อาภรณ์
เมืองหลวงพระบางนั้นมีลักษณะเป็นเมืองกระทบ (cross road) ทำให้เป็นจุดเชื่อมและจุดรวมทางวัฒนธรรม สังคม การแต่งกายของชาวหลวงพระบางจึงได้รับอิทธิพลมาจากหลายชนชาติอย่างพีงสังเกต


เครื่องแต่งกายชายมักจะเป็นเสื้อคอปิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ส่วนรูปแบบของเสื้อเสื้อป้าย ที่สาวๆ สวมใส่ได้งดงามมีเสน่ห์นั้น ถือเป็นการสาธุการแก่พระพุทธศาสนา แต่ความที่รักสวยรักงามจึงขอมีรายละเอียดที่ปกเสื้อ สาบเสื้อ แขนเสื้อ สักหน่อย โดยการปักดิ้งไหมคำฝั้นเป็นลวดลายเครือเถาพรรณพฤษา ดวงดอกไม้ หรือคอเสื้อผู้ชายก็อาจจะมีตัวละครในวรรณคดี ปักผสมกลมกลืนไปลายเครือเถา ลายกนก หรือดอกประจำยาม อย่างงดงามกลมกลืน ถือเป็นเครื่องประดับ (jewelry) อย่างหนึ่ง

ยังมีเครื่องประกอบชุดแต่งกายอยู่ชิ้นหนึ่งสำหรับสาวๆ ที่ไม่ได้ใช้กันทุกวัน และใช่ว่าทุกคนจะมีโอกาสได้สวมมัน สิ่งนั้นคือ “เลิ่งเคิ่ง” เป็นผ้าคาดหน้าผาก ที่หญิงสาวผู้ได้เลือกเป็นนางสังขารในวันบุญสงกรานต์ และผู้ที่ได้เป็นเจ้าสาวเท่านั้นจึงมีโอกาสได้สวมใส่ เลิ่งเคิ่งนี้เป็นอิทธิพลจากมองโกล ตั้งแต่เมื่อครั้งที่เจงกิสข่านกรีฑาทัพขยายอิทธิพลเข้ามายังดินแดนแถบนี้
เรื่องเกี่ยวกับเสื้อผ้าอาภรณ์นี้เห็นจะได้เล่ายาวสักหน่อย เพราะความสำคัญไม่ได้เพียงเพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงความให้เกียรติต่อราชอาคันตุกะด้วย

“ยามที่มิตรประเทศมาเยือน หากได้เห็นเฮาสวมเสื้อผ้าที่ตัดเย็บจากผ้าที่เขาเคยมอบให้ กะสิฮู้สึกปลื้มใจเนาะ เป็นการสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างชาญฉลาดทางหนึ่ง และรูปแบบเสื้อผ้าที่คนในวังสวมใส่กัน ก็เหมือนเป็นกระบอกเสียงทางแฟชั่นแนวหนึ่งด้วย” เจ้านิดอธิบาย