Tuesday, November 12, 2024
ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

แว่วเสียง… ดนตรีไทย บ้างไหม ในใจคุณ

นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 21
เรื่อง: ฬียากร เจตนานุศาสน์
ภาพประกอบ: วิชาญ ชัยรัตน์

แว่วเสียง… ดนตรีไทย

บ้างไหม ในใจคุณ

            ช่วงที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้มีประเด็นร้อนๆ นิดหน่อยเกี่ยวกับเนื้อหาในมิวสิกวิดีโอส่งเสริมการท่องเที่ยวที่นำเอาคณะนักร้องแต่งตัวชุดโขนรามเกียรติ์ ออกมาร้องและแสดงเชิญชวนคนไทยให้ออกมาท่องเที่ยวเมืองไทย จะว่าไปในความคิดเห็นส่วนตัวก็ดูได้เพลินๆ สนุกสนานและน่าสนใจดี เพราะโดยปกติแล้ววรรณคดีเรื่องนี้จะมีเรื่องราวว่าด้วยความเป็นเทพยักษ์หนุมานที่มักนำมาแสดงบนเวทีเท่านั้น ซึ่งก็ทำให้คนทั่วๆ ไปไม่มีโอกาสได้ชมบ่อยครั้งนักดังนั้นเมื่อมีโอกาสสัมผัส แม้ในลีลาที่ต่างออกไป ก็นับว่ามีความร่วมสมัยที่ดึงเอาอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของไทยมาใส่ท่วงทำนองทันสมัยให้คนรุ่นใหม่ติดตาม แต่ก็นั่นแหละ คนที่คิดต่างไปจากนี้ก็มีเป็นเรื่องธรรมดา

            พอเห็นข่าวนี้ก็เลยนึกถึงเรื่องราวของดนตรีไทยขึ้นมาบ้างว่า ในยุคดิจิทัลแบบนี้ยังมีใครลุ่มหลงการฟังดนตรีไทยอยู่มากน้อยแค่ไหน ดนตรีไทยในความหมายถึงเครื่องดนตรีไทยจริงๆ จังๆ ประเภทเครื่องดีด สี ตี เป่า ที่เราเคยเรียนในสมัยเด็กๆ การขับร้องทำนองเสนาะแบบไทยเดิม จะว่าไป หากถามคนรุ่นใหม่แล้วได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ได้ชอบ ไม่เคยฟังหรือฟังแล้วคงหลับ ก็อย่าได้ไปตำหนิเขาเลย ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความชื่นชอบของคนแต่ละรุ่นก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ เรื่องใหม่ๆ ในวันนี้ อีกไม่นานก็กลายเป็น

เรื่องเก่าแล้ว เพียงแต่บางเรื่องเก่าอย่างมีคุณค่า เก่าน่าเก็บ หรือเก่าแล้วควรเก็บทิ้งไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีใครมองเห็นถึงคุณค่าของของเก่านั้นอยู่หรือไม่ และถ้าเราจะพูดถึงเรื่องราวของดนตรีไทย…ก็เช่นกัน หากยังมีคนเห็นถึงความสำคัญ มีการนำออกมาเล่น มาแสดงอยู่ มีคนที่ยังต้องการชมต้องการฟังอยู่ ดนตรีไทยก็ไม่น่าจะหายจากไปไหน…เช่นเดียวกับชุดรามเกียรติ์นั่น ที่ยังมีคนนึกถึง นำออกมาโลดแล่นให้คนได้ชมในอีกลีลาที่แม้จะต่างออกไป หากว่าเพียงแค่มีคนชมแล้วชื่นชอบ รามเกียรติ์ก็ยังคงไม่หายจากไปเช่นกัน


