ภายในวัดยังมีศาสนคารที่น่าสนใจอีกหลัง คือ
“หอไตร”
ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหอไตรที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา หอไตรวัดพระสิงห์ถือเป็นวิวัฒนาการของการสร้างหอไตรในระยะหลัง จากเดิมที่หอไตรจะสร้างเป็นโครงสร้างไม้อยู่กลางสระน้ำ เพื่อป้องกันแมลงเข้าไปทำลายคัมภีร์ ภายหลังเมื่อมีเทคโนโลยีปูนเข้ามาจึงพัฒนาเป็นส่วนล่างก่ออิฐถือปูน แล้วส่วนบนเป็นเครื่องไม้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงพอจะกำหนดอายุได้ตร่าวๆ ว่าอยู่ในช่วงพุทธศักราช ๒๓๕๔-๒๔๕๔
แนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างหอไตรนั้น เชื่อมโยงไปถึงความเชื่อว่าพระไตรปิฎกเทียบได้กับธาตุเจดีย์ เพราะพระธรรมถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นการประดิษฐานพระธรรมต้องอยู่ในอาคารที่สื่อถึงสวรรค์ เช่น การประดับฉัตรกลางสันหลังคา เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุและเขาสัตบริภัณฑ์ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ รวมถึงหงส์ที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของสวรรค์ด้วย โดยลักษณะการสร้างศาสนคารแบบนี้พบได้ในพุกาม พม่ายุคหลัง และลาวด้วย
ที่ฐานของหอไตรยังมีงานปูนปั้นเทพชุมนุมที่มาคอยปกปักรักษา ดูคล้ายลักษณะปูนปั้นที่ประดับวัดเจ็ดยอดแต่ได้สัดส่วนกว่า ช่างวัดพระสิงห์จึงน่าจะรับอิทธิพลจากวัดเจ็ดยอดมาสร้างงาน ที่น่ารักอีกอย่างคือสารพัดสัตว์หิมพานต์ที่ประดับอยู่โดยรอบฐานหอไตร มาจากคติเรื่องสัตว์หิมพานต์ที่อาศัยอยู่บริเวณฐานเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ ในความหมายว่าหอไตรหรือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในฐานะของศูนย์กลางจักรวาล
วัดเจดีย์หลวง
อากาศในช่วงปลายเดือนตุลาคมกำลังเย็นสบายเหมาะแก่การเดินเล่นชมเมืองมาก มีวัดหนึ่งในเขตกำแพงเวียงเป็นวัดสำคัญใจกลางเมือง คือ “วัดเจดีย์หลวง” ด้วยระยะทางที่ไม่ไกลนักสามารถเดินไปได้สบายๆ จะเดินไปแล้วแวะพักจิบกาแฟตามคาเฟ่เก๋ๆ ตามรายทางไปด้วยก็ไม่ผิดกติกา หรือใครจะเรียกรับจ้างเพื่อความรวดเร็วจ้วดจ้าดก็ไม่ว่ากัน
ทางเหนือนั้นถ้าสิ่งใดใหญ่เขาจะเรียกว่า “หลวง” เช่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ก็จะเรียกว่า “พระเจ้าตนหลวง” เอาล่ะเข้าเรื่องของเราดีกว่า เรื่องราวของวัดเจดีย์หลวงเริ่มขึ้นเมื่อ “พญาแสนเมืองมา” เสด็จขึ้นครองราชย์แล้วทรงพระสุบินถึง “พญากือนา” ซึ่งเป็นพระราชบิดา ประมาณพ่อก็ตายไปนานแล้วไม่เห็นสร้างอนุสรณ์ให้เลย พญาแสนเมืองมาจึงสร้างเจดีย์พระธาตุเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระราชบิดา แต่ปรากฏว่าสร้างยังไม่ทันเสร็จดีก็สวรรคตเสียก่อน
กระทั่งมาถึงรัชสมัยของ “พญาติโลกราช” จึงได้มาสร้างต่อ แต่เรียกว่า สร้างใหม่จะดีกว่า เพราะประมาณพุทธศักราช ๒๐๒๒ ได้ทรงให้ผู้ช่วยตนสำคัญ คือ “หมื่นด้ามพร้าคด” และ “หมื่นหาญแต่ท้อง” ขยายฐานเจดีย์ให้กว้างและใหญ่ขึ้นกว่าเดิม โดยส่วนฐานกว้างด้านละ ๒๗ วา และ สูง ๔๕ วา
ทำให้เจดีย์ขนาดใหญ่ที่เห็นเบื้องหน้าเราในปัจจุบันนี้ ถ้าจะเรียกว่าเป็นสิ่งก่อสร้างในสมัยพญาติโลกราชก็เห็นจะไม่ผิด ในเอกสารโบราณกล่าวไว้ว่า “ถ้าสร้างเสร็จให้ชื่อวัดราชกูฎ” หมายถึง วัดของพระราชา ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความเป็นเจดีย์สำคัญจึงมีการหุ้มทองจังโก และอาบด้วยน้ำตะโก ในการติดแผ่นทองจังโกนั้นช่างจะใช้วิธีเกาะเกี่ยวประสานกัน ตอกด้วยตะปูสังฆวานร ใช้ฆ้อนตีให้เรียบสม่ำเสมอกัน แล้วปิดทองคำเปลว ๙๒ เปอร์เซนต์ ขึ้นไป ทองคำเปลวนี้จะช่วยรักษารอยเชื่อมตะเข็บอีกต่อหนึ่ง แต่ช่างปัจจุบันทำวิธีแบบโบราณไม่เป็นแล้วจึงใช้วิธีบัดกรีแทน
หลังจากสร้างวัดสร้างเจดีย์เสร็จจึงมีพระราชดำริให้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกต จากวัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง ให้มาประดิษฐานที่นี่ เมื่อสักครู่ตอนไปวัดพระสิงห์เล่าค้างไว้ถึงตำนานท้าวมหาพรหมว่า ได้นำพระแก้วมรกตขึ้นไปไว้เชียงแสน เรื่องราวต่อจากนั้นเก็บไว้มาเล่าต่อที่วัดเจดีย์หลวงนี่เอง เพื่อเสริมอรรถรสในการชมเจดีย์
สมัยโบราณพระมหากษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่จะนิยมสร้างมหาธาตุประจำเมือง ที่จุดศูนย์กลางเมือง โดยเทียบกับศูนย์กลางจักรวาล พญาติโลกราชท่านเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจมากทั้งศาสนจักรและอาณาจักรด้วย ทรงแผ่ขยายอำนาจไปตั้งแต่หลวงพระบาง เชียงรุ้ง ไปถึงศรีสัชนาลัย แล้วยังผนวกเอาเมืองแพร่ และน่าน ให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของล้านนาอีก เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่แห่งยุคก็ว่าได้
คราวนี้กลับมาตามตำนานต่อ หลังจากจากที่ท้าวมหาพรหมสิ้นพระชนม์ พระแก้วมรกตก็สูญหายไป จนมาถึงรัชสมัย “พญาสามฝั่งแกน” ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าติโลกราช ทรงได้รับข่าวว่า ฟ้าผ่าเจดีย์วัดป่าเฮียะพัง แล้วพบพระแก้วมรกตอยู่ในนั้น พญาสามฝั่งแกนจึงทรงให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมายังเวียงเชียงใหม่
แต่ปรากฏว่าช้างไม่ทราบหลงทิศไปอย่างไร เดินไปหยุดที่ลำปาง พระแก้วมรกตจึงได้ไปประดิษฐานอยู่ที่วัดพระแก้วดอนเต้าที่ลำปางอยู่ประมาณ ๓๐ ปี ครั้นพญาติโลกราชขึ้นครองราชสมบัติโดยการปราบดาภิเษก เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่จะสร้างเจดีย์องค์เล็กๆ ก็ไม่สมศักดิ์ศรี
เมื่อวัดเจดีย์หลวงสร้างเสร็จ จึงทรงมีพระราชดำริให้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดเจดีย์หลวง ซึ่งช่องจระนำและฐานที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตยังอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
ส่วนรูปแบบของเจดีย์นั้น เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในสมัยพระนางจิรประภา (สมัยนั้นมีการเรียนบาลีกันจนแตกฉานแล้ว ชื่อจึงไพเราะและดูทันสมัย) ช่วงพุทธศักราช ๒๐๘๘ เจดีย์หลวงได้พังทลายลงมา จนไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับเป็นดังเดิมได้ จึงปล่อยทิ้งไว้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เข้าไปดำเนินการซ่อมแซม
แถมอีกสักหน่อยในช่วงที่พระนางจิรประภารักษาการเชียงใหม่ ได้เชิญให้ “พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช” แห่งหลวงพระบางมาปกครอง เพราะถือได้ว่ามีเชื้อสายล้านนาอยู่ครึ่งหนึ่ง ต่อมา “พระเจ้าโพธิสาร” ซึ่งเป็นพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจึงได้เสด็จกลับหลวงพระบางพร้อมทั้งอัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย ต่อมาจึงได้ไปประดิษฐานที่หอพระแก้วเวียงจันทน์ ถึง ๒๐๐ ปี
จนกระทั่งในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้อัญเชิญจากเวียงจันทน์มาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี และเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และมีการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร พระแก้วมรกตจึงถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังที่เราทราบกันดี
แล้วจากซากปรักหักพัง ทางกรมศิลปากรทราบได้อย่างไรว่าต้องบูรณะออกมาในรูปลักษณะใด คำตอบคือ “รูปสันนิษฐาน”
การจะสร้างรูปสันนิษฐานขึ้นมาได้จะต้องอ้างอิงจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ร่วมกับลักษณะสถาปัตยกรรมที่ร่วมสมัยกัน ซึ่งจากหลักฐานที่เหลืออนู่ เจดีย์หลวงจัดเป็น “เจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา” โดยท่านได้เพิ่มลานประทักษิณเข้ามาที่ส่วนฐาน และประดับด้วยช้างล้อมรอบ อันเป็นคติเรื่องช้างค้ำจุนจักรวาล ที่นิยมมากในสายวิวัฒนาการของเจดีย์ทรงระฆังแบบลังกา
ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุที่มีการประดับซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ทิศ ส่วนของหลังคาทำเป็นชั้นหลังคา ๒ ชั้น เพื่อรองรับส่วนยอด ซึ่งเอกสารในสมัยพญาติโลกราชกล่าวถึงการสร้างเจดีย์หลวงไว้ว่า “ให้ทำเป็นกระพุ่มยอดเดียว”
แม้ว่าส่วนยอดจะพังทลายลงมาจนเหลือเพียงส่วนฐานที่รองรับองค์ระฆังของเจดีย์ แต่เรายังสังเกตได้อย่างหนึ่งคือ รูปแบบสำคัญที่เรียกว่า “ชุดบัวถลาในผังแปดเหลี่ยม” ซึ่งไปคล้ายกับเจดีย์วัดเชียงมั่น
ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน เดี๋ยวเราจะไปดูเจดีย์หลวงขนาดย่อส่วนที่วัดเชียงมั่นกันต่อ