เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ประเทืองค่อยๆสั่งสมชื่อเสียงเรื่อยมา จนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ ประเทืองได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ จิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. 2548 เป็นศิลปินแห่งชาติสาขานี้เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ศึกษาด้วยตนเองเองแบบครูพักลักจำ ไม่เคยมีโอกาสได้ร่ำเรียนศิลปะจากสถาบันใดๆ
ในอดีตสมัยที่ประเทืองเริ่มขายผลงานได้ ราคาภาพแต่ละชิ้นยังน้อยนิดแทบไม่พอค่าสี เช่นภาพ ‘ครอบครัว’ ที่ถูกซื้อไปในราคาหลักพันสู่มือนักสะสมชาวอเมริกันเมื่อ พ.ศ. 2512 คนละเรื่องกับวันนี้ที่มูลค่าผลงานศิลปะของประเทืองทวีคูณขึ้นไปมากกว่า 1000 เท่า ดังเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ภาพวาดชิ้นย่อมๆขนาดไม่ถึงเมตรจากยุคที่เริ่มวาดแสงของประเทืองถูก คริสตี้ส์ สถาบันการประมูลระดับโลกขายไปในราคาเกือบ 5 ล้านบาทในขณะที่ผลงานชิ้นใหญ่ขนาด 5 เมตรถูกขายไปสู่นักสะสมชาวต่างชาติในราคาราว 20 ล้านบาท หลังจากนั้นเทรนด์ความนิยมก็ยังร้อนแรงไม่แผ่ว ด้วยรูปลักษณ์ของผลงานที่ยังดูทันสมัย แม้กาลเวลาจะผ่านไปกลับยิ่งดูเข้มขลัง แถมเนื้อหาภาพยังดูเป็นสากล เข้ากับพื้นที่จัดแสดงที่ไหนของโลกได้อย่างไม่เคอะเขิน และที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจอันสูงส่งของศิลปินซึ่งผู้ชมต่างสัมผัสได้หากมีโอกาสเห็นผลงานจริงตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้าปรากฏการณ์แสนวิเศษเยี่ยงนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะประเทืองได้เดิมพันทั้งชีวิต ทั้งจิตวิญญาณให้กับศิลปะแบบเทหมดหน้าตักจริงๆ