เช่นเดียวกับอีกหลายวัดที่ยังไม่ผ่านการปฏิสังขรณ์แบบ “ลบริ้วรอย” การผสมกลมกลืนของงานช่างและศิลปวัฒนธรรมจีน พม่า ล้านนา ฝรั่ง ช่างน่าอัศจรรย์ใจ อีกไฮไลท์ของวัดนี้คือจิตรกรรมฝาผนังภาพพุทธชาดกและประวัติวัดเกาะในอุโบสถฝีมือ “ป.สุวรรณสิงห์” ช่างเขียนป้าย ดีไซเนอร์คนดังของลำปางเมื่อเจ็ดแปดสิบปีก่อน
มิวเซียมลำปาง
คือศาลากลางจังหวัดหลังเก่าที่เพิ่งถูกปรับเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนและวิถีวัฒนธรรมเมืองลําปาง มิใช่ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ แต่อาศัยดีไซน์เก๋ไก๋และเทคโนโลยีทันสมัยช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างรื่นรมย์ แถมมุมสวย ๆ ให้เซลฟี่อีกมากมาย ในนี้มีภาพถ่ายเก่าและเรื่องราวความเจริญรุ่งเรืองในยุคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงยุคค้าไม้สักที่ทําให้เกิดชุมชนนานาชาติ และสถาปัตยกรรมผสมผสานที่แปลกตาน่าชมและเป็นเอกลักษณ์ของนครลำปาง