ลวดลายการถักตาข่ายคำนึงถึงความสมดุล ความพอดี การถักตาข่ายด้วยดอกมะลิหรือดอกพุดนั้นมีลวดลายที่หลากหลาย แตกต่างกันตามจินตนาการของช่างดอกไม้ เช่น ลายแก้วชิงดวง ลายพระจันทร์เสี้ยว ลายกำแพงแก้ว ลายดาวใกล้เดือน ลายดาวล้อมเดือน ลายพระอาทิตย์ชิงดวง ลายกระเบื้อง ลายดาวกระจาย ลายอกแมงมุม ซึ่งแสดงถึงความชาญฉลาดของกุลสตรีชั้นสูงในอดีตที่สร้างสรรค์ลวดลายจากธรรมชาติจนเกิดเป็นงานประดับตกแต่งอันวิจิตรงดงาม
เมื่อถักตาข่ายเสร็จสมบูรณ์ เปรียบเสมือนหญิงสาวที่ยังไม่ได้แต่งตัว จึงประดิษฐ์เครื่องแต่งตัวเพิ่มเติมให้งดงาม โดยประกอบอุบะ ทัดหู และเฟื่อง เมื่อแต่งตัวเครื่องแขวนเสร็จสมบูรณ์จึงนำไปประดับบริเวณช่องประตู ช่องหน้าต่าง เพื่อเพิ่มความงดงามให้กับสถานที่ต่างๆ แล้วยามดอกไม้หอมใเครื่องแขวนต้องลมทำให้ผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นเกิดความผ่อนคลาย
วิถีทางงานเครื่องแขวนดอกไม้สยามในปัจจุบัน
ในปัจจุบันผู้ที่เข้ามาฝึกหัดงานเครื่องแขวนมีจำนวนน้อยลง และเริ่มใช้ดอกไม้จากผ้าและพลาสติกกันมากขึ้นเนื่องด้วยวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนจากอดีต หากแต่ยังคงมีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาบางแห่ง เช่น โรงเรียนช่างฝีมือในวังหญิง อย่างไรก็ตามช่างดอกไม้ต้องมีความรู้ในวิธีการประดิษฐ์ที่หลากหลาย ทั้งการกรอง การมัดการถัก การร้อย การเย็บ งานเครื่องแขวนเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความละเอียดประณีต และการฝึกฝนจนเกิดความชำนาญ จนสามารถสร้างชิ้นงานเครื่องแขวนที่แสดงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ การประดิษฐ์เครื่องแขวนถือเป็นการสืบทอด สืบสานภูมิความรู้งานช่างดอกไม้ให้คงอยู่คู่แผ่นดินสืบต่อไป
ขอขอบคุณ
• อาจารย์ ดร.ศรัณย์ มะกรูดอินทร์, อาจารย์ศักรินทร์ หงส์รัตนวรากิจ
ที่ปรึกษาด้านข้อมูล
• อาจารย์ฐิพรรัศม์ อิ่มสวาวดิ์, คุณชยสิริ วิชยารักษ์, คุณพิชัย ยินดีน้อย, คุณภคพล มากระโทก, คุณรสิตา คงภักดี เอื้อเฟื้อภาพ
เรื่อง : ศิริพร รัตนพานิช