การเดินทางและการพาณิชย์ทำให้ศิลปะการเป่าแก้วได้เป็นที่รู้จักทั่วหัวระแหงไม่เฉพาะในยุโรป แต่ยังลามไปถึงทวีปอเมริกาเหนือและใต้ รวมถึงทวีปเอเชียที่นำโดยจีน ญี่ปุ่น และดินแดนของหลายประเทศที่นับถืออิสลาม จนทำให้เกิดการวิวัฒน์และเกิดเทคนิคใหม่ๆ ในศิลปะการเป่าแก้วมากมาย
ในช่วงศตวรรษที่ ๗ ถึง ๑๔ นั้นงานแก้วเป่าของอิสลามจัดว่ามีความโดดเด่นมาก ทั้งวิธีการการตัดแต่งแก้ว
การฉาบทองบนเนื้อแก้ว การเคลือบแก้ว นับเป็นการสร้างนวัตกรรมงานศิลป์แก้วเป่าให้แก่โลกในยุคถัดมา การทำแก้วเป่าแบบโมเสกของอิสลาม ยังสร้างอิทธิพลทางการค้าไปในยุโรป ทำให้ในศตวรรษที่ ๑๗ แก้วถูกนำไปทำเป็นกระจกสี เพื่อใช้ในการตกแต่งโบสถ์วิหาร
ในเมืองไทย งานศิลป์แก้วเป่านั้นเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยอาจารย์ชู วิยกาญจน์ ที่นำเอาเศษแก้วที่แตกหักมาหลอมด้วยความร้อนแล้วปั้นเป็นรูปสัตว์ ต่อมาได้มีการนำวิชานี้มาสอนในภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดช่างศิลปะการเป่าแก้วชาวไทยขึ้นมา
งานศิลปะแก้วเป่าของช่างเป่าไทยส่วนใหญ่ มักทำออกมาเป็นงานแก้วเป่าชิ้นเล็กที่มีไว้เพื่อการตกแต่ง เช่นทำเป็นเรือสุพรรณหงส์ ต้นไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่างๆ ในช่วงหลัง ยังมีการนำลูกเล่นต่างๆ เข้ามาผสมผสาน เช่นการพ่นทรายทำให้แก้วมีความขุ่นดูสวยแปลกตา มีการปิดทองคำเปลวลงบนเนื้อแก้ว เป็นต้น
ช่างศิลป์เป่าแก้วฝีมือดีของไทย มีไม่มากนัก แต่วิชานี้ก็ยังคงมีการเปิดอบรมที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร และที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ.๒๕๖๐ BGC Glass Studio สตูดิโอศิลปะเป่าแก้วแห่งแรกของไทยถือกำเนิดขึ้น โดยตั้งเป้าให้เป็นศูนย์เรียนรู้งานศิลปะแก้วครบวงจรที่ดีสุดในอาเซียน และในปีถัดมาก็ได้สนับสนุนการจัดงาน Thailand Glass Art Festival ซึ่งมีขึ้นเป็นครั้งแรก สตูดิโอแห่งนี้ ยังมีผลงานของศิลปินงานแก้วเป่าให้ชมอยู่เป็นระยะๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณัฐกรณ์ คณิตวรานันท์ จัดแสดงงานชุด Glassii นำเอาเทคนิคการเป่าแก้วลายแตกมาร่วมกับเทคนิคการทับซ้อนสี สำหรับเดือนนี้ ฉัตตกาญจน์ วงษ์ศิริ ก็จะมีงานแสดงนิทรรศการประติมากรรมแก้ว ‘Texture of LIFE – ร่องรอยของชีวิต’ ระหว่างวันที่ ๑๔-๒๕ พฤศจิกายน ณ หอศิลปะและการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
งานศิลปะการเป่าแก้วด้วยมือนั้น นับเป็นงานศิลป์ชั้นสูง ศิลปินนักเป่าแก้วจะต้องมีความรู้ทั้งทางด้านศิลปะ ควบคู่ไปกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ต้องมีความแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วเพราะต้องใช้เทคนิคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น อย่างเช่น การรู้จักควบคุมเปลวไฟ การหมุนแก้วเพื่อขึ้นรูป การเป่าลมเข้าไปในท่อแก้ว การเผาแก้ว การย่นแก้ว การยืดแก้ว เป็นต้น
จึงไม่ผิดที่มีการกล่าวกันว่า ศิลปะการเป่าแก้วนั้น เป็นวิถีทางหนึ่งในการพัฒนาสมาธิและส่งเสริมจินตนาการให้แก่ผู้เป่า ขณะเดียวกันก็ส่งต่อแรงบันดาลใจและจินตนาการให้แก่ผู้ชมเช่นกัน
นี่อาจจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ว่า ทำไมศิลปะการเป่าแก้วด้วยมือจึงยังคงความคลาสสิกมาจนทุกวันนี้