พระวิหารที่อยู่ด้านซ้ายของพระอุโบสถนั้นมีหลังคาและเครื่องหลังคาแบบจีน ไม่มีช่อฟ้าใบระกาใดๆ หน้าบันประดับด้วยจานชามกระเบื้องเคลือบแบบจีน ตามพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ อนึ่งผู้บูรณะในครั้งนั้นก็เป็นพระยาจีนอีกด้วย ดังนั้น จึงมีผู้สันนิษฐานว่า พระอุโบสถเดิมก็น่าจะเป็นทรงจีน และต่อมาเมื่อบูรณะอีกครั้งในรัชกาลที่ ๔ จึงเปลี่ยนเป็นหลังคาแบบไทย มีช่อฟ้าใบระกาต่างๆ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ภายในพระวิหารนี้คงมิได้เปิดใช้งานบ่อยนักเพราะมีพระพุทธรูปเก่าแก่งดงามอยู่จำนวนหลายร้อยองค์ ตั้งไว้กินเนื้อที่กว่าครึ่งหนึ่งของพระวิหารเสียอีก มีพระพุทธรูปองค์เล็กองค์หนึ่งแต่สำคัญมาก ชื่อพระ “แสงเพชร” ประดิษฐานบนฐานสูงสวยงามมาก แต่เดิมอยู่ในกุฏิ ๑๒ ต่อมาไฟไหม้กุฏิแต่พระแสงเพชรไม่ไหม้ด้วย เลยอัญเชิญมาประดิษฐานในวิหารนี้ เป็นที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก วันที่ไปชมมีโยมผู้หญิงมาแก้บนด้วยไข่ต้มถาดใหญ่ ได้ความว่าที่วัดจัดงานเมื่อเดือนที่แล้วมาบนไว้ว่าอย่าให้ฝนตกก็เลยมาแก้บนพระแสงเพชรและพระพุทธรูปเก่าแก่ในวิหารนี้ โดยมากจะเป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลักลงรักปิดทองเคยมีคนมาพยายามขโมยพระจากวิหารนี้แต่เอาไปไม่ได้ทิ้งไว้กลางทาง หลังจากนั้นจึงมีการวางระบบป้องกันวิหารนี้อย่างแน่นหนา
คนเก่าๆ หน่อยจะได้ยินเรียกชื่อวัดนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “วัดทองแอ๋” คำว่า “แอ๋” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว แปลว่า “ล่าง” นั่นเอง เช่น เหล่าเต้ง คือชั้นบน เหล่าแอ๋แปลว่าชั้นล่าง เป็นต้น จะแปลกอะไร ก็วัดนี้บูรณะครั้งแรกโดย พระยาที่เป็นคนจีนดังที่รู้กัน บริเวณรอบๆ วัดนี้ก็แวดล้อมโดยเจ้าสัวจีนและคนจีนมากมาย “ฮวยจุ่งลัง” ท่าเรือกลไฟของตระกูลหวั่งหลีที่รับช่วงมาจากตระกูลพิศาลบุตร ซึ่งบัดนี้ได้ปรับปรุงเป็น “ล้ง ๑๙๑๙” อันเก๋ไก๋ก็อยู่ใกล้ๆ แถวนั้นเอง มีเรื่องพูดล้อเล่นกันว่า ที่เรียกวัดทองแอ๋ เพราะเคยมีพระเณรทองล่างกินเหล้าเมาแอ๋นั้นไม่จริงหรอก