ในแวดวงศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย แป๊บๆเดี๋ยวเราก็ได้ยินชื่อศิลปินท่านโน้นท่านนี้ เก่งอย่างนู้นอย่างนี้ ขายผลงานได้เยอะแยะราคาดีขนาดนั้นขนาดนี้ ฟังๆไปดูเหมือนจะเป็นวงการที่ใหญ่โตเฮลท์ตี้ แต่รู้หรือไม่ว่าวงการศิลปะในบ้านเรานั้นเล็กกระจ้อยร่อยและมีมูลค่าน้อยมาก อย่าไปพูดถึง อเมริกา ยุโรป และจีนเลยเพราะเขาไปไกลสุดหล้าฟ้าเขียวจนอยู่กันคนละดิวิชันกับเรา เอาแค่เปรียบเทียบวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยกับอีกหลายๆประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน อย่างเช่น สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม แล้ว
เราก็ยังคึกคักน้อยกว่าเขาตั้งเยอะ ทั้งจำนวนนักสะสม การเป็นที่รู้จักในระดับสากล หรือแม้กระทั่งราคาที่เราคิดกันไปเองว่าของไทยซื้อขายกันแพงหูฉี่แล้ว แต่หารู้ไม่ว่าผลงานของศิลปินจากประเทศเพื่อนบ้านมีมูลค่าไปไกลกว่าของเรามากจนแทบจะไม่เห็นฝุ่นทั้งๆที่ฝีไม้ลายมือและชื่อชั้นของศิลปินบ้านเรานั้นประชันกับใครๆได้สบาย
ฟันเฟืองที่ขาดหายของ
วงการศิลปะไทย
ในระบบนิเวศของวงการศิลปะที่แข็งแกร่งที่ไหนก็แล้วแต่ในโลกนั้นประกอบไปด้วยตลาดมือหนึ่ง (Primary Market) ซึ่งมีศิลปินผู้สร้างผลงาน กับ แกลเลอรีผู้ช่วยโปรโมตและทำการตลาดขายผลงาน และตลาดมือสอง (Secondary Market) ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการการซื้อขายเปลี่ยนมือผลงานศิลปะจากลูกค้ามือที่ 1 ต่อไปอีกเป็นทอดๆตลอดกัลปาวสานไม่จบไม่สิ้น โดยการซื้อขายทอดต่อๆไปนี้อาจจะเกิดขึ้นลับๆล่อๆแบบส่วนตั๊วส่วนตัวระหว่างนักสะสมด้วยกัน หรือผ่านนายหน้าค้างานศิลปะก็ได้ แต่ฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดของตลาดมือสองที่จะแหว่งไปเสียไม่ได้เลยนั้นคือสถาบันการประมูล เพราะนี่คือพื้นที่ที่ผู้ซื้อสามารถแข่งขันกันอย่างเสรีสะท้อนความต้องการ และมูลค่าที่แท้จริงของผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ อีกทั้งข้อมูลราคายังถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณะไว้ใช้อ้างอิงเป็นมาตรฐาน เอื้อประโยชน์ให้กับนักสะสมโดยเฉพาะหน้าใหม่ๆ หรือชาวต่างชาติต่างภาษา ที่คิดจะเริ่มซื้อผลงานศิลปะของศิลปินประเทศนั้นๆจะได้ใช้ประวัติจากการประมูลนี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสิน สร้างความมั่นอกมั่นใจ ส่งผลให้แวดวงศิลปะเติบโตเพิ่มมูลค่า และโกอินเตอร์ขยายออกไปเป็นวงกว้าง แต่ที่น่าเป็นห่วงสำหรับวงการศิลปะไทยคือทุกวันนี้สถาบันการประมูล เสาหลักของตลาดศิลปะมือสองนี่แหละที่ยังขาดๆหายๆ
จะว่าไปแล้วการประมูลผลงานศิลปะในประเทศไทยก็ไม่ใช่ว่าไม่เคยมีจัดกันเอาซะเลย การประมูลครั้งแรกๆในบ้านเราเท่าที่มีบันทึกไว้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 5-8 กันยายน พ.ศ. 2460 นู่น ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดประกวดภาพวาด ณ ห้องหนังสือชั้นล่างของพระที่นั่งอุทยานภูมิเสถียร พระราชวังบางปะอิน ในงานมีทั้งตั้งราคาขาย มีทั้งการประมูลภาพที่ส่งเข้าประกวด ผลปรากฎว่ารวบรวมเงินได้ประมาณ 4,000 บาทหน่อยๆเพื่อนำไปมอบให้ราชนาวีสมาคมสมทบทุนซื้อเรือรบหลวงพระร่วง ต่อมาในปี พ.