
นักวิจารณ์ศิลปะจึงมักจำแนกผลงานของทวีเป็นแนวเหนือจริง หรือเซอเรียลลิสต์ (Surrealist) และยกให้เป็นศิลปินคนแรก ๆ ของเมืองไทยที่ริเริ่มการวาดภาพในสไตล์นี้
– ตัวแน่น
ในบันทึกช่วยจำที่ศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี เขียนขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2500 ระบุไว้ว่า
ทวี 70000
นาย ดำรง 2700
นาย ชิต 5000
นาย ชลูด 1200
นาย มานิตย์ 300
นาย ประหยัด 250
นาย จำรัส 1500…
ต่อด้วยลิสต์รายนามศิลปินชื่อคุ้น ๆ อีกยาวเป็นหางว่าว ตามติดด้วยราคาผลงานศิลปะของแต่ละท่าน บันทึกนี้เป็นหลักฐานสำคัญช่วยให้เรารู้แจ้งแดงแจ๋ว่าสมัยนั้นตลาดศิลปะในเมืองไทยนั้นเขาซื้อขายงานใคร ในราคาเท่าไหร่
น่าสังเกตว่าในขณะที่ศิลปินทั้งหมดตั้งราคาผลงานอยู่ในหลักร้อย เต็มที่ก็หลักพัน แต่มีอยู่ท่านหนึ่งที่ช่างกล้า ตั้งราคาไว้ถึง 70000 ในยุคที่ทองยังราคาบาทละไม่กี่ร้อย และเงินจำนวนหลาย ๆ หมื่นนั้นสามารถเอาไปซื้อบ้านซื้อรถได้เลย บุคคลท่านนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ทวี นันทขว้าง

ภาพถ่าย ขนาด 7 x 5.5 เซนติเมตร ถ่ายโดย Luca Invernizzi Tettoni
เป็นที่รู้กันว่าภาพวาดของ ทวี นันทขว้าง นั้นเป็นของสะสมที่เซียนทั้งใน และนอกวงการศิลปะ ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อเรื่อยมาจนถึง รุ่นลูกรุ่นหลานพากันพลิกแผ่นดินหา รูปแบบผลงานของทวี นันทขว้าง ที่ติดตาสาธารณชนจนเป็นพิมพ์นิยม คือภาพวาดแนวเสมือนจริงที่สร้างสรรค์โดยใช้พู่กันขนาดเล็ก แตะแต้มใส่รายละเอียดยุบยิบลงในภาพอย่างช่ำชองแม่นยำ หากดูใกล้ ๆ จะเห็นทีแปรงชัด ๆ เป็นปื้น ๆ แบบไม่เกลี่ย แต่เมื่อถอยมองในระยะที่ห่างออกมาองค์ประกอบของสีทั้งหมดจะกลมกลืนผสมปนเปกันอย่างเนียนตาน่ามหัศจรรย์ ภาพที่ทวีวาดส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาเป็นภาพดอกไม้ ภาพทิวทัศน์ขุนเขา และภาพป่าดงพงไพร ผลงานของทวีมีเอกลักษณ์ที่ความลึกล้ำ ทวีไม่ได้พยายามเลียนแบบธรรมชาติ ฉากทั้งหมดในภาพไม่ได้มีอยู่จริง สิ่งที่ท่านทำคือเพิ่มเติมและตัดทอนสิ่งที่มีอยู่รอบตัว นำมาจัดองค์ประกอบใหม่อย่างชาญฉลาดในบรรยากาศที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง กระตุ้นอารมณ์ผู้ชมให้มากกว่าที่ธรรมชาติจะรังสรรค์ให้ได้ ด้วยเหตุนี้นักวิจารณ์ศิลปะจึงมักจำแนกผลงานของทวีเป็นแนวเหนือจริง หรือเซอเรียลลิสต์ (Surrealist) และยกให้เป็นศิลปินคนแรก ๆ ของเมืองไทยที่ริเริ่มการวาดภาพในสไตล์นี้
