นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 61
เรื่อง: ศิริวรรณ เต็มผาติ
แข็งแกร่งทว่าบอบบาง เป็นศิลปะและเป็นวิทยาศาสตร์ เปี่ยมด้วยจินตนาการและมากล้นด้วยเทคนิค นี่คือเรื่องราวของศิลปะการเป่าแก้วด้วยมือที่ย้อนอดีตไปไกลได้มากกว่า ๔,๐๐๐ ปี
ตามบันทึกที่มีไว้ ว่ากันว่า ‘แก้ว’ เป็นสิ่งที่เริ่มรู้จักโดยพ่อค้าชาวซีเรียซึ่งได้ไปตั้งแคมป์อยู่บริเวณชายหาด และใช้หินโทรนา (Trona) ในการก่อเตา ด้วยความร้อนของไฟ ทำให้หินโทรนาและทรายเกิดหลอมรวมกัน เมื่อไฟดับมอด ทรายและหินก็เย็นตัวลงกลายเป็นวัสดุแก้วใสที่ถูกนำมาใช้งานหลากหลายในเวลาต่อมา
เมื่อศตวรรษที่ ๑ ก่อนคริสตกาล งานเป่าแก้วด้วยมือมีปรากฎให้เห็นเป็นครั้งแรก ในเวลานั้น ช่างฝีมือชาวซีเรียเป่าแก้วให้เป็นเหยือกและไห ทั้งสำหรับเพื่อการใช้งานในชีวิตประจำวันและเป็นของใช้ของตกแต่งที่หรูหรา ค้าขายกันเป็นที่แพร่หลายในซีเรียก่อนจะส่งออกไปทั่วอาณาจักรโรมัน
ในช่วงแรก งานแก้วเป่าทำขึ้นในแบบแม่พิมพ์ อาทิ เหยือกที่มีรูปลักษณ์เหมือนหอย พวงองุ่น และศีรษะมนุษย์ แต่ภายหลังช่างชาวซีเรียได้พัฒนาการเป่าแก้วโดยไม่ต้องใช้แม่พิมพ์ เพื่อสร้างรูปทรงแบบทรงกลมและแบบที่เป็นธรรมชาติ
ศิลปะแก้วเป่า
งานแก้วเป่าของอียิปต์เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งหนึ่งในนั้นคืออิตาลี และทำให้ในเวลาต่อมา นับตั้งแต่ศตวรรษที่ ๑ อิตาลีก็กลายเป็นศูนย์กลางงานศิลปะแก้วเป่าที่ใหญ่ที่สุด
แต่งานเป่าแก้วที่ถูกนับเนื่องให้เป็นงานศิลปะนั้น เริ่มต้นจริงๆ ที่อียิปต์ในช่วงศตวรรษที่ ๑๕ ก่อนคริสตกาล ซึ่งผนวกเอาศิลปะและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง งานแก้วเป่าในยุคแรกของอียิปต์นั้นทำออกมาเป็นเครื่องรางของขลัง เม็ดลูกปัดที่ใช้ในการประดับตกแต่ง รูปสัตว์ขนาดเล็ก ก่อนจะมาเป็นเหยือกน้ำและแจกัน