เว หรือเวสสันดรนั้นเขียนเป็นเรื่องยาวเลย เริ่มต้นตั้งแต่ผนังหลัง พระประธาน เริ่มตั้งแต่พระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาค แก่พราหมณ์ แคว้นกาลิงคะ เพื่อแก้ฝนแล้ง เป็นเหตุให้ชาวเมืองไม่ พอใจไปร้องทุกข์กับพระราชบิดาให้ขับพระเวสสันดรไปอยู่ป่า แล้ว เขียนดำเนินเรื่องต่อไปบนผนังด้านขวาของพระประธานจนสุดผนัง ส่วนชาดกอีก ๙ เรื่องที่เหลือ คือ เต…จนถึงวินั้น ใช้ผนังทั้งด้านซ้าย ของพระประธานเรื่องละช่องเดียว
ช่างคนไหนจะเขียนช่องไหน ตอนไหนบ้าง ไม่มีบันทึก เพราะสนใจ อยู่แค่ ๒ ช่องที่เป็นการประชันฝีมือของช่างเขียนคู่เอก คือ ช่องเนมิราช เขียนโดยครูทองอยู่ และช่องมโหสถ เขียนโดยครูคงแป๊ะ กล่าวกันว่า เขียนประชันกันเสมอๆ โดยเขียนอยู่ช่องติดกันเสียด้วย แต่กั้นม่าน มิดชิดไม่ให้เห็นของกันและกันจนกว่าจะเขียนเสร็จ โดยอาศัยแสงจาก ตะเกียง ประชันกันมาหลายวัดแล้ว ไม่ใช่ที่วัดนี้วัดเดียว ที่รู้แน่ๆ ก็คือ ที่วัดอรุณฯ ซึ่งทั้ง ๒ ครูเขียนมโหสถเหมือนกัน โดยแยกเขียนคน ละห้อง คนละเหตุการณ์ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่สูญสิ้นไปกับพระอุโบสถ ที่ถูกไฟไหม้ในรัชกาลที่ ๕ ส่วนที่วัดอื่นๆ ก็ไม่มีผู้ยืนยันมั่นเหมาะ ยกเว้นแต่วัดนี้วัดเดียว