พระแม่ธรณีบีบมวยผม โดยมากจะบีบในท่านั่ง
แต่ที่วัดนี้ยืนบีบน้ำจากมวยผม
กองทัพมารอันห้าวหาญน่ากลัวเกรง
ถูกน้ำจากมวยผมท่วมจนแตกพ่าย
เป็นภาพ “มารผจญ” ที่ดูดุเดือดตื่นเต้นเร้าใจที่สุด
วัดใหญ่สุวรรณารามราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง เป็นวัดเก่าสร้างมาแต่สมัยอยุธยา มีประวัติอันน่าตื่นเต้นเร้าใจ ในสมัยพระเจ้าตากสินใช้เป็นลานประหารชีวิตครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เริ่มต้นด้วยเชลยพม่า ๑,๓๒๘ คน พร้อมนายกอง ๒ คน ชื่อ งุยอะคุงหวุ่น และอุตมสิงหจอจัว ซึ่งจับมาเมื่อคราวตีค่ายบางแก้วที่ราชบุรีแตก ได้เกลี้ยกล่อมให้ไปช่วยตีพิษณุโลกคืนจากพม่า แต่ทั้งหมดปฏิเสธจะรบกับพวกพม่าด้วยกันเอง
ข้อความปรากฏในพงศาวดารราชบุรี ดังนี้
“…มันไม่ภักดีแก่เราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่ เราจะยกไปทำสงคราม ผู้คนอยู่รักษาบ้านเรือนน้อย พวกมันมาก จะแหกคุกออกกระทำจลาจลแก่บ้านเมืองข้างหลัง จะเอาไว้มิได้ให้เอาไปประหารชีวิตเสียในวัดทอง บางกอกน้อยทั้งสิ้น กับทั้งแม่ทัพ อ้ายเรือนพระฝางทั้งสี่คนซึ่งจำไว้ในคุกนั้นด้วย…” เป็นอันว่านักโทษจากการปราบกบฏก๊ก
ภาพจิตรกรรมวัดสุวรรณาราม
งามสมคำร่ำลือ
ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้ บูรณะวัดทอง เพราะชื่อ “วัดทอง” พ้องกับพระนามเดิมว่า “ทองด้วง” โดยสร้างพระอุโบสถใหม่ตามแบบอยุธยาตอนปลาย คือ ฐานแอ่นโค้ง แบบท้องสำเภา เสาเหลี่ยมย่อมุม มีระเบียงด้านหน้าและหลังซึ่งเป็น รูปแบบอุโบสถสมัยรัชกาลที่ ๑ นอกจากนั้น วังหน้า (สมเด็จพระบวร ราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท) ได้สร้างเมรุหลวงถาวร ไว้สำหรับใช้ในการ พระราชทานเพลิงศพ เจ้านายตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าลงมา ขุนนางชั้น ผู้ใหญ่ และพระราชาคณะ มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงรื้อลง ไปสร้างใหม่ ที่วัดสระเกศฯ ปัจจุบันนี้เมรุหลวงอยู่ที่วัดเทพศิรินทร์ฯ เรื่องเมรุหลวง วัดทองนี้ปรากฏในกลอนนิราศพระประธมของสุนทรภู่ว่า
“ถึงวัดทองหมองเศร้าเหงาเงียบ
เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี
มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน”
(ฉิมและนิ่มเป็นน้องสาวต่างมารดา และทั้งคู่เป็นแม่นมของ พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง)
จิตรกรรมอันลือเลื่องในพระอุโบสถนั้นเขียนขึ้นในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเป็นการใหญ่ ขยายเขต วัดให้กว้างขวางขึ้น และระดมช่างเขียนฝีมือเอกมากมายทั้งช่างที่เป็น ภิกษุและฆราวาส ที่ทราบชื่อ เช่น นายมี หรือตามีบ้านบุ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งช่างหลวงยอดฝีมือ ๒ ท่าน คือ ครูทองอยู่(หลวงวิจิตรเจษฎา) และครูคงแป๊ะ (หลวงเสนีย์บริรักษ์) เป็นต้น มาเขียนประชันกันที่วัดทองนี้
เข้าประตูอุโบสถไป ก็กราบพระประธานที่มีชื่อว่า “พระศาสดา” เสียหน่อย พระประธานองค์นี้งามแบบล้านนาอิทธิพลสุโขทัย ฝีมือ เดียวกับ “พระศรีศากยมุนี” ที่วัดสุทัศน์ฯ คงจะเชิญมาจากล้านนา ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นกัน
เบื้องหลังพระประธาน ผนังตอนบนเขียนเป็นภาพสวรรค์ ตาม ความนิยม เป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีเขาสัตบริภัณฑ์เป็นบริวารขนาบอยู่ มีบันไดแก้ว ทอง เงิน ทอดให้พระพุทธเจ้าเสด็จฯ ลงมาสู่ประตูเมือง “สังกัสสะ” หลังจากโปรดพระพุทธมารดา แสดงให้เห็นชีวิตชาวบ้าน และชาววังที่กุลีกุจอจะออกมาใส่บาตรพระพุทธองค์ เป็นการตักบาตรเทโวต้นฉบับที่ของแท้
ภาพจิตรกรรมบนผนังด้านหน้าพระประธานนี่เองที่เป็นภาพจำ ติดตาของวัดสุวรรณาราม ตอนบนระดับเหนือช่องประตูเขียนเป็นภาพ มารผจญตามขนบนิยมทั่วไป (คือ ด้านหลังพระประธานเขียนภาพ สวรรค์ ผนังหน้าเขียนมารผจญ) ภาพมารผจญที่นี่ดูเด่นเห็นชัดมาก พิเศษ ทั้งพระแม่ธรณีและหมู่มาร รวมทั้งสิงสาราสัตว์พาหนะที่ทัพมาร ขี่มาพร้อมนานาศัสตราวุธ จะเขียนตัวขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษ ทัพมารอันน่าเกรงขามพอถูกน้ำที่บีบจากมวยผมพระแม่ธรณีท่วม ก็หกคะเมนติลังกาเรรวนอลหม่าน ผ้าผ่อนหลุดลุ่ยเปิดเปิง ดูสนุกทุก รายละเอียด ส่วนใต้ภาพมารผจญระหว่างช่องประตู เขียนพระพุทธ ประวัติตอนเสด็จฯ ออกมหาภิเนษกรมณ์ ไม่ค่อยมีใครสนใจ เพราะถูก ความเด่นใหญ่ของภาพมารผจญแย่งซีนไปหมด
ผนังด้านข้างทั้งสอง ตอนบนเหนือระดับหน้าต่างเขียนเป็นภาพ เทพชุมนุม นั่งพนมมืออยู่ ๓ ชั้น ถัดลงมา คือ ผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เขียนเป็นทศชาดก หรือสิบพระชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นลำดับดังนี้
เตมิย์ มหาชนก สุวรรณสาม เนมิราช มโหสถ
ภูริทัต จันทกุมาร นารถพรหม วิธูรบัณฑิต เวสสันดร
ย่อเป็นหัวใจให้จำง่ายๆ จะได้สอบไล่ผ่านว่า
เต ชะ สุ เน มะ ภู จะ นา วิ เว