กำเนิดดนตรีไทย

            มาเข้าถึงเรื่องของดนตรีไทยตามเนื้อหาของคอลัมน์นี้กันดีกว่าจากการสันนิษฐานของผู้รู้ทางด้านดนตรีไทย โดยการพิจารณาหาเหตุผลเกี่ยวกับกำเนิดหรือที่มาของดนตรีไทย มีผู้เสนอความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้ ๒ ทัศนะที่แตกต่างกัน ทัศนะที่หนึ่งสันนิษฐานว่าดนตรีไทยได้แบบอย่างมาจากอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอารยธรรมต่างๆ ของอินเดียได้เข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศต่างๆ ในแถบเอเชียอย่างมาก ทั้งในด้านศาสนา ประเพณี ความเชื่อ ตลอดจนศิลปะแขนงต่างๆโดยเฉพาะทางด้านดนตรี ปรากฏรูปร่างลักษณะเครื่องดนตรีของประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย เช่น จีน เขมร พม่า อินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีลักษณะคล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก ทั้งนี้เนื่องมาจากประเทศเหล่านั้นต่างก็ยึดแบบฉบับดนตรีของอินเดียเป็นบรรทัดฐาน รวมทั้งไทยเราด้วย

จะเข้
เป็นเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องดีด มี ๓ สาย การเล่นจะเข้คือนำมาวางดีดกับพื้นเพื่อความสะดวก จะเข้ได้นำเข้าร่วมบรรเลงอยู่ในวงมโหรีคู่กับกระจับปี่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เหตุผลสำคัญที่ท่านผู้รู้ได้เสนอทัศนะนี้ก็คือลักษณะของเครื่องดนตรีไทยที่จำแนกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า ซึ่งใกล้เคียงกับลักษณะเครื่องดนตรีอินเดียตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ ‘สังคีตรัตนากร’ ของอินเดีย ซึ่งจำแนกเป็น ๔ ประเภทเช่นกัน ได้แก่ ตะตะ คือเครื่องดนตรีประเภทมีสาย สุษิระ คือเครื่องเป่า อะวะนัทธะหรืออาตตะ คือเครื่องหุ้มหนัง หรือกลองต่างๆ ฆะนะคือเครื่องตี หรือเครื่องกระทบ

            การสันนิษฐานเกี่ยวกับกำเนิดหรือที่มาของดนตรีไทยตามแนวทัศนะข้อนี้เป็นทัศนะที่มีมาแต่เดิมนับตั้งแต่มีผู้สนใจ และได้ทำการค้นคว้าหาหลักฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้น และนับว่าเป็นทัศนะที่ได้รับการนำมากล่าวอ้างกันมาก บุคคลสำคัญที่เป็นผู้เสนอแนะแนวทางนี้คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งวงการประวัติศาสตร์ของไทย

บัณเฑาะว์
เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองมาจากอินเดีย มีลักษณะหัวและท้ายใหญ่ ตรงกลางคอดกลองชนิดนี้ไม่ใช้ตีด้วยไม้ด้วยมือแต่ใช้วิธีพลิกข้อมือกลับไปกลับมาให้ลูกตุ้มที่ปลายเชือกกระทบหนังหน้ากลองทั้งสองด้าน ในประเทศไทย บัณเฑาะว์ใช้เป็นเครื่องให้จังหวะในการบรรเลงประกอบ “ขับไม้” ในงานพระราชพิธี เช่น ขับกล่อมสมโภชพระมหาเศวตฉัตรสมโภชพระยาช้างเผือกและช้างสำคัญ เรียกว่า “ขับไม้บัณเฑาะว์” โดยอาจใช้บัณเฑาะว์ลูกเดียว หรือใช้บัณเฑาะว์ ๒ ลูก ไกวพร้อมกันทั้งสองมือ

            ส่วนในอีกทัศนะ สันนิษฐานว่าดนตรีไทยเกิดจากความคิดและสติปัญญาของคนไทย เกิดขึ้นมาพร้อมกับคนไทยตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนแล้ว ทั้งนี้เนื่องจากดนตรีเป็นมรดกของมนุษยชาติทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีดนตรีซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนด้วยกันทั้งนั้น แม้ว่าในภายหลังจะมีการรับเอาแบบอย่างดนตรีของต่างชาติเข้ามาก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเข้ามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับลักษณะและนิสัยทางดนตรีของคนในชาตินั้นๆ ซึ่งสำหรับไทยเราตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ก็คงจะมีดนตรีของเราเองเกิดขึ้นแล้ว ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้ว่า เครื่องดนตรีดั้งเดิมของไทยจะมีชื่อเรียกเป็นคำโดด ซึ่งเปน็ ลกั ษณะของคำไทยแท้ เช่นเกราะ โกร่ง กรับ ฉาบ ฉิ่ง ปี่ ขลุ่ย ฆ้อง กลอง เป็นต้น

