นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 20
เรื่อง: ธีรภาพ โลหิตกุล
ภาพ: หนังสือจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินสหภาพพม่า
ตามรอยพระยุคลบาท
ยาตรามหาเจดีย์ชเวดากอง
เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงงานหนักเพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความสุข สมดั่งที่ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ในการนี้ ทรงศึกษาและเรียนรู้ประเทศชาติและประชาชนของพระองค์ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรทั่วทุกภูมิภาค ตลอดจนเสด็จฯ ไปสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๘– ๒๕๐๗ โดยเฉพาะการเสด็จฯ เยือนสหภาพพม่าใน พ.ศ. ๒๕๐๓ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษด้วยเหตุที่ไทยกับพม่ามีประวัติศาสตร์ร่วมกันจากการทำศึกสงครามในสมัยโบราณกันหลายครั้ง
ทว่า หนังสือ “จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า ๒ – ๕ มีนาคม ๒๕๐๓” พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้เราได้เห็นพระจริยาวัตรอันเป็นแบบอย่างที่งดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ของไทย ขณะเสด็จฯ ไปสักการะ “ชเวดากอง” พระมหาเจดีย์อันถือเป็นศูนย์กลางแห่งจิตวิญญาณของชาวพม่า โดย…
ก่อนที่จะทรงมีพระราชดำรัสตอบประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่าในงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ตอนหนึ่งว่า…
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงพระเจดีย์ชเวดากอง…ตามธรรมเนียมของชาวพม่า เมื่อเข้าไปยังปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะ จะต้องถอดรองเท้าถุงเท้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติตามประเพณีอันเก่าแก่นี้ด้วย”
นอกจากนั้นยังทรงถวายเงินบำรุงพระมหาเจดีย์เป็นจำนวน ๒,๕๐๓ จัต เท่าอายุพระพุทธศาสนาในขณะนั้น อีกทั้งยังได้เสด็จฯไปในการพระราชกุศล ณ สังคายนามณฑลภายในมหาปาสาณคูหา โดยพระราชทานเลี้ยงภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูปทรงถวายต้นไม้เงินทองและเทียนแพเป็นพุทธบูชา และทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ๒ ต้นที่ทรงนำไปจากประเทศไทย ณ ลานหน้ามหาปาสาณคูหาเป็นอนุสรณ์แห่งมิตรภาพไทยกับพม่า
“…ประเทศทั้งสองได้เรียนรู้แล้วว่า จะต้องลืมข้อพิพาทที่เคยมีมาในอดีต และส่งเสริมไมตรีจิตมิตรภาพที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ยิ่งๆ ขึ้นด้วยกันทั้งสองฝ่ายในอนาคต ขอให้ประเทศทั้งสองนี้ แสดงให้ปรากฏแก่สายตาโลกว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ประเสริฐ…ตั้งอยู่ด้วยกันได้โดยสันติเป็นนิจและประกอบกิจอันเป็นประโยชน์ซึ่งกันและกันเป็นนิรันดร…”
ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ๑ ในคณะผู้ตามเสด็จฯ สหภาพพม่าในครั้งนั้นได้เขียนไว้ในหนังสือ “เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” พ.ศ. ๒๕๓๕ ว่า…
“ถึงประเทศพม่าจะมีประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำมากสำหรับคนไทย แต่ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศพม่า ระหว่างวันที่ ๒-๕ มีนาคม ๒๕๐๓ เมื่อพระยุคลบาทเหยียบลงบนผืนแผ่นดินพม่า ในพระราชหฤทัยก็มีแต่ไมตรีจิต
เพราะทรงมีพระบรมราโชบายแน่วแน่ในการเสด็จฯ ไปต่างประเทศทุกประเทศว่ามิใช่เป็นการเสด็จฯ ส่วนพระองค์ แต่ทรงเป็นผู้แทนคนไทยทั้งประเทศ ฉะนั้นจะต้องทรงปฏิบัติพระองค์ให้ประเทศเหล่านั้นเกิดความนิยมประทับใจ รู้จักคนไทยและประเทศไทยในภาพที่เจริญด้วยจิตใจและวัฒนธรรม
ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์ให้เข้ากับเจ้าของบ้าน เช่น เสด็จฯ ไปที่เจดีย์ชเวดากองอันลือชื่อของพม่า โดยประธานาธิบดี U Win Muang เป็นผู้นำเสด็จ ทั้งที่ไม่ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทำอย่างเขา แต่ทั้งสองพระองค์ก็ทรงทำตามธรรมเนียมทุกอย่างก่อนเสด็จฯ ประพาสลำน้ำอิระวดี ภริยาประธานาธิบดีให้คนนำช่อดอกไม้มาทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเมื่อทรงทราบว่าเขานิยมประดับช่อดอกไม้ที่ผม ก็ทรงทำตามความนิยมของเจ้าของบ้านสังเกตว่าเจ้าของบ้านพอใจความงดงามอ่อนโยนด้วยช่อดอกไม้ที่ประดับพระเกศามาก
ประเทศพม่าก็มีวัดมากคล้ายไทย บางเมืองถึงแม้จะประทับอยู่เพียงน้อยวัน แต่ก็ทรงได้การถวายการต้อนรับที่อบอุ่นและมีสันถวไมตรีอันดี”
อันเป็นที่มาของพระราชดำรัสอำลาประธานาธิบดีแห่งสหภาพพม่า ในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๓ ตอนที่ว่า…
“ข้าพเจ้ารู้สึกปลื้มใจอย่างยิ่ง เมื่อได้เห็นประชาชนชาวพม่า แสดงไมตรีจิตต์ต่อเราทุกหนแห่ง ข้าพเจ้าถือว่าการแสดงน้ำใจดีเช่นนั้น ย่อมเป็นนิมิตหมาย ว่าชาวพม่าและชาวไทยต่างมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน… ไม่เป็นอมิตรคิดร้ายต่อกัน ไม่โลภหลงอยากได้สิ่งใดโดยไม่ชอบธรรม แต่จะต่อสู้เพื่อเสรีภาพซึ่งต่างก็รักและหวงแหน”
ใส่ใจเรียนรู้เพื่อนบ้าน ให้เกียรติเพื่อนบ้าน ด้วยการเคารพวัฒนธรรมประเพณีเพื่อนบ้าน คือรอยพระบาทอันงดงามที่ประชากรแห่งประชาคมอาเซียนทั้งหลายพึงตระหนักในวันนี้