Wednesday, April 23, 2025
พระเครื่อง ชื่นชมอดีต

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่

เรื่อง: คนรัก(พระ)สวย

สาธุชนคนชาติไทยเราเริ่มสร้างพระพิมพ์ขนาดเล็กที่เราเรียกว่า พระเครื่องรางของขลัง เชื่อกันว่าเป็นสิ่งคุ้มครองภยันตรายป้องกันภยันตรายได้อย่างมีหลักมีฐาน ตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชสมัยสุโขทัย เป็นต้นมา

คตินิยมในการสร้างพระเครื่องรางของขลังในพุทธศาสนาไว้เพื่อสืบพระพุทธศาสนา แล้วบรรจุไว้ในสถูปในพระเจดีย์ มีมาแต่โบราณกาล โดยมีเจตนาหวังว่าสืบต่อมาเมื่อกุลบุตร-กุลธิดาได้ไปประสบพบเห็นพระพิมพ์ขนาดเล็กเหล่านี้ จะได้ทราบว่า ณ ดินแดนถิ่นฐานนี้ พุทธศาสนาของพระตถาคตเจ้าเคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนแล้ว

สาธุชนคนชาติไทยเราเริ่มสร้างพระพิมพ์ขนาดเล็กที่เราเรียกว่า พระเครื่องรางของขลังเชื่อกันว่าเป็นสิ่งคุ้มครองภยันตราย ป้องกันภยันตรายได้อย่างมีหลักมีฐาน ตั้งแต่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยสุโขทัย เป็นต้นมา โดยมีคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญวาสีซึ่งพระองค์อาราธนามาแต่เมืองนครศรีธรรมราชและเป็นพระสงฆ์ฝ่ายลังกางศ์ ได้ขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังกรุงสุโขทัย และชนชาติไทยได้รับนับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยสร้างวัดบำมะม่วงเป็นวัดแรกและพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์แห่งนี้และยังได้สร้างพระพิมพ์องค์แรกอีกด้วย ที่เราเรียกว่า หลวงพ่อโต วัดปามะม่วง และการสร้างพระพิมพ์ขนาดเล็กที่เราเรียกว่าพระเครื่อง ได้มีการสร้างสรรค์สืบต่อกันอย่างมากมายจนตราบเท่าทุกวันนี้

ท่านนักนิยมสะสมกลุ่มหนึ่งอันมีท่านตรียัมปวาย (พันเอก ผจญ) บิดาแห่งวารสารพระเครื่อง ได้รวมกลุ่มกันเลือกสรรหาพระเครี่องยอดนิยมมาเป็นคู่แขวนรวม ๕ องค์ด้วยกัน เรียกกันว่า พระชุดเบญจภาดีอันประกอบด้วย พระสมเด็จในสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เป็นราชาแห่งพระเครื่องและพระนางพญา พิษณุโลก เป็นราชินีแห่งพระเครื่อง ซึ่งนักนิยมสะสมพระเครื่องยอมรับกันอย่างเป็นเอกฉันท์

พระสมเด็จวัดระฆัง ราชาแห่งพระเครื่องนั้น ได้ขนานพระนามตามผู้สร้างคือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ส่วนพระนางพญา พิษณุโลก ราชินีแห่งพระเครื่องนั้น สันนิษฐานว่าเรียกตามชื่อของท่านผู้สร้างคือ พระนางเบญจราชเทวี หรือพระวิสุทธิกษัตรีย์ พระอัครมเหสีในสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ขุนพิเรนทรเทพ) ท่านผู้สร้างวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นวัดเคียงคู่กับวัดใหญ่ หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ซึ่งได้รับคำยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่งดงามที่สุดในโลกนั่นเอง

พระนางพญา พิษณุโลก เป็นพระพิมพ์ เนื้อดินเผารูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ทรงเรขามีด้วยกัน ๖ พิมพ์ คือ
๑. พระนางพญาพิมพ์เข่าตรง
๒. พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง
๓. พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่
๔. พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ
๕. พระนางพญาพิมพ์อกแฟบหรือทรงเทวดา
๖. พระนางพญาพิมพ์อกนูนเล็ก


พระนางพญาพิมพ์ขนาดเล็กมีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์ คือ
๑. พระนางพญาพิมพ์สังฆาฏิ
๒. พระนางพญาพิมพ์อกแฟบหรือทรงเทวดา
๓. พระนางพญาพิมพ์อกนูนเล็ก

ส่วนพระนางพญาที่เรียกกันว่า พระนางพญาพิมพ์ใหญ่ มีอยู่ด้วยกัน ๓ พิมพ์ คือ
๑. พระนางพญาพิมพ์เข่าโค้ง
๒. พระนางพญาพิมพ์เข้าตรง
๓. พระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่
ดังภาพที่มีรายละเอียดปรากฏอยู่ในเรื่องนี้

เขียนในอนุรักษ์ฉบับนี้ถึงเรื่องของพระนางพญาพิมพ์ อกนูนใหญ่ ด้วยเหตุผลที่ว่าศิลปะของพระนางพญาพิมพ์นี้เป็นศิลปะที่นักโบราณคดีในอดีตเปรียบเปรยว่าเหมือนศิลปะของพระสังกัจจายน์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และมั่งคั่ง ซึ่งเชื่อกันว่าผู้ใดมีบูชาไว้จะนำไปสู่ความสำเร็จและเจริญรุ่งเรืองในทางธุรกิจที่ประกอบการอยู่ ดังจะสังเกตเห็นว่าในร้านค้า บริษัท ในประเทศที่มีคนชาวจีนอยู่จะบูชาพระสังทัจจายน์อยู่บนหิ้งพระจำนวนมาก