            ต่อมาเมื่อไทยอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานในแถบแหลมอินโดจีนจึงได้มาพบวัฒนธรรมแบบอินเดีย โดยเฉพาะเครื่องดนตรีอินเดีย ซึ่งชนชาติมอญและเขมรรับไว้ก่อนที่ไทยจะอพยพเข้ามา ด้วยเหตุนี้ชนชาติไทยซึ่งมีนิสัยทางดนตรีอยู่แล้วจึงรับเอาวัฒนธรรมทางดนตรีแบบอินเดีย ผสมกับแบบมอญและเขมรเข้ามาผสมกับดนตรีที่มีมาแต่เดิมของตน จึงเกิดเครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก ได้แก่ พิณ สังข์ ปี่ไฉน บัณเฑาะว์ กระจับปี่และจะเข้ เป็นต้น

            ต่อมาเมื่อไทยตั้งถิ่นฐานอยู่ในแหลมอินโดจีนอย่างมั่นคงแล้ว ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในแหลมอินโดจีน หรือแม้แต่กับประเทศทางตะวันตกบางประเทศที่เข้ามาติดต่อค้าขาย ทำให้ไทยรับเอาเครื่องดนตรีบางอย่างของประเทศต่างๆ เหล่านั้นมาใช้เล่นในวงดนตรีไทยด้วย เช่น กลองแขก ปี่ชวาของชวา (อินโดนีเซีย) กลองมลายูของมลายู (มาเลเซีย) เปิงมาง ตะโพนมอญ ปี่มอญ และฆ้องมอญของมอญ กลองยาวของพม่า ขิม ม้าล่อของจีน กลองมริกัน (กลองของชาวอเมริกัน) เปียโน ออร์แกนและไวโอลินของประเทศทางตะวันตก เป็นต้น


สมัยสุโขทัย

            นับตั้งแต่ไทยได้มาตั้งถิ่นฐานในแหลมอินโดจีนและก่อตั้งอาณาจักรไทยขึ้น จึงเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งประวัติศาสตร์ไทยที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวคือ เมื่อไทยสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นและหลังจากที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้แล้ว นับตั้งแต่นั้นมาจึงปรากฏหลักฐานด้านดนตรีไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งในหลักศิลาจารึก หนังสือวรรณคดี และเอกสารทางประวัติศาสตร์ในแต่ละยุค ซึ่งสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาถึงความเจริญและวิวัฒนาการของดนตรีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา จนกระทั่งเป็นแบบแผนดังปรากฏในปัจจุบัน

            สมัยสุโขทัย ดนตรีไทยมีลักษณะเป็นการขับลำนำและร้องเล่นกันอย่างพื้นเมือง เกี่ยวกับเครื่องดนตรีไทยในสมัยนี้ ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงไว้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งเป็นหนังสือวรรณคดีที่แต่งในสมัยนั้น ได้แก่ แตร สังข์ มโหระทึก ฆ้อง กลอง ฉิ่ง แฉ่ง (ฉาบ) บัณเฑาะว์ พิณ ซอพุงตอ (สันนิษฐานว่าคือ ซอสามสาย) ปี่ไฉน ระฆัง และกังสดาล เป็นต้น ลักษณะการผสมวงดนตรีก็ปรากฏหลักฐานทั้งในศิลาจารึกและหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึง ‘เสียงพาทย์ เสียงพิณ’ ซึ่งจากหลักฐานที่กล่าวนี้ สันนิษฐานว่าวงดนตรีไทยในสมัยสุโขทัยมีดังนี้

ปี่ชวา
เป็นเครื่องเป่าที่กำเนิดเสียงจากการสั่นสะเทือนของลิ้นปี่สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลและดัดแปลงมาจากปี่ไฉนของอินเดียโดยเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีสำคัญต่างๆ แต่ครั้งอยุธยาตอนต้น เช่น กระบวนพยุหยาตรา การรำอาวุธ กระบี่ กระบอง รำกริช หรือเข้าไปประสมในวงปี่พาทย์นางหงส์ วงปี่ชวากลองแขก (วงบัวลอย)ซึ่งใช้เฉพาะพิธีศพ เป็นต้น

