การเดินทางของไอศกรีม
เส้นทางการเดินทางของไอศกรีม หรือบางทีเราก็เรียกกันง่ายๆ ว่าไอติมนั้น ที่น่าสนใจคือเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ไอศกรีมได้เข้าไปในประเทศอิตาลีและฝรั่งเศส ในประวัติศาสตร์ของไอศกรีมช่วงนี้ระบุว่า ในงานฉลองอภิเษกสมรสระหว่างแคเทอรีน เดอ เมดิซีแห่งเวนิสกับกษัตริย์เฮนรีที่ ๒ ของฝรั่งเศส มีการนำของหวานกึ่งแช่แข็งมาเสิร์ฟแขกเหรื่อที่มาร่วมงาน รูปร่างหน้าตาเหมือนกับไอศกรีมในปัจจุบันไม่ผิดเพี้ยน และนี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ไอศกรีมกลายเป็นของหวานของคนค่อนโลกไปโดยปริยาย
แต่ยังมีอีกจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่ไอศกรีมไปทั่วโลกที่มาจากอังกฤษ คือสมัย พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ พ่อครัวคนหนึ่งมีสูตรเด็ดเป็นครีมแช่แข็งปรุงรส ซึ่งเป็นสูตรลับสุดยอดที่ ส่งเป็นของหวานถวายพระองค์ ทว่าเมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ ทำให้พ่อครัวต้องลี้ภัยไปยุโรปจึงได้นำสูตรไอศกรีมนี้เผยแพร่ออกไป
สำหรับในยุคแรกๆ การทำไอศกรีมคงเป็นเพียงครีมหวานที่เย็นจัดในกระติกน้ำแข็ง หรือกินผสมกับเกล็ดน้ำแข็ง ส่วนที่จะเย็นเยือกจนเป็นก้อนแข็งคงทำได้เฉพาะฤดูหนาวเท่านั้น จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๘๔๖ นางแนนซี จอห์นสันสามารถสร้างเครื่องผลิตไอศกรีมขึ้นมาได้เป็นครั้งแรก โดยทำเป็นเครื่องปั่นไอศกรีมที่อาศัยความเย็นจากน้ำแข็งผสมเกลือ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ปฏิวัติให้ไอศกรีมทำง่ายขึ้นและเป็นครีมน้ำแข็งสมชื่อ “Ice cream” ตั้งแต่นั้นมาไอศกรีมก็กลายเป็นของหวานที่คนทั่วๆ ไปมีกินได้ ไม่ใช่อาหารพิเศษเฉพาะพระราชา ขุนนาง และเศรษฐีอีกต่อไป และนับเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังที่ทำให้ไอศกรีมได้ออกเดินทางเผยแพร่ไปทั่วโลก
ทางด้านสหรัฐอเมริกาเองก็มีข้อมูลบันทึกว่าไอศกรีมเข้าสู่สหรัฐฯ ราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และที่นี่ ไอศกรีมกลายเป็นของหวานยอดนิยมไปในทันที เป็นอาหารหรรษาที่ให้ความสนุก สุขสดชื่น และขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงสังสรรค์ กระทั่งมีคำกล่าวว่า “งานเลี้ยงที่ขาดไอศกรีมก็เหมือนอาหารเช้าที่ขาดขนมปังและอาหารค่ำทีขาดเนื้ออบ” ปัจจุบันไอศกรีมเป็นอาหารสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของอเมริกันชน และชาวอเมริกันกินไอศกรีมหนักมากถึง ๔๕% ของไอศกรีมทั้งหมดที่ผลิตได้ในโลก ว่ากันว่าอดีตประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันก็เป็นนักกินไอศกรีมตัวยง กระทั่งต้องมีเครื่องปั่นไอศกรีม ไว้ใช้ที่บ้าน
ย้อนไปในปี ค.ศ. ๑๘๑๓ นางดอลลี เมดิสันสร้างความฮือฮาด้วยการนำไอศกรีมมาเลี้ยงในงานลีลาศฉลองตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่ ๒ ที่ทำเนียบขาว และระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้บัญชาการกองทัพเรืออเมริกันแจกจ่ายไอศกรีมแก่ทหารเรือทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่แนวรบไกลสัก แค่ไหน ไอศกรีมช่วยบำรุงขวัญทหารได้ดีกว่าเบียร์เสียอีก จนกระทั่งในปี ค.ศ. ๑๘๕๑ นายจาคอบ ฟัชเซล เจ้าของกิจการขายส่งน้ำนม หาวิธีการรักษาระดับความต้องการน้ำนมในตลาดของเขาให้คงที่ และได้ข้อสรุปว่าวิธีการที่ได้ผลที่สุดก็คือการแปรรูปน้ำนมให้เป็นไอศกรีมนั่นเอง ดังนั้นเขาจึงไม่รอช้าที่จะสร้างโรงงานผลิตไอศกรีมแห่งแรกขึ้นในบัลติมอร์ และในช่วงต้นสงครามโลกก็ได้เพิ่มสาขาการผลิตไปยังนิวยอร์ก วอชิงตัน และบอสตัน
ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ การค้าขายไอศกรีมยังคงเป็น กิจการเล็กๆ รวมทั้งมีการเร่ขายไปตามท้องถนน ตามแหล่งชุมชน แรกทีเดียวก็เร่ขายด้วยรถม้า ต่อมาก็ด้วยรถจักรยานสามล้อ ในอังกฤษ บริษัทวอลล์จากเดิมที่ทำไส้กรอกขายหันมาผลิตไอศกรีมในปี ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยใช้รถสามล้อเป็นกลยุทธ์หลักของการขาย ต่อมาวอลล์กลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ขายไอศกรีมไปทั่วโลกตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จวบจนปัจจุบัน
จากถ้วยสู่ถ้วย จากเมืองหนึ่งสู่อีกเมือง ไอศกรีมเดินทางผ่านรอยต่อของความเปลี่ยนแปลง ผ่านการล่มสลาย ผ่านคราบน้ำตาและรอยยิ้ม ผ่านมหาสมุทรและทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ สู่จุดเริ่มต้นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ทว่าเรื่องราวของไอศกรีมก็ดูเหมือนยังไม่มีจุดสิ้นสุด