ฝีไม้ลายมือของ ทวี นันทขว้าง ฉายแววเก่งกาจมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว ในขณะที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรตอนอายุ 20 งานของท่าน มักได้คะแนน 100+1 หรือ 100+3 อยู่เสมอ ๆ เรียกได้ว่าเก่งเกินจนอาจารย์ต้องให้คะแนนแบบล้น ๆ เป็นที่รู้ดีในหมู่เพื่อนว่างานเรียนของทวีมักถูกเลือกมาติดบอร์ดโชว์อยู่เป็นประจำ ตั้งแต่สมัยเรียนจนกระทั่งกลายมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะในมหาวิทยาลัยศิลปากรเสียเอง ภาพวาดชิ้นต่าง ๆ ของทวีได้กวาดรางวัลจากงานประกวดศิลปะระดับชาติ และระดับนานาชาติมานับไม่ถ้วน ครั้งหนึ่งศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ถึงกับเอ่ยปากชมว่า ‘นายทวีเขาเกิดมาเพื่อเขียนรูป งานของนายทวีนี้ให้รางวัล ที่ 1 ได้ทุกชิ้น ชิ้นไหนก็ได้’ ด้วยความสามารถและรางวัลการันตีมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านจะได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมในปี พ.ศ. 2499 และได้เป็นศิลปินแห่งชาติในปี พ.ศ. 2533 พ่วงไปอีกตำแหน่ง

ในแง่ความนิยมชมชอบของสาธารณชนไทยกับผลงานศิลปะของ ทวี นันทขว้าง ที่ว่าฮิตติดลมบนมาตั้งแต่สมัยก่อนยันปัจจุบันนั้นไม่ใช่คำกล่าวอ้างที่เกินจริงเลย ตั้งแต่ยุคที่ทวีเริ่มประกอบอาชีพจิตรกรเต็มตัว ผลงานของท่านก็แทบจะวาดไม่ทันขายแล้ว แกลเลอรีหรือนักสะสมถ้าอยากมีสิทธิ์ครอบครองก็ต้องรอคิวกันยาวเหยียด ในสมัยก่อนภาพวาดของทวีซื้อขายกันในราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน ซึ่งถือว่ามีราคาสูงมากที่สุดในเมืองไทย แถมลูกค้าบางท่านซื้อไปแล้วเกิดถูกอกถูกใจถึงกับโอนเงินมาเพิ่มให้ก็มี ถึงผลงานจะขายดีได้ราคา แต่ทวีก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร เพราะภาพแต่ละภาพใช้เวลาวาดยาวนานกว่าจะเสร็จ อีกทั้งศิลปินไม่ใช่โรงงานที่จะปั๊มผลงานออกมาได้ทุกวัน ถ้าอารมณ์ไม่มา จะให้ฝืนใจยังไงก็วาดไม่ได้ ในแต่ละปีทวีเลยผลิตผลงานออกมาได้เพียงไม่กี่ชิ้น
หลังจากทวีถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2534 ราคาผลงานของท่านก็เริ่มขยับจากหลักแสนไปเป็นหลักล้าน และแพงขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับอย่างในปี พ.