Wednesday, April 23, 2025
ส.พลายน้อย ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ระฆัง วัดพระแก้ว

หอระฆังวัดพระแก้ว

          ผู้ที่เป็นพยานฝ่ายวัดพระแก้วและยืนยันว่าระฆังวัดพระแก้วมีเสียงไพเราะอีกปากหนึ่งก็คือ นายมี หรือที่เรียกกันว่า นายมีลงกาใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เขียนจดหมายเหตุพรรณนาถึงระฆังวัดพระแก้วไว้ตอนหนึ่งว่า

          “องค์ระฆังแขวนห้อยร้อยเหล็กห่วงอยู่กลางดวงดาว ยาววาหนึ่งถึงคอ เหล็กล้วนปิดทอง ลงมาคล้องหน่วงห่วงนาคหลังระฆังทองหล่อ ปากแลคอข้าง แลขอบรอบไปล้วนใสขัดหมดจด ผ้าพาดและรัดประคดแลปุ่มนั้นปิดสุวรรณคำเปลวล้วน โดยส่วนสูงศอกคืบ ๕ นิ้วกว้างศอก ๔ นิ้ว ขึ้นลอยลิ่วลั่นชื่อลือเสียง

          สำเนียงเสนาะ เมื่อยามย่ำบันเดาะเพราะดังเป็นกังวาน วิเวกหวานวังเวงเง่วแว่วเข้าแก้วหูเป็นที่ชูชื่นใจไพร่ฟ้าวงศาสุรศักดิ เคยประจักษ์จำสำเหนียกสำเนียงไก่เมื่อตี ๑๑ เสียงเป็นเมดโลดลอยละหอ้ ยหวนครวญครั่น จงึ ชวนกันตืน่ขึ้นภาวนาหาของธารณะ ระฆังพระทั้งปวงจึงตีตามเมื่อภายหลัง เสียงเคาะไม่ดังโด่งเปรียบเทียบเสมอสอง มาถ่ายอย่างสร้างจำลองไปหล่อเลียนก็เพี้ยนเสียง ไม่คู่เคียงสู้ไม่ได้ ไม่มีใครเทียมทันเป็นขวัญเมืองเลื่องลือดีอยู่ในศรีอยุธยามหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานี”

การยํ่าระฆังในวัดพระศรีรัตนศาสดารามจะมีเฉพาะโอกาสสำคัญ อาทิ การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชโดยการยํ่าระฆังจะนับจำนวนครั้งตามลำดับว่าองค์ที่เท่าไหร่

          ดูเหมือนจะมีจดหมายเหตุของนายมีนี้เพียงเรื่องเดียวที่พรรณนาคุณพิเศษของระฆังวัดพระแก้วไว้อย่างเป็นหลักฐานชัดเจน เช่นบอกประเพณีตีระฆังวัดพระแก้วว่า ตีตอน ๑๑ ทุ่ม (ตีห้า) เป็นการปลุกให้ชาวบ้านเตรียมของทำบุญใส่บาตร และเสียงระฆังวัดพระแก้วเป็นผู้นำให้พระวัดอื่นๆ ตื่นขึ้นตีระฆังตามในภายหลัง ตามจดหมายเหตุนี้ชวนให้คิดว่านายมีน่าจะเขียนในสมัยรัชกาลที่ ๔ เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยูหัวทรงเข้มงวดเรื่องเวลามาก ดังปรากฏว่า คืนหนึ่งทรงได้ยินเสียงระฆังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดมหาธาตุวัดราชบูรณะ ตีระฆังขึ้นในเวลาที่ยังไมสมควรและในเวลานั้นระฆังวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็ยังไม่ได้ตี

          เหตุการณครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าพระที่รักษาเวลาคอยตีระฆังตามวัดต่างๆ พากันละเลยไม่ตั้งใจ จึงโปรดให้มีประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๓๙๕ ให้ทุกวัดตีระฆังเวลา ๑๑ ทุ่ม พร้อมกันทุกพระอาราม ถ้าไม่ตีระฆังตามเวลาให้มีโทษจงหนัก แล้วให้พระราชาคณะพระครูฐานานุกรม เปรียญ หานาฬิกาไว้สำหรับดูเวลาให้ถูกทุ่มยาม และให้ถือตามระฆังวัดพระแก้วซึ่งตีตามเวลาถูกต้องแม่นยำเพราะมีหอนาฬิกาอยู่ในพระบรมมหาราชวังมีระฆังตีบอกเวลาอยู่ทุกชั่วโมงแล้ว

          นอกจากหลักฐานที่กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์กล่าวว่าระฆังวัดพระแก้วเป็นระฆังหล่อขึ้นใหม่ ไม่ได้นำมาจากวัดสระเกศและวัดระฆังดังที่มีโจทก์กล่าวอ้างข้างต้นนั้นแล้ว นายมียัง ได้กล่าวถึงการหล่อ ระฆังไว้ว่า

          “ด้วยเดิมทีสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรมอนันตคุณวิบุญเลิศฟ้าที่ล่วงแล้วนั้นทรงหล่อ พร้อมด้วยพระหน่อสุริวงศ์เสนาองค์นางใน ถอดกำไลแหวนทองแลเงินและนากนั้นหลากหลาย ใส่ละลายหล่อหลอมพร้อมเพรียงเสียงจึงดี ด้วยพระบารมีอภินิหารอันทรงหล่อต่อตั้ง มาครั้งนี้เล่าสมเด็พระพุทธเจ้าอยู่หัวอันทรงธรรมวิริยาทึกโดยลึกซึ้งแสนละเอียดสุขุมภาพมาทรงปฏิสังขรณ์ก็ยิ่งวัฒนาถาวรวิจิตรโจกระฆังทั้งจังหวัด คู่บารมีพระศรีรัตนปฏิมากรมรกตซึ่งพระอินทร์องค์ทรงรจนามาแต่งตั้ง ใครได้ฟังก็เป็นมงคลควรเงี่ยหูชื่นชูใจ

          ตามหลักฐานต่างๆ ที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่าตามพระนิพนธ์ของกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์และจดหมายเหตุของนายมีเป็นหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแต่อ้างคำที่เล่ากันมา แม้ว่าไม่อาจสรุปปีที่สร้างให้แน่นอนได้ แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็นระฆังที่หล่อขึ้นใหม่ไม่ใช่ระฆังเก่าที่เล่าต่อๆ กันมาและเข้าใจว่าหลักฐานที่นำมาเสนอน่าจะชัดเจนเชื่อถือได้

          กล่าวโดยสรุป ระฆังวัดพระแก้วเป็นระฆังคู่บารมีพระศรีรัตนปฏิมากรมรกตเหมาะที่จะใช้ในพระราชพิธีสำคัญ เพราะใครได้ฟังก็เป็นมงคล สมกับคำกล่าวของนายมีที่นำมาอ้างข้างต้นนั้นแลฯ

About the Author

Share:
Tags: ระฆัง / วัดพระแก้ว / วัด ประเพณี วัฒนธรรม การละเล่น / วัด / ส.พลายน้อย / sorplainoi /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