๑. วงบรรเลงพิณ มีผู้บรรเลง ๑ คน ทำหน้าที่ดีดพิณและขับร้องไปด้วย เป็นลักษณะของการขับลำนำ

๒. วงขับไม้ ประกอบด้วยผู้บรรเลง ๓ คน คือ คนขับลำนำ ๑ คน คนสีซอสามสายคลอเสียงร้อง ๑ คนและคนไกวบัณเฑาะว์ให้จังหวะ ๑ คน

๓. วงปี่พาทย์ เป็นลักษณะของวงปี่พาทย์เครื่อง ๕มี ๒ ชนิด คือ อย่างแรก วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างเบาประกอบด้วยเครื่องดนตรีชนิดเล็กๆ จำนวน ๕ ชิ้น คือปี่ กลองชาตรี ทับ (โทน) ฆ้องคู่ และฉิ่ง ใช้บรรเลงประกอบการแสดง ละครชาตรี (เป็นละครเก่าแก่ที่สุดของไทย) อย่างที่สองคือ วงปี่พาทย์เครื่องห้าอย่างหนัก ประกอบด้วยเครื่องดนตรีจำนวน ๕ ชิ้น คือ ปี่ในฆ้องวง (ใหญ่) ตะโพน กลองทัด และฉิ่ง ใช้บรรเลงประโคมในงานพิธีและบรรเลงประกอบการแสดงมหรสพต่างๆ จะเห็นว่าวงปี่พาทย์เครื่องห้าในสมัยนี้ยังไม่มีระนาดเอก

๔. วงมโหรี เป็นลักษณะของวงดนตรีอีกแบบหนึ่งที่นำเอาวงบรรเลงพิณกับวงขับไม้มาผสมกัน เป็นลักษณะของวงมโหรีเครื่องสี่ เพราะประกอบด้วยผู้บรรเลง ๔ คน คือ ๑. คนขับลำนำและตีกรับพวงให้จังหวะ ๒. คนสีซอสามสายคลอเสียงร้อง ๓. คนดีดพิณ และ ๔. คนตีทับ (โทน) ควบคุมจังหวะ


สมัยอยุธยา

            หลักฐานเกี่ยวกับดนตรีไทยในสมัยนี้ ในกฎมณเฑียรบาลซึ่งระบุชื่อเครื่องดนตรีไทยเพิ่มขึ้นจากที่เคยระบุไว้ ในหลักฐานสมัยสุโขทัยจึงน่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่เพิ่งเกิดในสมัยนี้ ได้แก่ กระจับปี่ ขลุ่ย จะเข้และรำมะนา นอกจากนี้ในกฎมณเฑียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๐๓๑) ปรากฏข้อห้ามตอนหนึ่งว่า

“…ห้ามร้องเพลงเรือ เป่า ขลุ่ย เป่าปี่ สีซอ ดีดกระจับปี่ ดีดจะเข้ ตีโทนทับ ในเขตพระราชฐาน…” ซึ่งแสดงว่าสมัยนี้ดนตรีไทยเป็นที่นิยมกันมาก แม้ในเขตพระราชฐานก็มีคนไปร้องเพลงและเล่นดนตรีกันเป็นที่เอิกเกริก จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ต้องทรงออกกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวขึ้นไว้ เกี่ยวกับลักษณะของวงดนตรีไทยในสมัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาขึ้นกว่าในสมัยสุโขทัย คือ

ตะโพน
เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองตัวตะโพนเรียกว่า “หุ่น” ทำด้วยไม้เนื้อแข็ง ขุดแต่งให้เป็น โพรงภายในขึ้นหนังสองหน้า ตรงกลางป่องและสอบไปทางหน้าทั้งสอง ตะโพนใช้บรรเลงผสมอยู่ในวงปี่พาทย์ทำหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับต่าง

            วงปี่พาทย์ ในสมัยนี้ก็ยังคงเป็นวงปี่พาทย์เครื่องห้าเช่นเดียวกับในสมัยสุโขทัย แต่มีระนาดเอกเพิ่มขึ้นดังนั้น วงปี่พาทย์เครื่องห้าในสมัยนี้ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังต่อไปนี้ ได้แก่ ระนาดเอก ปี่ใน ฆ้องวง (ใหญ่) กลองทัด ตะโพน

