ในงานแสดงจิตรกรรมของ พิริยะ ไกรฤกษ์ ที่จัดขึ้น ณ สยามสมาคม ตั้งแต่วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ นั้นนับว่าเป็นงานยิ่งใหญ่สุดอลังการแห่งปี เหตุเพราะมีผลงานคุณภาพคับเฟรมในรูปแบบสมัยใหม่ที่ยังไม่ค่อยคุ้นตาคนไทยมาแสดงอย่างเต็มพรึบทั้งห้องแสดงร่วม ๑๐๐ ชิ้น มีทั้งภาพเหมือนของบุคคลต่างๆ ภาพทิวทัศน์ และภาพวาดจากจินตนาการ ครบครันด้วยผลงานที่ใช้เทคนิคลายเส้น สีน้ำ และสีน้ำมัน ส่วนแขกเหรื่อที่มาชมงานก็ไม่ใช่ธรรมดามีทั้งศิลปิน นักธุรกิจ ข้าราชการ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เปิดงานในวันแรกของนิทรรศการ โดยรายได้จากการขายภาพในงาน พิริยะใจป้ำทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลทั้งหมด
ในบรรดาภาพวาดที่จัดแสดงในครั้งนั้น ภาพกลุ่มหนึ่งที่เห็นจะเป็นไฮไลต์ของงานคือ ภาพวาดสีน้ำมันที่สร้างสรรค์ขึ้นระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๐๖ ทั้งเทคนิค สไตล์ และฝีมือของพิริยะในยุคนี้ล้วนสูงส่งและสดใหม่ เพราะเพิ่งได้ผ่านการเคี่ยวกรำ ขัดเกลา กลั่นกรอง จากสำนักศิลปะและเหล่าสุดยอดศิลปินระดับโลกอย่างใกล้ชิด ชนิดหายใจรดต้นคอแบบที่ไม่มีศิลปินชาวไทยผู้ใดเคยได้รับโอกาสแบบนี้มาก่อน ดั่งที่สูจิบัตร “การแสดงศิลปไทยปัจจุบัน” ซึ่งจัดขึ้นที่สโมสรแอลไพน์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ถึงกับบันทึกไว้เลยว่า ‘ห้อย ชื่อจริง “พิริยะ” เป็นจิตรกรที่เคราะห์ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย เขามีโอกาสดีทุกอย่าง…’ เหตุที่ว่าโชคดีกว่าใครเพราะตั้งแต่พิริยะเกิดมาก็มีพรสวรรค์ด้านขีดๆ เขียนๆ ติดตัวมาอยู่แล้วเป็นทุนเดิม และเมื่อเติบใหญ่เกิดหันมาสนใจจะเป็นศิลปินวาดภาพสไตล์สากลอย่างจริงจัง ก็ได้มีโอกาสศึกษาจากสถาบันสัญชาติต้นตำรับตั้งแต่แรกเริ่ม โดยหลังจากพิริยะจบชั้นมัธยมจาก Harrow School ประเทศอังกฤษ ก็ได้เข้าเรียนต่อขั้นอุดมศึกษาด้านการวาดภาพที่ The Byam Shaw School of Drawing and Painting และได้ไปเรียนวิชาการปั้นที่ Royal College of Arts จากประติมากรเบอร์ต้นของอังกฤษอย่าง เฮนรี มัวร์ (Henry Moore) พ่วงด้วยการไปฝากตัวเป็นศิษย์ของ ออสการ์ โคคอชกา (Oskar Kokoschka) จิตรกรแนวเอ็กซ์เพรสชันนิสม์ หรือลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ ผู้โด่งดังชาวออสเตรีย ณ โรงเรียนสอนศิลปะในเมือง Salzburg
ผลงานในยุคแรกเริ่มของพิริยะหลังจากที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากบรรดาครูผู้ยิ่งใหญ่ในวงการตัวเป็นๆ นั้นมีอรรถรสเข้มข้นจัดจ้านมาก พิริยะระเบิดอารมณ์ผ่านพู่กันอย่างเต็มที่ ท่านกล้าปาด กล้าป้าย กล้าใช้สีที่ฉูดฉาดตัดสลับกันอย่างแม่นยำลงตัวและมีชั้นเชิง จนนักวิจารณ์ศิลปะชาวตะวันตกที่ได้พบเห็นถึงกับยกย่องว่าพิริยะกำลังฉายแววที่จะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศไทย
ดังเช่นผลงานชิ้นเด่นชิ้นหนึ่งซึ่งถูกคัดเลือกมาตีพิมพ์เป็นหน้าสีเต็มหน้าในสูจิบัตรสำหรับงานแสดงที่สยามสมาคม ผลงานที่มีชื่อว่า ‘ลมเหนือ’ ชิ้นนี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ด้วยสีน้ำมันบนผ้าใบในขณะที่พิริยะกำลังหลงใหลไปกับฉากอันแสนเอ็กโซติกของภูเขา ป่าไม้ และชาวพื้นเมืองของเกาะคอร์ฟู ประเทศกรีซ สถานที่แปลกใหม่ซึ่งพิริยะไปพำนักอยู่ถึง ๒ ปีในฐานะศิลปินเต็มตัว เพื่อหาแรงบันดาลใจแบบเดียวกับที่ศิลปินใหญ่ในยุโรปหลายๆ ท่านเขาก็ทำกัน เช่น โกแกง ที่หลบลี้หนีความศิวิไลซ์ไปอยู่บนเกาะตาฮิติ
