ตะลุยอู่อารยธรรมล้านนา
และประวัติศาสตร์นอกไมค์ (๑)
วันหยุดยาวมาแล้ว ลมหนาวก็มาแล้ว เมื่อองค์ประกอบทุกอย่างพร้อมอย่าให้เรื่องงานมาทำให้เรื่องเที่ยวต้องเสีย เก็บกระเป๋าแล้วไปตะลุยภาคเหนือกัน!
ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาณาจักรล้านนามา จนกระทั้งไปอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าบ้าง หรือสลับมาอยู่ภายใต้การครอบครองของสยามบ้าง ตามพิสัยของแคว้นกันชน แต่เอกลักษณ์ของความเป็นล้านนาก็ไม่เคยจืดจาง แสดงถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมที่พวกเขามี
ก่อนอื่นขอให้สังเกตลำดับการสืบสันตติวงศ์เพื่ออรรถรสในการอ่านตำนาน พญามังราย พญาไชยสงคราม พญาแสนภู พญาคำภู พญาผายู พญากือนา พญาแสนเมืองมา พญาสามฝั่งแกน และ พญาติโลกราช
เอ้า! เรียบร้อยแล้วก็ไปลุยไปกันเลย
แต่…ไม่ว่าจะเป็นสายมู สายเช็คอินก็ดี เวลามาท่องเที่ยวกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หากเราไม่เข้าใจความไหว้ ก็เหมือนกับทำไปอย่างอย่างนั้นๆ หัวใจยังไม่ฟู(ล) ความรู้สึกยังไม่เต็มอิ่ม การเดินทางครั้งนี้จึงพาไปชื่นชมรูปแบบศิลปกรรมรวมทั้งคติในการสร้างตามเส้นทางเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน และวนกลับมาจบการเดินทางที่เชียงใหม่
วันแรก เชียงใหม่ วัดพระสิงห์
เริ่มต้นวันกันที่วัดพระสิงห์ซึ่งถือว่าเป็นวัดรุ่นแรกๆ ของล้านนาก็ว่าได้ แต่เดิมบริเวณนี้เป็นกาด (ตลาด) ชื่อว่า “กาดลีเชียง” ตามประวัติที่พบในทุกๆ เว็ปไซต์การท่องเที่ยวระบุ คือ เริ่มสร้างในสมัย “พญาผายู”…แล้ว พญาผายูคือใคร คงต้องเท้าความกันไปถึงตอนที่พญามังรายแห่งแคว้นโยนก พญามังรายทรงกรีฑาไพร่พลมาตีแคว้นหริภุญชัย เมื่อได้ชัยชนะจึงมาสร้างเมืองใหม่ที่ “เชียงใหม่” ขึ้น แต่พระบรมวงศานุวงศ์บางส่วนยังประทับกันอยู่ที่โยนกเชียงแสน
มาถึงรัชสมัยของพญาผายูซึ่งรักษาการณ์อยู่ที่เชียงใหม่ จึงทรงมีพระราชดำริว่าย้ายกลับเชียงแสนดีกว่า แต่ปรากฎว่าเกิดเหตุการณ์ “พญาคำฟู” ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพญาผายูเกิดอุบัติเหตุจมแม่น้ำโขงสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงไปอัญเชิญอัฐิกลับมาไว้ที่เชียงใหม่ แล้วนำมาไว้ที่วัดพระสิงห์…เป็นจุดเริ่มต้นในการบูรณะวัดนี้
แต่…
ความสำคัญของเรื่องราวนั้นอยู่ในรัชสมัยของ “พระยาแสนเมืองมา” ช่วงนั้นมีเหตุการณ์สำคัญ คือ ได้พระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์ มายังอาณาจักรล้านนา เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อ “พญากือนา” สิ้นพระชนม์ “ท้าวมหาพรหม” แห่งโยนกซึ่งเป็นพระเชษฐา ได้ยกทัพมาแย่งพระราชสมบัติจากพระราชนัดดา คือ “พญาแสนเมืองมา” ปรากฏว่ารบแพ้จึงหนีไปอยู่เมืองกำแพงเพชร
แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ๒ องค์ มาขอคืนดีกับพระราชนัดดา โดยมอบ “พระพุทธสิหิงค์” ให้ แล้วนำ “พระแก้วมรกต” ไปประดิษฐานที่เชียงแสน พญาแสนเมืองมาจึงได้ทรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่ “วัดลีเชียง” หรือ “วัดศรีเชียง” ที่หลังจากนั้นชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดพระสิงห์” หรือ “วัดพระพุทธสิหิงค์”
วัดในยุคสมัยล้านนาจะมีส่วนประกอบหลักๆ เป็นขนบในการสร้างคือ ต้องมีเจดีย์ประธานและมีวิหารหลวงอยู่ทางด้านหน้า ส่วนอาคารอื่นๆ จะสร้างแทรกขึ้นมาภายหลังก็ได้ สำหรับวัดพระสิงห์
“เจดีย์ประธาน”
จัดอยู่ในกลุ่มเจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบล้านนา มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมในสมัยครูบาศรีวิชัย ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูบ้านเมือง ตามคติของการสืบศาสนาว่าวัดจะเศร้าหมองชำรุดไม่ได้ น่าเสียดายที่จุดสำคัญบางจุดช่างพื้นบ้านได้ดำเนินการซ่อมแซมจนลักษณะสำคัญเปลี่ยนไป แต่สันนิษฐานว่ารูปแบบเดิมน่าจะคล้ายกับเจดีย์วัดพระธาตุหริภุญชัย ซึ่งเป็นยุคที่เจดีย์ศิลปะล้านนาลงตัวที่สุดแล้ว
ต่อมาในยุคปัจจุบันได้มีการบูรณะโดยกรมศิลปากร ตามหลักฐานจารึกในสมัยพญาติโลกราชเมื่อครั้งสร้างวัดเจดีย์หลวงว่า เจดีย์สำคัญให้หุ้มทองเพื่อแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ เจดีย์สำคัญในล้านนาจึงต้องมีการหุ้มทอง แต่เห็นสีทองๆ นั่นไม่ใช่ว่าเอาสีทองในยุคปัจจุบันมาทานะ แต่เป็นการนำแผ่นทองจังโกมาหุ้ม เดี๋ยวเรื่องทองจังโกนี้จะเล่าอีกทีตอนไปวัดเจดีย์หลวง
“พระอุโบสถ”
สร้างขึ้นสมัยพระเจ้ากาวิละ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๑ มีความเรียบง่ายได้สัดส่วน ลักษณะโดยรวมคือเป็นอาคารทรงเตี้ย มีหลังคาซ้อน ด้านหน้า ๓ ชั้น ด้านหลัง ๒ ชั้น โครงหลังคาประดับด้วยช่อฟ้าและหางหงส์เป็นรูปตัวเหงา บริเวณโก่งคิ้ว และ นาคคะตัน เป็นเครื่องไม้แกะสลักลงรักปิดทอง ด้านหน้ามีมุขยื่นออกมาเพื่อทำเป็นบันไดทางขึ้น
ภายในพระอุโบสถมีลักษณะพิเศษคือ มีมณฑปทรงปราสาทที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้กึ่งกลางอุโบสถ แตกต่างจากอุโบสถทั่วไปที่จะประดิษฐานไว้ที่ผนังด้านในสุด จึงมีผู้สันนิษฐานว่าเนื่องจากมีภิกษุและภิกษุณีที่ต้องทำสังฆกรรมร่วมกันในพระอุโบสถนี้โดยแยกพื้นที่คนละด้าน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าในล้านนาเคยมีภิกษุณี เรื่องนี้จึงอาจเป็นเพียงตำนานที่สร้างขึ้นภายหลัง
วิหารลายคำ