ศ. 2541 มีการประมูลของ องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. ที่นำทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกปิดกิจการมาประมูลขายทอดตลาด ในบรรดาทรัพย์สินเหล่านั้นมีภาพวาดบึงบัว และกอไผ่ฝีมือ ทวี นันทขว้าง โดยผลงานศิลปะที่มีผู้ให้ราคาสูงที่สุดในงานก็คือภาพนี้แหละ โดยเริ่มประมูลกันที่ 4 แสนบาท แต่สุดท้ายมีผู้แข่งขันกันอย่างดุเดือดจนราคาไปจบที่ 2.8 ล้านบาท ผลการประมูลสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจในปีนั้นแบบคนละทิศคนละทาง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 บริษัทประมูลระดับโลกอย่างคริสตีส์ (Christie’s) เห็นว่าตลาดศิลปะในเมืองไทยคึกคักดีจึงมาจัดงานประมูลศิลปะในบ้านเรา ภาพวาดที่ขายได้ราคาสูงสุดในงานประมูลในงานก็เป็นผลงานของทวีอีก ครั้งนี้เป็นภาพดอกบัว และหญิงสาว ที่ขายได้ในราคาเกือบ ๆ 3 ล้านบาท ครองแชมป์ศิลปินไทยที่ผลงานมีมูลค่ามากที่สุดอย่างเหนียวแน่น และหลังจากนั้นเมื่อมีผลงานของทวีออกประมูล หรือขายกันเองที่ไหนก็ยังรักษาสถิติราคาได้อย่างต่อเนื่อง
หลายปีก่อนตอนที่เราเพิ่งเริ่มสนใจงานศิลปะ พอเห็นภาพถ่ายสีเพี้ยน ๆ ของผลงาน ทวี นันทขว้าง ทั้งในหนังสือเก่า ๆ ทั้งในอินเตอร์เน็ต แล้วเคยหลงคิดไปว่าสาธารณชนจะพากันเห่ออะไรกันหนักหนากับแค่ภาพวิวทิวทัศน์ เนื้อหาง่าย ๆ แสนจะธรรมดา จนวันหนึ่งพอได้มีโอกาส หรือต้องเรียกว่าได้มีบุญก็ไม่น่าจะเกินเลย จับพลัดจับผลูได้ไปยืนอยู่ตรงหน้าภาพวาด บึงบัว และกอไผ่ อันเป็นซิกเนเจอร์ของทวีที่แขวนแสดงไว้ จึงได้สัมผัสถึงความพิเศษ เพราะผลงานของทวีให้ความรู้สึกราวกับหน้าต่างวิเศษที่เปิดไปยังอีกมิติ ยิ่งเพ่งพินิจก็ยิ่งรู้สึกเหมือนกำลังลอยเข้าไปในภวังค์ ภาพบรรยากาศบึงน้ำสลัว ๆ ปกคลุมด้วยไอหมอกบาง ๆ เบา ๆ บนผิวน้ำคลาคล่ำไปด้วยดอกบัวสีชมพูเปล่งปลั่งชูช่อทั้งหุบทั้งบาน สลับกับใบบัวที่มีทั้งใบอ่อนใบแก่สีเขียวสีน้ำตาล ริมตลิ่งมีต้นไผ่ และใบหญ้ากำลังไหวเอนโน้มก้านลู่ลม และมวลของลมนี้ยังล่องลอยไปสัมผัสกับผิวน้ำอย่างแผ่วเบาเกิดเป็นริ้วคลื่นเล็ก ๆ ปะทุความเคลื่อนไหวบนผิวน้ำที่เกือบจะนิ่งสงบ บนใบบัวมีหยดน้ำเม็ดใส ๆ กลิ้งกลอกทอประกายระยิบระยับ แสงและเงาในภาพนั้นเหมือนจะสมจริงแต่ก็ไม่จริง บอกไม่ได้ว่าเป็นเวลาเช้าสายบ่ายเย็น กลางวันหรือกลางคืน ตลอดเวลาไม่กี่อึดใจที่เราติดอยู่ในมิติชุ่มเย็นอันน่ารื่นรมย์นี้ รับรู้ได้เลยว่าจิตใจสงบนิ่งอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน ณ โมเมนต์นั้นถึงได้ตื่นรู้ว่างานศิลปะชิ้นเยี่ยมนั้นดีต่อใจได้มากจนยากนักที่จะทำใจผละสายตาออกไปเพื่อกลับสู่โลกของความเป็นจริงอันอลหม่าน
เรื่อง และ ภาพ : ตัวแน่น