นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 23
เรื่อง/ภาพ: ส.พลายน้อย
ระฆัง
วัดพระแก้ว
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ มีคนมาเล่าให้ฟังว่า เขาได้ยินเสียงระฆัง วัดพระแก้ว ผมก็ร้อง “สาธุ” บอกเขาว่าคุณโชคดีจริงๆ เพราะผมอยากได้ยินเสียงมาหลายสิบปีแล้วก็ไม่มีโอกาส
เขาถามผมว่า เหตุไรจึงอยากได้ยินเสียงระฆังวัดพระแก้ว และระฆังที่วัดนี้มีความสำคัญอย่างไร
ผมก็ตอบเขาว่า ที่อยากฟังก็เพราะทราบว่าระฆังวัดพระแก้วมีเสียงกังวานน่าฟังกว่าระฆังวัดอื่นๆ แต่โบราณมีเจ้าพนักงานเคาะระฆังตามกำหนดเวลาไม่คลาดเคลื่อนต่อมาภายหลังไม่มีเจ้าพนักงานดังกล่าว และวัดพระแก้วไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา การเคาะระฆังก็หมดไปด้วย
อย่างไรก็ตามระฆังวัดพระแก้วยังมีความสำคัญอยู่เพราะพระราชพิธีต่างๆยังทำที่อุโบสถวัดพระแก้ว เช่น พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งถือเป็นวันมหามงคล ก็มีการย่ำระฆังหนังสือพิมพ์มติชนพาดหัวข่าวว่า “วัดพระแก้วนำย่ำระฆัง ๒๐ หน พร้อมกันทั่วโลกในวันนี้”
ตามข่าวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้มาทำความสะอาดและตรวจสอบความพร้อมที่หอระฆังซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระอุโบสถ ซึ่งจะมีการย่ำระฆัง (ตีระฆัง) ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๘.๐๐ น. ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏ แด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ในสังฆมณฑลเจริญชัยมงคลคาถา โหรหลวงลั่นฆ้องชัยพราหมณ์เป่าสังข์ ภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์เจ้าพนักงานประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ และย่ำระฆังถวายพระสุพรรณบัฏ
ทั้งนี้การย่ำระฆังในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจะมีเฉพาะโอกาสสำคัญ อาทิการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยการย่ำระฆังจะนับจำนวนครั้งตามลำดับว่าองค์ที่เท่าไหร่ อย่างครั้งนี้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๒๐ ก็ย่ำระฆัง ๒๐ ครั้ง
เรื่องดังกล่าวจะกำหนดขึ้นเมื่อไรผมไม่ทราบ เพิ่งมารู้ในครั้งนี้จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ตามคำผู้ใหญ่เล่าว่า ในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองยังมีการตีระฆังที่วัดพระแก้วในเวลาย่ำค่ำกับเวลาย่ำรุ่งบางทีจะมีระเบียบแบบแผนมาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ แล้วก็ได้ เพราะในหนังสือโคลงเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ ๒ ของพระยาตรังมีกล่าวถึงระฆังวัดพระแก้วไว้ว่า “หอระฆังเถิ่งทัดฟ้า ฟูโพยม ค้อนค่อนคระครวญเสียงค่ำเช้า” ต่อมาภายหลังให้ระงับไป จะเป็นด้วยเหตุไรไม่พบหลักฐาน