ภาพลมเหนือจากยุคคอร์ฟูของพิริยะนั้นไม่ได้เย็นยะเยือกตามชื่อ แต่กลับให้ความรู้สึกร้อนรุ่ม ด้วยท้องฟ้าสีเพลิง มีใบไม้สีเขียวสดจนแทบจะเรืองแสงสลับกับสีเหลืองแสบตาของใบที่เหี่ยวแห้ง ทั้งใบ ทั้งกิ่งก้าน ที่บิดเบี้ยวใหม้ดำดั่งตอตะโก ล้วนลู่ไหวไปด้วยกำลังลมรุนแรง เบื้องหน้ามีร่างมนุษย์ที่ดูร้อนรุ่มไม่ต่างจากท้องฟ้ากำลังเอี้ยวท่าบิดตัว รายละเอียดบนตัวและใบหน้าล้วนลบเลือนจนมองดูคลับคล้ายคลับคลาเหมือนก้อนดินน้ำมันที่กำลังจะละลาย ทุกสิ่งอย่างในภาพช่างดูระอุอบอวลดุจถูกฉาบด้วยเปลวแดด หากย้อนเวลาไปในวันนั้นวันที่รูปนี้ถูกจัดแสดง ต่อให้ห้องของสยามสมาคมจะเปิดแอร์เย็นฉ่ำเบอร์ไหน ใครผู้ใดหากได้มายืนตรงหน้าภาพลมเหนือแล้วจับจ้องอย่างตั้งใจ รับประกันว่าจะนำพาให้ร้อนจับใจถึงกับเหงื่อไหลได้เลยทีเดียว
แม้แต่ น. ณ ปากน้ำ หรือ ประยูร อุลุชาฎะ ปราชญ์คนสำคัญของชาติยังเคยพรรณนาถึงภาพลมเหนือไว้ว่า
“เป็นภาพสีน้ำมันเขียนด้วยสีสันอันร้อนแรง แบบศิลปะสมัยหลังของอิมเพรสชันนิสม์ ชื่อภาพ ‘ลมเหนือ’ ใช้ท้องฟ้าและพื้นล่างเป็นสีแดงฉาน ระบุถึงอารมณ์อันรุนแรง ผสมผสานกับสภาพอันร้ายกาจของธรรมชาติ การใช้สีสดๆ ตัดกันเตือนใจให้นึกถึงศิลปะร่วมสมัยคือ ‘โฟเวอส์’ (Feuves) ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสอันมีมาพร้อมกับลัทธิอิมเพรสชันนิสม์ นับว่าเป็นภาพที่ดีชิ้นหนึ่ง”
และด้วยความเป็นคนโชคดีแบบอินฟินิตี้ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อพิริยะกลับมาเมืองไทยในหลวงรัชกาลที่ ๙ ยังทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้พิริยะตามเสด็จฯอย่างใกล้ชิด เพื่อถวายคำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคทางศิลปะ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นผลงานฝีพระหัตถ์มากมายที่ทรงสร้างสรรค์ด้วยสีน้ำมันในเฉดฉูดฉาดและแต้มปาดอย่างฉับไว ในช่วงเวลานั้นพิริยะยังมีโอกาสวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จากพระองค์จริง ซึ่งน่าจะมีศิลปินไทยเพียง ๒ ท่านที่เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเยี่ยงนี้ ท่านหนึ่งคือ จำรัส เกียรติก้อง ที่ได้วาดภาพหนึ่งซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป กับอีกท่านหนึ่งก็คือ พิริยะ นี่แหละที่ได้วาดเอาไว้เป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันผลงานเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดแสดงเพราะอยู่ในคอลเล็กชันส่วนพระองค์
ในขณะที่เส้นทางในฐานะจิตรกรของพิริยะนั้นถูกโรยด้วยกลีบกุหลาบแบบยากที่จะมีใครเสมอเหมือน พิริยะกลับผละจากการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อหันมามุ่งเอาจริงเอาจังในเชิงวิชาการซะดื้อๆ โดยตัดสินใจเดินทางไปศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ที่ Indiana University Bloomington และได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม หลังจากนั้นจึงไปเรียนต่อที่ Harvard University สถาบันการศึกษาระดับแนวหน้าของสหรัฐอเมริกาจนสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ศิลป์ หลังจากนั้นต่อมาเป็นระยะเวลาอีกกว่าครึ่งศตวรรษ พิริยะยังดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ทางวิชาการ และทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มพูนความรู้ในหัวข้อต่างๆ มากมาย จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลป์หัวก้าวหน้าที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับอินเตอร์
ราวกับว่าเมื่อพิริยะจะเลือกดำเนินชีวิตไปในเส้นทางไหน ก็สามารถไปไกลกว่าใครได้ในทุกทาง แน่ล่ะส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะท่านเคราะห์ดี และมีพรสวรรค์ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่เชื่อเถอะสาเหตุหลักที่ท่านประสบความสำเร็จได้ถึงขั้นนี้นั้น มาจากความเอาจริงเอาจัง ทุ่มเทอย่างสุดๆ ในสิ่งที่สนใจ ดูสิมีที่ไหนพออยากเป็นจิตรกรก็ดั้นด้นไปฝากตัวกับศิลปินระดับโลก แถมยังปลีกวิเวกไปติดเกาะลิ้มลองชีวิตแบบศิลปินฮาร์ดคอร์อยู่ตั้งเนิ่นนาน พออยากจะเป็นนักประวัติศาสตร์ ก็สอบเข้าและเรียนจบพร้อมเกียรตินิยมจากสถาบันท็อปๆ ของดาวโลกได้ สุดหล้าฟ้าเขียวขนาดนี้โชคดีอย่างเดียวคงไม่พอแน่ๆ