นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 4
เรื่องและภาพ: ธีรภาพ โลหิตกุล
ความสุข ณ เรือนไม้
ชายน้ำลุ่มแม่กลอง
นานมากแล้ว ที่ผมไม่ได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือ ที่คนขายนั่งอยู่ในเรือจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือ แบบที่ยกเรือขึ้นมาไว้บนห้างสรรพสินค้า แต่เช้าวันนั้นผมมีความสุข ที่ด้านหลังของผม รายล้อมด้วยห้องแถวไม้ชายน้ำ ด้านหน้าคือบันไดท่าน้ำ ที่กำลังหอมกรุ่นกลิ่นน้ำพะโล้ จากเตาในเรือ แม้จะไม่ใช่ก๋วยเตี๋ยว แต่เป็นก๋วยจั๊บ ทว่าอารมณ์และบรรยากาศ ไม่ต่างจากการได้นั่งกินก๋วยเตี๋ยวเรือริมน้ำ…อย่างไรอย่างนั้น
ยิ่งเพ่งพินิจเนื้อไม้ที่ประกอบเป็นลำเรือ บ่งบอกว่า ผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน ซึ่งมักจะบ่งบอกขีดขั้นความอร่อยของอาหารที่มากับเรือลำนั้นด้วย ทว่า…ลำเรือออกจะเก่ากาล แต่ทำไมทองคำเปลวที่ปิดตรงหัวเรือและท้ายเรือ…ดูใหม่มาก
“ฉันยาเรือกันรั่วปีละสองครั้ง ทุกครั้งต้องซื้อทองมาปิดหัวปิดท้ายบูชาแม่ย่านาง แต่งตัวให้ท่านสวยๆ เราค้าขายก็สบายใจ ใครมาชวนฉันขึ้นบกไปขายในตลาด ชวนแล้วชวนอีก ฉันก็ไม่ไป ฉันขายคนเก่าๆ ที่รู้จักกันดี เจอกันก็ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ บางคนกินก๋วยจั๊บของฉันตั้งแต่เด็กจนมีลูกมีผัวแล้ว ก็ยังกลับมากิน…”
ได้ยินจากปากป้าประทุม ศรีคงอยู่ ผมก็หายกังขาอย่างหมดใจ ว่าทำไมตลาดน้ำวัดเพลง ที่วายไปนับ ๔๐ ปีแล้ว ป้ายังพายเรือขายก๋วยจั๊บอยู่เจ้าเดียวโดดๆ ออกจากบ้านแปดโมง พอบ่ายโมงกว่าก็กลับ หมดแล้วหมดเลย ไม่ต้องเพิ่มของหวังเพิ่มกำไรเพราะร่างกายจะไม่ไหว ขายแต่พออยู่พอกินมีความสุขแล้ว
จะไม่ให้ผมหมดใจได้ยังไง เมื่อป้าบอกว่า อายุปาเข้าไป ๗๐ กว่าแล้ว แต่ใบหน้ายังไม่เกษียณเลย แถมพายเรือกระฉับกระเฉงพอจอดท่าไหน มือหนึ่งถือถ้วย มือหนึ่งหยิบเครื่องก๋วยจั๊บใส่ อีกขาหนึ่งไพล่ขึ้นไปไขว้บันไดท่าน้ำไว้…กันเรือลอยไป ปากก็เจ๊าะแจ๊ะกับลูกค้าไปด้วย ป้าช่างรวยความสุขอย่างน่าอิจฉาจริงๆ
เรือก๋วยจั๊บลำสุดท้ายของป้าประทุม อาจเป็นร่องรอยที่ยังหลงเหลือของอดีตตลาดน้ำวัดเพลงรอยต่อจังหวัดราชบุรี กับสมุทรสงคราม
จำได้ว่าวันนั้น แฟนผมขับรถคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามเส้นทางสวนผลไม้แห่งลุ่มน้ำแม่กลองได้สักพักหนึ่ง ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้าคือเรือนไม้ชายน้ำเก่าแก่สุดคลาสสิก เรียงตัวเป็นทิวแถว ยาวไกลสุดลูกหูลูกตา สงบงามราว
หมู่บ้านในนิทาน วิจิตรตาราวภาพเขียนสีน้ำจากปลายพู่กันของจิตรกรเอก มีลักษณะเป็น “ชุมทาง” ของชุมชนโบราณ ที่มีต้นยางนาสูงใหญ่ อายุเป็นร้อยปีขึ้นไป ที่สำคัญคือเมื่อมีการแบ่งเขตการปกครองยุคใหม่ ทำให้เรือนไม้ชายน้ำกลุ่มนี้ กลายเป็น “ชุมทางสามแยก สองจังหวัด สามอำเภอ” โดยมีลำน้ำเป็นเส้นแบ่ง
“คลองบางนางสูญ” ไหลมาบรรจบ “แควอ้อม” สาขาของแม่นํ้าแม่กลอง ทำให้ท่านํ้าหน้าร้านขายยาจีน ที่ผมนั่งกินก๋วยจั๊บเรือ อยู่สังกัดอำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี แต่ฝั่งตรงข้ามคือ พื้นที่อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม บ้านเกิดครูเอื้อ สุนทรสนาน ส่วนอีกฝากฝั่งหนึ่งของคลองบางนางสูญ ที่มียางนายืนต้นโดดเด่น เป็นเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ในอดีตนั้นชุมทางสามแยก สองจังหวัด สามอำเภอเคยเป็นตลาดนํ้า ที่มีเรือของชาวสวนนับร้อยลำนำผลผลิตออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน
ร้านขายยาจีน “อื๊อ หยง ง้วน” เป็นอีกร่องรอยหนึ่งของตลาดนํ้าวัดเพลง เพราะเปิดขายมา ๘๐ กว่าปีแล้ว ถึงวันนี้ แม้ลูกหลานจะไปอยู่กรุงเทพฯ กันหมด แต่อากง อาม่า ยังเปิดร้านอย่างมีความสุข กับชีวิตที่ไม่วุ่นวายในเรือนไม้ชายนํ้า ถึงแม้ตลาดนํ้าจะวายไปหลายสิบปี แต่ยังมีลูกค้าประจำมาอุดหนุนอยู่เรื่อยๆ ในขณะที่ร้านอื่น กลายเป็นที่พักอาศัยไปเกือบหมดแล้ว
จากอดีตตลาดนํ้าที่เคยคึกคัก มาวันนี้สงบเงียบ เรียบง่าย อาจมีบางวันที่ครึกครื้น ด้วยกองถ่ายหนังและละคร มักมาใช้ที่นี่เป็นโลเคชั่นถ่ายทำบางฉาก มีนักศึกษามาหัดสเก็ตช์ภาพ และโดยเฉพาะบรรดาตากล้อง ที่นิยมมาย่องๆ มองหามุมคลาสสิก ถ่ายภาพกันเนืองๆ ชาวบ้านก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้เปิดร้านขายของแล้ว แต่ความมีนํ้าใจ โอบอ้อมอารียังคงอยู่ เหมือนชาวบ้านทุกถิ่นที่