กล่าวเฉพาะตัวระฆังก็มีเรื่องกล่าวอ้างไม่ตรงกัน ในหนังสือจดหมายเหตุการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในการฉลองพระนครครบ ๒๐๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ ของกรมศิลปากร ได้กล่าวว่าหอระฆังวัดพระแก้วสร้างแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้รื้อสร้างใหม่ในที่เดียวกัน และ “ให้แขวนระฆังซึ่งขุดพบคราวทรงปฏิสังขรณ์วัดระฆังโฆสิตาราม กล่าวกันว่าเป็นระฆังที่มีเสียงกังวานไพเราะอย่างยิ่ง”ความข้อนี้ตรงกับที่กล่าวไว้ในหนังสือประวัติวัดระฆังโฆสิตารามที่อ้างว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงขุดสระสร้างหอไตร ได้ขุดพบระฆังใบหนึ่งมีเสียงดี จึงขอผาติกรรมเอาไปเป็นระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วพระราชทานระฆัง ๕ ใบมาแทน พร้อมกับทรงสร้างหอระฆังรูปจตุรมุขถวายด้วย
ระฆังวัดพระแก้ว นอกจากโจทก์ทางฝ่ายวัดระฆังโฆษิตารามแล้ว ยังมีโจทก์ทางฝ่ายวัดสระเกศอ้างไว้ในเรื่องปฐมบรมราชอนุสรณกถาของคณะไทยเขษมตอนหนึ่งว่า “มีหอระฆังหลัง ๑ แขวนระฆัง ซึ่งโปรดให้ย้ายมาแต่วัดสระเกศ (เห็นจะอยู่ตรงหอระฆังทุกวันนี้)” และมีกล่าวอ้างถึงเช่นเดียวกันนี้ในที่อื่นอีก เข้าใจว่าจะอ้างตามกันมา
น่าประหลาดที่ระฆังวัดพระแก้วมีโจทก์ถึง ๒ ราย แต่ก็ยังมีพยานทางฝ่ายวัดพระแก้ว ๒ ปากที่ยืนยันว่าระฆังวัดพระแก้วได้หล่อขึ้นมาใหม่ ไม่ได้นำมาจาก ๒ วัดดังกล่าวพยานทั้ง ๒ ปากได้บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้น่าเชื่อถือ และต่างลงความเห็นไว้ว่าระฆังวัดพระแก้วเสียงดีกว่าวัดระฆัง พยานปากแรกก็คือ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๔๔-๒๓๙๙) ได้ทรงกล่าวว่า ระฆังทั้ง ๕ ใบของวัดระฆังโฆษิตารามนั้น ถึงจะระดมตีพร้อมกันก็ยังสู้ระฆังวัดพระแก้วไม่ได้ ทรงพระนิพนธ์เป็นเพลงยาวไว้ ดังต่อไปนี้
กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ดูจะทราบประวัติระฆังวัดพระแก้วดี ด้วยทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า “แต่แรกหล่อมาก็นานถึงป่านนี้ สิบเจ็ดปีตีเป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสง” เสียดายที่ไม่ทราบว่าเพลงยาวบทนี้แต่งเมื่อไร จึงไม่อาจกำหนดเวลาที่หล่อระฆังได้แต่ก็พอประมาณได้ว่าน่าจะเป็นตอนปลายรัชกาลที่ ๒ หรือต้นรัชกาลที่ ๓
“ซึ่งยังหมองสองเสียงระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดาสถานถึงจะทุ่มหนักเบาก็บันดาลส่งกังวานเสนาะลั่นไม่พลิกแพลงแต่แรกหล่อมาก็นานจนป่านนี้สิบเจ็ดปีตีเป็นนิตย์ไม่ผิดกระแสงแล้วเด่นเดียวอนาถโอ้อยู่กลางแปลงมิใช่จะแข่งเปลี่ยนเสียงเช่นวัดระฆังถึงจะระดมพร้อมตีทีละห้าโดยสัญญาจะให้เป็นเสียงเดียวมั่งก็เอาเถิดสำเนียงแปร่งไม่อยากฟังบ้างก็ดังเหง่งหงั่งไม่ยั่งยืนอันระฆังพระแก้วนี้นะแม่ถึงหวาดแหว่ก็ไม่แชเป็นเสียงอื่นเสมือนเบญจระฆังที่เกลียวกลืนสำเนียงขืนผลดอกเปลือกรากใบ”