            และฉิ่งและยังมีวงมโหรี ในสมัยนี้พัฒนามาจากวงมโหรีเครื่องสี่ในสมัยสุโขทัย เป็นวงมโหรีเครื่องหก เพราะได้เพิ่มเครื่องดนตรีเข้ามาอีก ๒ ชิ้น คือ ขลุ่ยและรำมะนา ทำให้วงมโหรีในสมัยนี้ประกอบด้วยเครื่องดนตรีจำนวน ๖ ชิ้น คือซอสามสาย กระจับปี่ (แทนพิณ) ทับ (โทน) รำมะนา ขลุ่ย และกรับพวง


สมัยธนบุรี

            เนื่องจากในสมัยนี้เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียง ๑๕ ปี และประกอบกับเป็นสมัยแห่งการก่อร่างสร้างเมืองและการป้องกันประเทศเสียโดยมาก วงดนตรีไทยในสมัยนี้จึงไม่ปรากฏหลักฐานไว้ว่ามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงขึ้น สันนิษฐานว่ายังคงเป็นลักษณะและรูปแบบของดนตรีไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเอง


สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

            เมื่อบ้านเมืองได้ผ่านพ้นจากภาวะศึกสงครามและมีการก่อสร้างเมืองให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น เกิดความสงบร่มเย็นโดยทั่วไปแล้ว ศิลปวัฒนธรรมของชาติก็ได้รับการฟื้นฟูทะนุบำรุงและส่งเสริมให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น โดยเฉพาะทางด้านดนตรีไทย ในสมัยนี้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเจริญขึ้นเป็นลำดับ

            สมัยรัชกาลที่ ๑ ดนตรีไทยส่วนใหญ่ยังคงมีลักษณะและรูปแบบตามที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่พัฒนาขึ้นบ้างในสมัยนี้ก็คือ การเพิ่มกลองทัดขึ้นอีก ๑ ลูกในวงปี่พาทย์ ซึ่งแต่เดิมมีแค่ ๑ ลูก รวมมีกลองทัด ๒ ลูก มีเสียงสูง (ตัวผู้) ลูกหนึ่ง และเสียงต่ำ (ตัวเมีย) ลูกหนึ่ง และการใช้กลองทัด ๒ ลูกในวงปี่พาทย์นี้ก็เป็นที่นิยมกันมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

            สมัยรัชกาลที่ ๒ อาจกล่าวว่าในสมัยนี้เป็นยุคทองของดนตรีไทยยุคหนึ่ง ทั้งนี้เพราะองค์พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยดนตรีไทยเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางดนตรีไทยถึงขนาดที่ทรงดนตรีไทยคือซอสามสายได้ มีซอคู่พระหัตถ์ชื่อว่า ‘ซอสายฟ้าฟาด’ ทั้งพระองค์ได้พระราชนิพนธ์เพลงไทยขึ้นเพลงหนึ่ง เป็นเพลงที่ไพเราะและอมตะมาจนบัดนี้นั่นก็คือเพลง ‘บุหลันลอยเลื่อน’

            การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของดนตรีไทยในสมัยนี้ก็คือ มีการนำเอาวงปี่พาทย์มาบรรเลงประกอบการขับเสภาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีกลองชนิดหนึ่งเกิดขึ้นโดยดัดแปลงจาก ‘เปิงมาง’ ของมอญ ต่อมาเรียกกลองชนิดนี้ว่า ‘สองหน้า’ ใช้ตีกำกับจังหวะแทนเสียงตะโพนในวงปี่พาทย์ประกอบการขับเสภา เนื่องจากเห็นว่าตะโพนดังเกินไปจนกลบเสียงขับ กลองสองหน้านี้ ปัจจุบันนิยมใช้ตีกำกับจังหวะหน้าทับในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง

ซอด้วง เป็นซอสองสาย
มีเสียงแหลม ก้องกังวาน แต่เดิมใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำ ส่วนกะโหลกของซอด้วงนี้ในปัจจุบันใช้ไม้จริง หรืองาช้างทำก็ได้