เมื่อครั้งปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เมื่อตัวผมเองเข้าสู่วงการสะสมพระเครื่องอย่างจริงจัง ก็มีความตั้งใจว่าหากสามารถทำสำเร็จจะพยายามสะสมพระเครื่องชุดเบญจภาคีให้ได้ครบทุกพิมพ์ เช่น ในหมวดของพระนางพญาก็จะต้องมีพิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์เข่าตรง พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา และก็พิมพ์อกนูนเล็ก รวมทั้งสิ้น ๖ พิมพ์ ในอดีตการหาข้อมูลว่าพระสวยๆ พิมพ์ไหนอยู่กับใครเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพึ่งพาข้อมูลจากหนังสือพระได้เลย เพราะช่วงเวลานั้นหนังสือพระที่พิมพ์ออกจำหน่ายมีเพียง ๑ หรือ ๒ เล่มเท่านั้น ซ้ำยังไม่บอกด้วยว่าใครเป็นเจ้าของพระสวยๆ เหล่านั้น

ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปในทางให้ความรู้แก่ผู้สนใจเรื่องของพระเครื่องเท่านั้น ดังนั้นการจะหาข้อมูลของพระสวยๆ จึงกระทำได้หนทางเดียวก็คือต้องขยันทุ่มเทที่จะคลุกคลีและสร้างความใกล้ชิดกับเซียนพระอาวุโสทั้งหลายเพื่อนำทางไปสู่รังพระใหญ่ๆ ในยุคนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าว สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลของพระสวยๆ ก็คือร้านทำตลับพระชื่อดังอันดันดับหนึ่ง “ไซยศิลป์” หรือบางท่านก็เรียกว่า ร้านศรีอยุธยาตั้งอยู่แถวสี่กั๊กพระยาศรี


หากผู้ใดสนใจไปนั่งอยู่ที่ร้านก็มักจะได้พบกับบรรดาเจ้าของพระสวยซึ่งเดินเข้าออกร้านเพื่อนำพระมาให้ “เฮียซ้ง” เจ้าของร้าน ทำการวัดขนาดพระ และก็จะสลับกับเจ้าของพระสวยๆ นำพระมาให้เฮียซ้งใส่ตลับให้ เฮียซ้งผู้นี้เป็นบุคคลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงมาก พูดจาโผงผางตรงไปตรงมา และก็จะทะเลาะกับลูกค้าเป็นประจำ เมื่อปฏิเสธที่จะรับทำตลับพระให้แก่ลูกค้าที่เฮียซังดูแล้วว่าพระที่นำมาทำตลับเป็นพระไม่แท้

และแล้วเช้าวันหนึ่งในต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ขณะที่ผมนั่งอยู่ในร้านเสียซึ้ง ก็ได้พบกับเจ้าของพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่มีชื่อว่า คุณเพชร (หลีแซ) และเมื่อได้มีโอกาสชมพระนางพญาพิมพ์อกนูนใหญ่องค์นี้เป็นครั้งแรกก็เกิดความประทับใจเป็นอย่างมาก เมื่อพบว่านอกจากพระจะมีการติดที่ลึก-คม-ชัดในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่หน้าตา ช่วงสังขาฏิที่องค์พระ ตลอดจนถึงหัวเข่าด้านล่างและแขนแล้วก็ยังมีการตัดที่สมบูรณ์ทั้ง ๓ ด้าน ตลอดจนความเรียบร้อยทั้งด้านหน้าและด้านหลังขององค์พระอีกด้วยและแล้วผมก็ได้ประสบการณ์กับการได้มายังพระสวยๆ ว่า “ความประทับใจอยู่ที่ไหน ความสำเร็จในการได้เป็นเจ้าของมักจะเกิดขึ้นด้วยความยากลำบาท” การเจรจาขอเช่าพระกับคุณเพชร (หลีแซ) ในครั้งนั้นก็จบลงด้วยการตกลงไม่ได้ เพราะคุณเพชรตีราคาพระ ๑๗๐,๐๐๐ บาท ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของพระนางพญาพิมพ์เข่าโค้งที่ถือเป็นพิมพ์เอกของพระนางพญาในขณะนั้น

แต่เมื่อหลังจากเวลาผ่านไป ๑๖ ปี ผมก็พบว่าคำพูดของคนโบราณที่พูดเสมอๆ ว่า “ของของใคร ก็จะเป็นของของเขา” นั้นเป็นเรื่องจริง เพราะในที่สุด ผมกับความสำเร็จสมใจและได้บูชาพระมาจากรังใหญ่ที่มีพระสวยมากที่สุดในประเทศไทยซึ่งเป็นคนจังหวัดนครสวรรค์ และก็ต้องขอขอบคุณทุกๆ ท่านในอดีตที่ได้มีส่วนเมตตาให้ความรู้และความสำเร็จในการสะสมพระเครื่องของของผมที่ผ่านๆ มา และต้องขอขอบคุณหนังสืออนุรักษ์ที่ได้ให้โอกาสผมเล่าเรื่องราวในอดีตอีกครั้ง

About the Author

Share:
Tags: พระนางพญา / เบญจภาคี / พระเครื่อง / ท่าพระจันทร์ / พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่ / พระสวย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