Tuesday, November 5, 2024
เที่ยวไปรักษ์ไป ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

เรื่องเล่าก่อนเข้าเทศกาล

Before Yee – Peng , Kuan Khao Ya Koo

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 60
ฬียากร เจตนานุศาสน์

คืนก่อนลอยกระทง…หนุ่มสาวไม่ได้ออกมารำวง เขาทำอะไรกัน
๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ สืบสานประเพณียี่เป็ง…ร่วมกวนข้าวยาคู้
ฮอมแรง ฮอมคัว ที่วัดชมพู ชุมชนช้างม่อย จังหวัดเชียงใหม่

ใกล้ถึงวันลอยกระทง ปีนี้ตรงกับ วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ หลายคนเตรียมตัววางแผนออกไปหาบริเวณที่มีน้ำนองเต็มตลิ่งลอยกระทงกัน แต่สำหรับงานประเพณียี่เป็งของทางภาคเหนือนั้น ที่เรามักเห็นมีการปล่อยโคมลอย และนำกระทงมาลอยแม่น้ำขอขมาแม่คงคาในคืนนี้ ทว่าคืนก่อนหน้านั้นหนึ่งคืน ชาวบ้านในชุมชนช้างม่อย ของจังหวัดเชียงใหม่ เขาจะออกมาร่วมกันฮอมแรงฮอมคัว กวนข้าวยาคู้ เพื่อนำมาทำบุญถวายพระ และแจกจ่ายกันกินในวันรุ่งขึ้น เป็นประเพณีที่สืบทอดมาช้านาน ทว่าช่วงหลังหนุ่มสาวในชุมชนหายหน้าหายตาไป จนแทบไม่มีใครมา กระทั่งปัจจุบันคนในชุมชนเริ่มมีการรวมตัวและพยายามจะนำประเพณีนี้กลับมาทำให้เข้มแข็งอีกครั้ง เพื่อสืบสานอนุรักษ์ให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก และทำให้คนในชุมชนได้ผูกพัน รักและสามัคคีกัน ผ่านกิจกรรมการกวนข้าวยาคู้นี้อีกทางหนึ่ง 

การกวนข้าวยาคู้ นี้ก็คือ การกวนข้าวสามัคคีชุมชน โดยส่วนประกอบมี ข้าวเหนียวหุงสุก น้ำตาลปึก ถั่ว งา น้ำผึ้ง และกะทิ นำทั้งหมดมากวนให้ได้ความเหนียวเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเริ่มจากกวนน้ำตาลและน้ำผึ้งให้ละลายเหนียวข้นก่อน จากนั้นนำข้าวเหนียวลงไปกวน แล้วตามด้วยถั่วและงา จากนั้นก็ใส่กะทิ กวนจนกว่าทั้งหมดแห้งเข้ากัน ข้าวยาคู่นี้ บางคนก็บอกว่าคล้ายกายาสารท มีรสชาติหวานหอม และที่สำคัญคือการกวนที่มาจากการฮอมแรงฮอมคัว หรือการช่วยกัน ของคนในชุมชน 

การกวนข้าวยาคู้จะทำในคืน ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยชาวบ้านจะเริ่มมารวมตัวกันที่บริเวณลานในวัดชมพู ตั้งแต่ราว ๖ โมงเย็น นำถั่ว งา ข้าวเหนียว และส่วนผสมต่าง ๆ ใครมีอะไรก็เอามารวมกัน แล้วจะเริ่มกวนหลังเที่ยงคืนไปจนถึงประมาณตีสี่ เมื่อกวนเสร็จก็จะได้เป็นข้าวทิพย์ นำไปให้เจ้าอาวาสวัดชมพูเข้าพิธีกรรมสวดมนต์ ใช้ถวายเป็นพุทธกุศล โดยแบ่งเป็น ๔๙ กอง จากนั้นก็แจกจ่ายให้คนในชุมชนนำกลับไปรับประทานเป็นสิริมงคล เป็นยา เป็นอาหารเสริมเรื่องสุขภาพและยาอายุวัฒนะ

เรื่องเล่านี้ถูกเล่าผ่านหัวหน้าชุมชนวัดชมพู คือป้าดา-ลดา อินทวงษ์ ที่เป็นผู้สืบสานและอยากจะส่งต่อกิจกรรมประจำปีของชุมชนนี้ให้ยั่งยืนสืบต่อไป เพราะการที่คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกันกวนข้าวยาคู้ทำให้ชาวบ้านสนิทกัน มีเรื่องราวใดที่อยากบอกต่อปรึกษาหารือ ทุกคนที่มาก็จะเล่าสู่กันฟังในระหว่างนี้ โดยที่ทุกคนที่มาจะช่วยกันผลัดเปลี่ยนไม้พายไปกวนในกระทะใบใหญ่ กวนจนพอเมื่อยแขนไปสักพัก ก็ส่งไม้ต่อให้คนอื่น เรียกว่าทุกคนจะได้มีส่วนร่วมแน่นอน ส่วนใครที่อาจยังไม่รู้ ก่อนจะเริ่มงานจะมีการตีกลองร้องป่าวให้ได้ยินกันถ้วนทั่วว่าจะมีการฮอมถั่วฮอมงา ส่วนมากก็จะให้คนแก่เริ่มต้นตั้งกระทะ ดูแลเรื่องส่วนผสมก่อน และให้เด็กวัยรุ่นผู้ชายมารับช่วงกวนต่อยามดึกไปจนกว่าจะเสร็จ   

นับเป็นเรื่องราวดี ๆ ของชุมชน การมีกิจกรรมที่สืบสานสืบต่อและถ่ายทอดประเพณีอันดีงามและสนุกสนานนี้ ใครที่เคยมาเข้าร่วมก็คงได้รับความทรงจำดี ๆ กลับไป และชาวชุมชนช้างม่อยก็กำลังอยู่ในช่วงของการร่วมกันผลักดันให้คนในชุนชนได้รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เพื่อพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนต่อไปในกิจกรรมอีกหลายอย่าง

ส่วนนักท่องเที่ยวใครมีโอกาสได้เดินทางไปเชียงใหม่ในช่วงนั้นก็สามารถไปร่วมกิจกรรมกวนข้าวยาคู้นี้ได้ด้วยเช่นกัน ไปร่วมสัมผัสประสบการณ์ของการได้เป็นส่วนหนึ่งกับคนในชุมชน ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลที่นับวันจะห่างเหินและสูญหาย ร่วมกันเพื่อพลิกฟื้นและอนุรักษ์ และหลังจากนั้น เดินเที่ยวชมในชุมชนช้างม่อย และมีอื่น ๆ อีกมากมายที่น่าสนใจ….เพื่อการไปเชียงใหม่ครั้งต่อไปของทุกคนก็จะยังมีสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

About the Author

Share:
Tags: loykrathong / ช้างม่อย / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / อาหาร / ลอยกระทง / เชียงใหม่ / ยี่เป็ง /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