ลายคำ คือ ลายทอง ทางเหนือถ้าเป็นทองคำจะเรียก “คำ” ถ้าเป็นสำริดจึงจะเรียก “ทอง” หรือ “ตอง” เทคนิคในการสร้างลายคำนั้นไม่ได้ได้ซับซ้อนแบบภาคกลาง แต่เป็นไปโดยซื่อๆ คือ แกะลาย ทารัก และปิดทอง
วิหารลายคำเป็นตัวอย่างที่ดีของงานเครื่องไม้ล้านนา ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยพระเจ้ากาวิโรรสสุริยวงศ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๖ แม้จะไปเป็นศาสนคารที่ได้สัดส่วนอย่างล้านนา แต่ก็ได้รับอิทธิพลรัตนโกสินทร์มาด้วย ที่เห็นได้อย่างชัดเจนเป็นต้นว่า ช่อฟ้าที่เป็นหัวนาคสะบัดโค้ง ใบระกาและหางหงส์ที่มีนาค ๕ เศียร ๗ เศียร รวมถึงตัวอาคารที่มีฝาผนังแบบก่ออิฐถือปูนด้วย
ภายในวิหารลายคำประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์”พิศดูวงหน้าท่านมีความ อิ่มกลม อมยิ้มน่ารัก พระวรกายอวบสมบูรณ์ ขัดสมาธิเพชร สังฆาติสั้นปลายตัด เป็นแบบที่เราเรียกว่า “พระพุทธรูปแบบสิงห์ ๑”
ดังที่เล่าไปข้างต้นว่าท้าวมหาพรหมเป็นผู้นำพระสิงห์มาขอคืนดีกับพญาแสนเมืองมา ถ้าใครเคยอ่านตำนาน เรื่องราวจะเล่าว่า “พระพุทธสิหิงค์เกิดขึ้นในลังกา มีพุทธลักษณะงดงามด้วยเทวดามาสร้าง แล้วพระร่วงแห่งสุโขทัยได้ยินกิตติศัพท์ความงามจึงไปขอจากพระเจ้าสิงหล ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ตกน้ำตกทะเลไป แล้ววันดีคืนดีพระสิงห์ท่านก็มาขึ้นที่นครศรีธรรมราช แล้วพระร่วงจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่สุโขทัย ตามท้องเรื่องพระสิงห์ยังต้องผ่านเมืองต่างๆ ทั้งกัมโพช อโยธยา กำแพงเพชร กว่าจะมาได้ประดิษฐานที่เชียงใหม่”
แต่เมื่อพิจารณาพุทธลักษณะของพระพุทธรูปทางประเทศลังกานั้น ไม่พบว่ามีปางขัดสมาธิเพชร มีเพียงขัดสมาธิราบ และที่สำคัญพุทธลักษณะแบบขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย หน้ากลม อมยิ้ม ขมวดพระเกศาใหญ่ รัศมีดอกบัวตูม เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากทางปาละและพุกาม พระสิงห์จึงน่าจะสร้างขึ้นโดยช่างฝีมือล้านนา
แล้วตกลงเรื่องราวไปอย่างไรมาอย่างไร กุญแจสำคัญของเรื่อง คือ ท้าวมหาพรหมนี่เอง สันนิษฐานว่าท่านเป็นผู้จัดสร้างและเขียนตำนานโยงให้เกี่ยวเนื่องกับพุทธกาลเพื่อให้เกิดศรัทธา ดังนั้นโดยอายุหลวงพ่อพระสิงห์จึงอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐
เราในยุคหลังต้องเข้าใจว่าในยุคสมัยที่โลกยังไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ หรือ คาร์บอน ๑๔ ก็ต้องอาศัยตำนานอภินิหารต่างๆ ในการปะติดปะต่อเรื่องราวและสร้างศรัทธานี่เอง
ภายในวิหารลายคำยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ “จิตรกรรมฝาผนัง” เรื่อง “สุวรรณสังข์” ซึ่งเป็นชาดกเรื่องหนึ่งในปัญญาสชาดก ที่เรารู้จักกันดีในบทบาทของเจ้าเงาะแฟนของนางรจนา และ “สุวรรณหงส์” ซึ่งเป็นบทละครนอกที่กว่าจะแฮปปี้เอนดิ้งคนดูเป็นต้องเสียน้ำตากันเป็นลิตร ด้วยความสงสารพระเอกและนางเอก
เพราะเหตุใดช่างจึงได้วาดนิทานพื้นบ้านไว้ในวิหารแทนเรื่องราวพุทธประวัติ หรือ ทศชาติ ที่ดูจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญกว่า…
ก็นิทานพื้นบ้านสไตล์จักรๆ วงศ์ๆ น่ะ มันสื่อสารกับชาวบ้านได้ดี ถ้าเทศน์แต่เรื่องทศชาติชาวบ้านก็อาจจะเบื่อแล้ว แต่พอเป็นเรื่องสังข์ทองมันมีช่วงตอนที่สนุก ตลกขบขัน เมื่อชาวบ้านสนใจ พระจึงค่อยแทรกหลักธรรมเข้าไป
อีกทั้งสมัยก่อนไม่มีโรงเรียน ลูกชาวบ้านก็ต้องอาศัยบวชเรียนให้ได้รู้หนังสือ ครูบาท่านสอนด้วยการให้เณรคัดลอกคัมภีร์ ถ้าให้คัดไตรภูมิกถาเณรก็คงหลับ แต่ถ้าเป็นนิทานพื้นบ้านคัดไปด้วยหัดอ่านไปด้วยก็จะสนุก อยากรู้เรื่องราวในตอนต่อไป เป็นกุศโลบายการเรียนการสอน หลังจากเณรกลับไปยังวัดบ้านเกิดยังได้นำเรื่องราวไปถ่ายทอดต่อ ในภาคเหนือจึงมีหนังสือผูกใบลานชาดกนอกนิบาตอยู่มาก
ช่างเขียนผู้สร้างเรื่องเล่าบนฝาผนังนี้สันนิษฐานว่ามี ๓ กลุ่มสกุลช่าง คือ สกุลช่างไทลื้อ สกุลช่างไทใหญ่ และสกุลช่างไทยวน แต่บางข้อสันนิษฐานก็ชี้ไปที่ภาพอาแปะหนวดเรียวที่แทรกตัวอยู่มุมหนึ่งในภาพจิตรกรรมว่า “เจ็กเส็ง” เป็นคนเขียน แต่ในบันทึกราชสำนักเจ้านายฝ่ายเหนือไม่ได้มีการกล่าวถึงเจ็กเส็งเลย แต่พบว่ากล่าวถึงช่างเขียนคนหนึ่งมีฝีมือมาก ชื่อว่า “หนานน้อย” คนโบราณเวลาวาดภาพจิตรกรรมบนผนังโบสถ์วิหารจะไม่ลงชื่อไว้ ประมาณว่าเป็นการสร้างบุญโดยมีความเชื่อว่าอานิสงส์จะได้ไปเดิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตรย สรุปว่าใครผู้วาดภาพจิตรกรรมวัดพระสิงห์กันแน่จึงยังเป็นความลับต่อไป ต่างจากปัจจุบันที่ต้องทำมาหากินจึงต้องลงทั้งชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ เจ้าศรัทธางานต่อๆ ไปจะได้ตามตัวได้ถูก
นอกเหนือจากเรื่องราวในชาดก สิ่งที่น่าสนใจคือภาพกากต่างๆ ที่มีทั้งอิทธิพลรัตนโกสินทร์ และ อิทธิพลจากพม่า เช่น พวกปราสาทพญาธาตุและเจ้านาย จะแต่งตัวแบบพม่ามีมงกุฎ สวมเสื้อและมีอินธนู พวกข้าราชสำนักจะตัดผมสั้น สวมเสื้อราชปะแตน นางกำนัลไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม นุ่งโจงกระเบน
แต่หากเป็นชาวบ้านจะแต่งตัวแบบคนเมือง ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่น ไว้ผมมวย ผู้ชายนุ่งเตี่ยว มีสักลายตั้งแต่เอวลงไปถึงเข่า อย่างที่เรียกว่า “ลาวพุงดำ” มีภาพวิถีชีวิตเวลาไอ้บ่าวมันจีบสาวด้วยการต่อบุหรี่ขี้โยให้ ก็น่าเอ็นดูอยู่ไม่น้อย