            สมัยรัชกาลที่ ๓ วงปี่พาทย์พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ เพราะได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มมาคู่กับระนาดเอก และประดิษฐ์ฆ้องวงเล็กมาคู่กับฆ้องวงใหญ่

            สมัยรัชกาลที่ ๔ วงปี่พาทย์ได้พัฒนาขึ้นเป็นวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ เพราะมีการประดิษฐ์เครื่องดนตรีเพิ่มขึ้นอีก ๒ ชนิดเลียนแบบระนาดเอกและระนาดทุ้มโดยใช้โลหะทำลูกระนาดและทำ รางระนาดใหแ้ ตกตา่ งไปจากรางระนาดเอกและระนาดทุ้ม (ไม้) เรียกว่าระนาดเอกเหล็กและระนาดทุ้มเหล็ก นำมาบรรเลงเพิ่มในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ทำให้ขนาดของวงปี่พาทย์ขยายใหญ่ขึ้นจึงเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ อนึ่ง ในสมัยนี้วงการดนตรีไทยนิยมการร้องเพลงส่งให้ดนตรีรับหรือที่เรียกว่า ‘การร้องส่ง’ กันมาก จนกระทั่งการขับเสภาซึ่งเคยนิยมกันมาก่อนค่อยๆ หายไป และการร้องส่งก็เป็นแนวทางให้มีผู้คิดแต่งขยายเพลง ๒ ชั้นของเดิมให้เป็นเพลง ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว จนกระทั่งกลายเป็นเพลงเถาในที่สุด (นับว่าเพลงเถาเกิดขึ้นมากมายในสมัยนี้) นอกจากนี้วงเครื่องสายก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน

            สมัยรัชกาลที่ ๕ มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นใหม่ชนิดหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกว่า ‘วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์’ โดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบการแสดง ‘ละครดึกดำบรรพ์’ ซึ่งเป็นละครที่เพิ่งปรับปรุงขึ้นในสมัยรัชกาลนี้เช่นกัน หลักการปรับปรุงของท่านก็โดยการตัดเครื่องดนตรีชนิดเสียงเล็กแหลมหรือดังเกินไปออก คงไว้แต่เครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้ม นุ่มนวล กับเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้ามาใหม่ เครื่องดนตรีในวงป่พี าทย์ดึกดำบรรพ์จึงประกอบด้วยระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้มระนาดทุ้มเหล็ก ขลุ่ย ซออู้ ฆ้องหุ่ย (ฆ้อง ๗ ใบ) ตะโพน กลองตะโพน และเครื่องกำกับจังหวะ

อังกะลุง
กำเนิดจากประเทศชวา ทำด้วยไม้ไผ่เป็นท่อนๆ และเข้ามาในประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีการพัฒนาอังกะลุงโดยลดขนาดให้เล็กและเบาลง เพิ่มเสียงจนครบ ๗ เสียง และได้พัฒนาการบรรเลงจากการไกวเปน็ การเขยา่ แทน นบั วา่ เป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน

            สมัยรัชกาลที่ ๖ มีการปรับปรุงวงปี่พาทย์ขึ้นมาอีกชนิด โดยนำวงดนตรีของมอญมาผสมกับวงปี่พาทย์ของไทย ต่อมาเรียกวงดนตรีผสมนี้ว่า ‘วงปี่พาทย์มอญ’ โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นผู้ปรับปรุงขึ้น วงปี่พาทย์มอญดังกล่าวนี้ก็มีทั้งวงปี่พาทย์มอญเครื่องห้า เครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ เช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ของไทย และกลายเป็นที่นิยมใช้บรรเลงประโคมในงานศพมาจนกระทั่งบัดนี้นอกจากนี้ยังได้มีการนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมกับวงดนตรีไทย บางชนิดก็นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องดนตรีของไทย ทำให้รูปแบบของวงดนตรีไทยเปลี่ยนแปลงพัฒนาดังนี้

