จิตรกรรมด้านตรงหน้าพระประธานเขียนเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกตั้งกองซ้อนๆ กันอยู่บนตั่ง ๓ ตัว แทนที่จะอยู่ในตู้ ๓ ใบ อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก เคยเขียนตีความว่า น่าจะหมายความว่าพระไตรปิฎกควรจะนำออกมาอ่านศึกษาและปฏิบัติตาม ไม่ควรจะเก็บหมกไว้ในตู้ และใต้ตั่งนั้นมีแมวกำลังจะจ้องจับหนู น่าจะเป็นการแสดงอารมณ์ขันของจิตรกร เป็นนัยว่า เวลาการศึกษาพระไตรปิฎกก็อย่าเคร่งเครียดเกินไป ควรจะมีการผ่อนคลายบ้าง
จิตรกรรมที่พระอุโบสถนี้กำกับการเขียนและร่วมเขียนโดยเจ้าอาวาสผู้มีฝีมือทางด้านศิลปะสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ พระครูกสิณสังวร (มี) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จฯ ทางชลมารคมาถวายผ้าพระกฐินที่วัดนี้ ก็ทรงชื่นชมภาพผ้าม่านหลังพระประธานที่สวยเหมือนจริง มีรับสั่งว่า “ใครเอาผ้าม่านในวังมาแขวนไว้ที่นี้” และทรงชื่นชมภาพจิตรกรรมที่มีฝีมืองดงามและมีปริศนาธรรมแทรกอยู่ เล่ากันว่าทรงโปรดปรานถึงขนาดจะเลื่อนสมณศักดิ์ให้พระครูกสิณสังวรเป็นพระราชาคณะที่มี “พระญาณรังษี” อยู่แล้ว ถ้าไม่ทรงเห็นภาพหมู่นางฟ้าเปลือยอกอาบน้ำถูหลัง เล่นน้ำดำผุดดำโผล่ในสระบนสวรรค์ที่ผนังด้านหน้าพระประธาน ทรงตำหนิว่าไม่เหมาะสม เพราะเวลาพระสงฆ์ทำสังฆกรรมจะมองเห็นตลอดเวลา ดังนั้น การเลื่อนสมศักดิ์ก็เป็นอันระงับไป รายละเอียดเรื่องนี้ปรากฏใน “พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔” รับสั่งว่า”ท่านพระครูสติดีหรือวิปลาส หากวิปลาสทำไมถึงเขียนได้งามอย่างนั้น”
อย่างไรก็ตาม จิตรกรรมเหล่านี้กำลังทรุดโทรมหลุดร่วงเป็นผง ต้องเอาแถบผ้ากาวปิดไว้เป็นแห่งๆ เพื่อการรอซ่อมแซม