ศ. 2463 ยังมีการจัดประกวด และประมูลภาพวาดกันอีก 2 งาน ณ ศาลาวรนาฎเวทสีถาน พระราชวังบางปะอิน ในวันที่ 8-12 กรกฏาคม และที่โรงละครวังพญาไท ในวันที่ 11-17 ตุลาคม รายได้จากงาน 2 ครั้งหลังนี้ได้ถูกนำไปซื้อปืนให้กิจการเสือป่ามณฑลอยุธยา ในสมัยนั้นผลงานที่ทำราคาได้พุ่งปรี๊ดปร๊าดในงานคือภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเองที่ทรงวาดเสนาบดี และข้าราชการชั้นสูงในรูปแบบลายเส้นการ์ตูนล้อเลียน ส่วนผู้ที่ชนะการประมูลก็พอจะเดาได้ ไม่ใช่ใครอื่นก็เหล่าบิ๊กๆยุคนั้นนั่นแหละที่แข่งกันซื้อภาพวาดตัวเองไปเก็บไว้เป็นที่ระลึก
หลังจากนั้นต่อมางานประมูลผลงานศิลปะที่จัดกันขึ้นเรื่อยๆในเมืองไทย ก็มักจะมีจุดประสงค์เดียวกับงานเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 คือเพื่อหางบสมทบทุนซื้อ หรือสร้างอะไรบางอย่างเป็นสาธารณประโยชน์ หรือไม่ก็เอารายได้ไปทำบุญในนามองค์กรต่างๆ ออกแนวงานประมูลเพื่อการกุศลไปเกือบซะทั้งหมด ที่เห็นมีจัดต่อเนื่องเป็นประจำจนถึงปัจจุบันก็เช่นงานประมูลผลงานศิลปะเพื่อสมทบทุนมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เพื่อนำเงินไปเป็นทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่ขาดโอกาส ซึ่งงานประเภทนี้แทบทุกทีก็มีผู้ใหญ่ใจดีมาประมูลแข่งกันจนของมีราคาสูง แต่จะเอาตัวเลขเหล่านี้มาใช้อ้างอิงเป็นราคาตลาดสำหรับวงการศิลปะไม่ค่อยจะได้เพราะคนที่ชนะการประมูลส่วนใหญ่เขาตั้งใจจะร่วมทำบุญบริจาคเป็นหลัก ถ้าอยู่ดีๆมีใครเอาผลงานศิลปะชิ้นนั้นมาขายให้ตามราคาที่ประมูลได้แบบไม่อิงงานกุศลเขาก็คงไม่ซื้อ
งานประมูลศิลปะประเภทปกติไม่อิงบุญนั้นในบ้านเรานานๆทีถึงจะมี และยังไม่มีเจ้าไหนจัดกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ในหลายสิบปีที่ผ่านมาการประมูลครั้งใหญ่อันเป็นที่จดจำก็มีอยู่ไม่กี่หน เช่นในวันที่ 10-14 มิถุนายน พ.ศ. 2541 เมื่อปรส. หรือ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน นำเอาสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ 56 เจ้า ที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะการดำเนินงานได้ มาประมูลขายทอดตลาด ครั้งนั้น ปรส. ประสานกับ คริสตี้ส์ (Christie’s) หนึ่งในบริษัทจัดการประมูลที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกให้มาเป็นผู้ช่วยดำเนินการประมูลผลงานศิลปะ 365 รายการ มีชิ้นเด่นๆที่ถูกประมูลไปในราคาทะลุล้าน เช่นพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คู่กับ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่วาดโดยระเด่นบาซูกิ อับดุลลาห์ จบไปในราคา 1,100,000 บาท และภาพดอกกล้วยไม้ฝีมือ ทวี นันทขว้าง 2 ภาพที่ราคาจบไปเหนาะๆที่ภาพละ 1,200,000
ส่วนผลงานที่ทำราคาได้สูงที่สุดในงานคือภาพบึงบัว และกอไผ่ ขนาด 110 x 73 เซนติเมตร ที่ ทวี นันทขว้าง วาดไว้ในปี พ.ศ. 2523 ด้วยสีอครีลิคบนผ้าใบ ภาพนี้เริ่มประมูลกันที่ 400,000 บาท ผ่านไปแค่อึดใจเดียวมีผู้ยกมือประมูลขับเคี่ยวกันจนไปจบที่ 2,800,000 และผู้ที่ชนะการประมูลยังคงเป็นที่เล่าขานมาจนถึงปัจจุบันเพราะบุคคลท่านนี้ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อนในวงการศิลปะ และนักสะสม พอวันประมูลที่ศูนย์สิริกิติ์พี่แกเล่นคีบแตะแต่งตัวมาแบบเซอร์ๆ พอประมูลชนะก็ควักจ่ายด้วยเงินสดที่หอบมา ก่อนจะหลบหน้าหนีฝูงชนหายวับโหนรถเมล์กลับบ้าน