            การนำเครื่องดนตรีของชวาหรืออินโดนีเซีย คือ ‘อังกะลุง’ มาเผยแพร่ในเมืองไทยเป็นครั้งแรก โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทั้งนี้โดยนำมาดัดแปลงปรับปรุงขึ้นใหม่ให้มีเสียงครบ ๗ เสียง (เดิมมี ๕ เสียง) ปรับปรุงวิธีการเล่นโดยถือเขย่าคนละ ๒ เสียง ทำให้เครื่องดนตรีชนิดนี้กลายเป็นเครื่องดนตรีไทยอีกอย่างหนึ่งเพราะคนไทยสามารถทำอังกะลุงได้เอง อีกทั้งวิธีการบรรเลงก็เป็นแบบเฉพาะของเรา แตกต่างไปจากของชวาโดยสิ้นเชิง การนำเครื่องดนตรีของต่างชาติเข้ามาบรรเลงผสมในวงเครื่องสาย ได้แก่ ขิมของจีน และออร์แกนของฝรั่งทำให้วงเครื่องสายพัฒนารูปแบบของวงไปอีกลักษณะหนึ่ง คือ ‘วงเครื่องสายผสม’

ระนาดเอก
วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลายๆ อันวางเรียงราย แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกันแล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่างๆ กันนั้นให้ติดกันและขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้นให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้นเรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆ กันนั้นว่าลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน ระนาดเอกใช้ในงานมงคลเป็นเครื่องดนตรีเป็นมงคลในบ้าน บรรเลงในวงปี่พาทย์และวงมโหรีโดยทำหน้าที่เป็นผู้นำวง

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล
ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ
เขานั้นเหมาะคิดกบฎอัปลักษณ์
ฤๅอุบายเล่ห์ร้ายขมังนัก
มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
อีกดวงใจย่อมดำสกปรก
ราวนรกเช่นกล่าวมานี่
ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้
เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ”

พระราชนิพนธ์แปลในรัชกาลที่ ๖
(จากต้นฉบับของวิลเลียม เชกสเปียร์)

            อาจกล่าวสรุปได้ว่า จากสมัยสุโขทัยสืบต่อมาสมัยอยุธยาจนถึงปัจจุบัน ดนตรีไทยจัดเป็นดนตรีที่มีแบบแผนหรือดนตรีคลาสสิก (Classic Music) เครื่องดนตรีไทยนั้น กรมศิลปากรจำแนกไว้รวมทั้งสิ้น ๕๖ ชนิด ประกอบด้วยเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องดีด และเครื่องสี ซึ่งเครื่องดนตรีไทยที่นิยมใช้กันมาก มีดังนี้

  • เครื่องดีด ได้แก่ พิณน้ำเต้า พิณ เพ้ย กระจับปี่ ซึง จะเข้
  • เครื่องสี ได้แก่ ซอด้วง ซออู้ ซอสามสาย ซอล้อ
  • เครื่องตีประเภทไม้ ได้แก่ เกราะ โกร่ง กรับ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม เครื่องตีที่ทำด้วยโลหะ ได้แก่ ระนาดเอกเหล็ก ระนาดทุ้มเหล็ก ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ฆ้อง หุ่ย และเครื่องตีที่ทำด้วยหนัง ได้แก่ กลองทุกประเภท
  • เครื่องเป่า ได้แก่ ขลุ่ย ปี่ แคน แตร สังข์ เป็นต้น

            จากเรื่องราวความเป็นมาของดนตรีไทย ผ่านยุคสมัย ผ่านกาลเวลามายาวนานนั้น มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลง และการแต่งตัวใหม่ๆ ให้วงดนตรีไทยมีสีสัน มีการผสมผสานกับเครื่องดนตรีชิ้นใหม่ๆ จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะเราว่าเรื่องราวของเสียงดนตรีนั้นเป็นเรื่องราวสากล แม้ชนทุกชาติ หากได้ฟังเสียงของดนตรีชาติใดก็อาจมีความซาบซึ้ง สนุก หรือสัมผัสได้ถึงความไพเราะได้ไม่ต่างกัน ดนตรีคือสื่อสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่ไม่มีตัวแปรใดมากางกั้น เว้นแต่หัวใจที่ปิดกั้น…เท่านั้นเอง


About the Author

Share:
Tags: ระนาด / ดนตรีไทย / ฉบับที่ 21 / ดนตรี / ปี่ / ฆ้องวง / กลองทัด / ตะโพน / ขลุ่ย / ซอสามสาย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