ประเภทของเครื่องแขวน และลวดลายอันวิจิตร
เครื่องแขวนดอกไม้แบ่งได้ ๒ ประเภท คือ เครื่องแขวน ๒ มิติ ได้แก่ บันไดแก้ว ตาข่ายหน้าช้าง กลิ่นตะแคงกลิ่นจีน กลิ่นจระเข้ วิมานพระอินทร์ วิมานแท่น เป็นต้นและเครื่องแขวน ๓ มิติ ได้แก่ พู่กลิ่น ระย้าแปลง พวงแก้วโคมจีน โคมหวด โคมฝรั่ง พวงแก้ว พวงกลาง เป็นต้น เครื่องแขวนดอกไม้สดมีรูปแบบที่หลากหลายเพิ่มขึ้นจากการปรับรับนำอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมตะวันตกมาผสมผสานกับงานดอกไม้สดไทย ทำให้เกิดเครื่องแขวนโคมจีน ซึ่งมีที่มาจากโคมจีน และเครื่องแขวนโคมฝรั่ง พวงกลาง ระย้า ซึ่งมีที่มาจากแชนเดอร์เลีย
ดอกไม้ที่นำมาประดิษฐ์เครื่องแขวนในอดีตมักประกอบด้วยดอกรัก ดอกพุด ดอกบานไม่รู้โรย จำปี และจำปา ช่างดอกไม้จึงต้องมีความรู้เรื่องธรรมชาติและการเก็บรักษาดอกไม้แต่ละชนิด เมื่อช่างคัดสรรดอกไม้ให้เหมาะสมตามโอกาสต่างๆ แล้ว จึงเริ่มประดิษฐ์เครื่องแขวนโดยสร้างโครงที่มั่นคง เครื่องแขวนที่มีขนาดเล็กเป็น ๒ มิติ โครงอาจทำจากก้านลาน หรือก้านไม้ไผ่ หากเป็นเครื่องแขวนขนาดใหญ่ ๓ มิติจึงเริ่มผูกขึ้นโครงด้วยลวดร้อยตาข่าย ประกอบสวนหรือเซ็น คือการนำดอกไม้ หรือใบก้ามปูมาเย็บบนกาบกล้วย หรือนำใบตองแถบยาวมาถักเพื่อปิด โครงเครื่องแขวนที่ห้มุด้วยผ้าไว้อีกชั้นหนื่ง ต่อมาจึงประกอบอุบะประดับเฟื่องและแบบ หรือที่เรียกว่าทัดหู