หลังจากงาน ปรส. เสร็จสิ้นไปได้ด้วยดี คริสตี้ส์คงจะเห็นว่าตลาดบ้านเราดูกำลังคึกคักสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ เลยตัดสินใจจัดประมูลผลงานศิลปะขึ้นมาในนามคริสตี้ส์เองเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ครั้งนี้คริสตี้ส์คัดสรรผลงานศิลปะมาประมูลร่วม 146 ชิ้น รวมถึงผลงานที่หาชมได้ยากระดับที่หาดูได้แต่ในพิพิธภัณฑ์เช่นพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ฝีมือพระสรลักษณ์ลิขิตจิตรกรภาพเหมือนคนแรกๆของสยาม ขณะนั้นกระแสความนิยมในผลงานของ ทวี นันทขว้าง ยังคุกรุ่น ชิ้นที่ทำราคาได้สูงสุดใกล้เคียงกับการประมูลครั้งก่อนจึงยังคงเป็นของทวี โดยครั้งนี้เป็นภาพนู้ดกับดอกบัว ขนาด 122 x 76 เซนติเมตร ที่ทวีวาดไว้ด้วยสีอครีลิคบนผ้าใบสมัย พ.ศ. 2523 ปีเดียวกับรูปบึงบัว และกอไผ่ เป๊ะ
อีกชิ้นที่กลายเป็นไฮไลท์ของงานเพราะมีผู้สนใจประมูลไปได้ในราคา 2,070,000 มากกว่าราคาประเมินของคริสตี้ส์ที่ 600,000 -700,000 บาท ถึง 3 เท่า คือภาพสีน้ำมันขนาด 176 x 118 เซนติเมตร รูปไก่ชน 2 ตัวกำลังตีกันฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งวาดขึ้นมาในสมัยที่ถวัลย์เพิ่งเรียนจบจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาหมาดๆเมื่อพ.ศ. 2507 ในยุคนั้นถวัลย์ยังใช้สีสันแพรวพราวต่างกับผลงานในยุคหลังๆลดทอนเหลือแต่สีดำกับสีขาวอย่างที่เราๆคุ้นกัน นอกจากความสวยงามแปลกตาแล้วภาพไก่ชนยังมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ เพราะถวัลย์มอบภาพนี้ให้กับพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในโอกาสขึ้นบ้านใหม่ พลเอกชาติชายคงถูกใจภาพนี้มาก เมื่อครั้งยังหนุ่มหากถูกมอบหมายให้ไปเป็นทูตประจำประเทศไหนก็จะนำภาพนี้ติดตัวไปประดับด้วย ไก่ชนเลยเคยไปตะลอนทัวร์ถึงสถานทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส และกรุงเวียนนา
ถัดจากนั้นมาอีกเกือบปีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 คริสตี้ส์ก็จัดงานประมูลศิลปะในประเทศไทยขึ้นมาอีกเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้ขนของมาประมูลมากถึง 220 ชิ้น และผลงานที่ถูกประมูลไปด้วยตัวเลขสูงที่สุดคือพระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่วาดด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบขนาด 112 x 85 เซนติเมตร ในปี พ.ศ. 2533 โดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต ภาพนี้มีนักการเมืองชื่อดังคว้าไปครอบครองในราคา 4,000,000 ทำลายสถิติภาพวาดที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์การประมูลศิลปะในประเทศไทย จนสมัยนั้นใครได้ยินต้องอ้าปากค้าง และยังส่งผลให้ผู้ที่มีผลงานจักรพันธุ์เก็บไว้ยิ่งหวงหนัก จนไม่เคยมีชิ้นไหนถูกเอาออกมาขายในราคาสบายกระเป๋าอีกเลย
