ไอศกรีมโคน…อีกหนึ่งความบังเอิญ
ในงานแสดงสินค้าเมืองเซนต์หลุยส์เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๔ ขณะที่นายเอิร์นเนสต์ แฮมวี (Ernest Hamwi) ทำวาฟเฟิลขายอยู่ในงาน ข้างๆ กันก็ตั้งถังขายไอศกรีมไปด้วย ไอศกรีมของเขาขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนถ้วยใส่ไอศกรีมหมด กระนั้นนายแฮมวีก็ไม่ปล่อยให้ลูกค้าเสียใจที่อดหม่ำไอศกรีม เขาจัดการม้วนวอฟเฟิลเป็นกรวยใส่ไอศกรีมแทนถ้วย และเรียกไอศกรีมที่ใส่ในถ้วยนี้ว่า ไอศกรีมโคน ต่อมาไม่นานก็เกิดเครื่องมือม้วนกรวยไอศกรีมเพื่อผลิตโคนออกมาขายหลายร้อยล้านโคนต่อปีกันทีเดียว
ไอศกรีมซันเด (Sundae) ที่นิยมกินกันทุกวัน
การแพร่หลายของไอศกรีมจากฝรั่งเศสเข้าไปสหรัฐอเมริกา ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ จนไอศกรีมกลายเป็นของหวานที่ผู้คนชื่นชอบกันมาก ในช่วงนี้ตำนานไอศกรีมในสหรัฐฯ โดยเฉพาะ “ไอศกรีมซันเด” ได้ถือกำเนิดขึ้น ถึงแม้ไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเกิดขึ้นในรัฐใดกันแน่ แต่ที่แน่ๆ ได้สร้างความตื่นเต้นให้แก่อเมริกันชนสมัยนั้นอย่างถ้วนหน้า
จากหลายเรื่องเล่า แต่มีตำนานหนึ่งเล่าถึงที่มาของไอศกรีมซันเด ไว้ว่า แต่ก่อนมีการขายไอศกรีมโซดาทุกวัน จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๘๗๕ กฎหมายของรัฐอิลลินอยส์ร่างออกมาว่าห้ามขายไอศกรีมโซดาในวันอาทิตย์ ดังนั้นเฉพาะวันอาทิตย์จึงมีการคิดค้นสูตรไอศกรีมขึ้นมาใหม่โดยผสมน้ำหวานแทนโซดา ปรากฏว่าไอศกรีมเลี่ยงกฎหมายนี้กลับขายดีมากจนแม้วันธรรมดาก็มี ผู้ถามหา เรียกไอศกรีมนี้ว่า “ไอศกรีมซันเดย์” (Sunday) แต่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาห้ามใช้ชื่อ Sunday เพราะวันอาทิตย์เป็นวันซับบาธ (Sabbath) ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญในการประกอบพิธีทางศาสนาของชาวคริสต์ จึงมีการเปลี่ยนตัวสะกดจาก Sunday เป็น Sundae แทน และถึงปัจจุบันก็มีเมนูไอศกรีมซันเดเป็นตัวเลือก ยอดนิยมแทบทุกร้านไอศกรีม
ว่ากันว่า
บางทีไอศกรีมก็เหมือน
ความรัก…ไม่รีบตักก็ละลาย
เนื่องจากต้องใช้เวลาและต้องลงแรงกันพอสมควร เมื่อได้ผลิตผลจากการลงแรงเป็นไอศกรีมเย็นเฉียบแล้วก็ต้องเกณฑ์คนมาช่วยกันรับประทานให้หมดโดยเร็ว เพราะมิเช่นนั้นไอศกรีมก็จะละลายกลายเป็นน้ำไปในเวลาอันแสนสั้น ซึ่งจะทำให้ทั้งหมดกลายเป็นการลงแรงที่สูญเปล่าในที่สุด ใครบางคนบอกว่า…สำหรับความรักก็เช่นกัถ้าปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รีบสานต่อ ความรักก็อาจเจือจางละลายไปคล้ายไอติมนั่นแล