ทั้งๆที่กระแสกำลังมาดีๆคริสตี้ส์ก็ตัดสินใจเลิกจัดการประมูลในประเทศไทยหันไปโฟกัสที่สำนักงานภาคพื้นเอเซียในฮ่องกง มุ่งบุกตลาดพญามังกรจีนที่มีขนาดใหญ่และมูลค่ามากกว่าตลาดสยามเมืองยิ้มมหาศาล เมื่อถึงเวลาที่วงการศิลปะไทยต้องผลักดันกันเอง 6 ปีถัดมาจึงมีบริษัทประมูลผลงานศิลปะสัญชาติไทยแท้ๆเกิดขึ้นเป็นเจ้าแรกคือ บางกอก อาร์ต อ๊อกชั่น (Bangkok Art Auction) โดยจัดการประมูลอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้บริษัทต่างชาติถึง 2 ครั้งที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2549 และที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในวันที่ 17 ธันวาคม ปีเดียวกัน หลังจากนั้นก็มีเจ้าอื่นๆจัดประมูลกันอีกเป็นอีเวนท์ๆไปเช่น การประมูลศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 1 (The 1st National Art Auction) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556 และ The Greatest Art 2015 ที่จัดขึ้นเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งต่างก็ได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร
อีกงานประมูลศิลปะในประเทศไทยที่คนในวงการคงกล่าวถึงไปอีกนานยันลูกยันหลาน คืองานของธนาคารทหารไทย ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 งานนี้ได้ทำลายสถิติทั้งหมดของงานประมูลที่ผ่านมาในบ้านเรา ทั้งในแง่ผลงานที่ทำราคาได้สูงที่สุด และยอดรวมจากการประมูลที่มากมายมหาศาลเป็นประวัติการณ์ จุดประสงค์หลักของธนาคารคือต้องการนำผลงานศิลปะที่สะสมไว้นานแล้วบางส่วนออกประมูลเพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิทีเอ็มบีเพื่อสาธารณประโยชน์ แต่งานนี้ดันต่างจากงานประมูลการกุศลอื่นๆ เนื่องจากผลงานศิลปะที่คัดออกมาประมูลนั้นไม่ใช่แบบบ้านๆ แทบทุกชิ้นเป็นผลงานระดับเอบวกๆๆ เลเวลที่แค่ได้เห็นของจริงก็เป็นบุญตานอนตายตาหลับแล้ว เพราะเป็นซะอย่างนี้นักสะสมทั่วสารทิศจึงกระหน่ำประมูลแข่งกันจนฝุ่นตลบ จังหวะนั้นต่างคนต่างแทบจะลืมเรื่องได้บงได้บุญอะไรไปเลย งานนี้ภาพที่มีผู้ให้ราคาสูงที่สุดถึง 26 ล้านบาทคือภาพ เวสสันดรชาดก ที่ ถวัลย์ ดัชนี บรรจงวาดด้วยสีน้ำมันลงบนผ้าใบไซส์ใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มขนาด 267 x 202 เซนติเมตร เมื่อปี พ.ศ. 2518 -2519 ทั้งงานมีผลงานศิลปะถูกคัดมาประมูลแค่ 15 ชิ้น แต่สามารถทำยอดรวมได้สูงถึง 62 ล้านบาท โชว์ให้เห็นว่าถ้าของเด็ดจริงนักสะสมชาวไทยบ่ยั่นอยู่แล้ว
ดูสิขนาดการประมูลไม่กี่ครั้งแบบนานทีปีหนในบ้านเรา ยังสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการศิลปะไทยเป็นระลอกๆได้ถึงเพียงนี้ เมืองไทยเราจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะมีสถาบันการประมูลศิลปะที่เป็นเรื่องเป็นราว และจัดงานอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมีมาตรฐานซักกะที ประเทศชาติเรายังไม่สิ้นนักสะสมแรงดีที่ยังคอยสนับสนุน
คงไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าผู้กล้าที่ยกมือชูป้ายประมูลนับเป็นผู้สร้างวีรกรรมอันแสนยิ่งใหญ่ เพราะนอกจากจะทำให้ได้ผลงานศิลปะที่ทวีทั้งคุณค่า และมูลค่าตามกาลเวลามานอนกอดให้หนำใจแล้ว ยังช่วยเติมเต็มฟันเฟืองที่ขาดหาย ขับเคลื่อนวงการศิลปะไทยให้เติบโตกว้างไกล ถึงในโมเมนต์นั้น วีรบุรุษวีรสตรีของเราจะยกป้ายประมูลด้วยสติครึ่ง อดรีนาลีนครึ่ง ไม่ชัวร์ว่าตั้งใจ หรืออารมณ์พาไปก็เหอะ