Wednesday, March 19, 2025
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ทะเลมรกต คู่ฟัดที่สูสีของซิมโฟนี่จักรวาล

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

‘ทะเลมรกต’ จะถูกสายลม และเกลียวคลื่นพัดพาให้ไปอยู่แห่งหนใด จะตามรอยคู่ฟัดแต่ปางก่อนอย่าง ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ ไปสร้างสถิติใหม่ๆในงานประมูลไหม หรือจะยังคงแฝงกายอยู่อย่างเร้นลับในคอลเลคชั่นของใคร

อาจจะฟังดูเหมือนอภินิหาร แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย เมื่อได้ทราบข่าวว่าเมื่อในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ภาพ ‘The Symphony of the Universe’ ฝีมือศิลปินไทยนามว่า ประเทือง เอมเจริญ จะถูกประมูลไปในราคาสูงถึง 6,048,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือราวๆ 27,400,000 บาท โดยสถาบันการประมูลระดับโลกอย่างคริสตี้ส์ ผลการประมูลที่สูงเป็นประวัติการณ์ต้องนับว่าสมราคาเพราะผลงานชิ้นนี้ได้รับการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นผลงานชิ้นที่ยอดเยี่ยม เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และงดงามลงตัวที่สุดจากงานชุดจักรวาลอันลือเลื่องของประเทือง

ประเทือง เอมเจริญ จิตรกรผู้ที่ไม่เคยได้เข้าเรียนศิลปะในสถาบันการศึกษาที่ไหนเลย แต่กลับมีฝีมือสูงส่งจากพรสวรรค์และครูพักลักจำเอาเองล้วนๆ จากที่ลำบากแสนสาหัสในวัยเด็กชีวิตก็เริ่มสุขสบายมีเงินเดือนพอกินพอใช้จากการทำงานเป็นช่างเขียนป้ายโฆษณาในโรงหนัง แต่วันดีคืนดีเกิดไปประทับใจภาพยนต์ชีวประวัติของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ เลยเลิกอาชีพรับจ้างมาเป็นศิลปินอิสระอย่างเต็มตัวแบบฉับพลันทันด่วน ชีวิตจึงกลับมาขัดสนอีกครั้ง ผลงานในยุคแรกของประเทืองนั้นเป็นแบบกึ่งนามธรรมที่เน้นโทนสีดำมืด ยิ่งประสบกับความอัตคัดอึดอัด เป็นหนี้เป็นสิน ลูกชายเป็นมะเร็งเสียชีวิต แม่ของประเทืองป่วยทางจิตทำร้ายตัวเอง อารมณ์ความรู้สึกหดหู่หมดอาลัยตายอยากเลยยิ่งสะท้อนเข้าไปอยู่ในผลงานประดุจเลือดและน้ำตาของศิลปิน ส่งผลให้ไม่มีลูกค้าสนใจซื้อหาผลงานไปแขวนประดับบ้าน หรือเก็บสะสมเพราะดูไม่เจริญหูเจริญตา

ประเทือง เอมเจริญ และ ท้องทะเล (ภาพจากหนังสือ ประเทือง เอมเจริญ “ร้อยริ้วสรรพสีสัน” ตำนานชีวิตและสังคม)

ประเทือง และครอบครัวแทบจะล้มหายตายจากไปแล้ว เพราะกว่าจะค้นพบแนวทางศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ของตนที่สาธารณชนให้ความนิยมก็อีกหลายปีให้หลัง โดยในพ.ศ. 2510 ประเทืองเริ่มเห็นแสงสว่างแห่งความสำเร็จจากการคว้ารางวัลระดับชาติรางวัลแรกในชีวิตมาได้ โดยได้รับเหรียญเงินในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 17 และหลังจากนั้นก็ได้รับรางวัลอื่นๆอีกเรื่อยมาทำให้เริ่มมีชื่อเสียงและขายผลงานศิลปะได้ จากภาพวาดที่ดูอึมครึมในยุคที่ต้องอดมื้อกินมื้อ ก็ค่อยๆเริ่มมีสีสันวิจิตรพิศดารซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ ประเทืองเริ่มหันไปหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติโดยเฉพาะแสงสีรุ้งที่ฉายเป็นประกายจากดวงอาทิตย์

โดยทุกๆเช้าประเทืองจะตื่นแต่รุ่งสางเพื่อไปสังเกตความเปลี่ยนแปลงของแสงในช่วงเวลาต่างๆของวัน เพ่งมองดวงอาทิตย์จนตาแทบบอดแล้วจดจำเอามาวาดเป็นภาพนามธรรม เริ่มเกิดเป็นผลงานชุดจักรวาล โดยในปี พ.ศ. 2514 จากการมุ่งมั่นพัฒนาประสบการณ์เก็บเล็กผสมน้อยมาอย่างต่อเนื่อง ประเทืองได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นที่นับว่าดีที่สุดของชุดนี้ได้สำเร็จและตั้งชื่อให้อย่างเพราะพริ้งว่า ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ หรือ ‘The Symphony of the Universe’ ซึ่งผู้ที่ได้โอกาสรับผลงานชิ้นนี้ไปครอบครองก็คือ เสถียร เสถียรสุต ผู้สนับสนุนหลักของประเทืองรวมถึงอีกหลายต่อหลายศิลปินในยุคนั้น

เสถียร เสถียรสุต เป็นเจ้าของธุรกิจมากมายรวมถึง ‘เพลินจิตอาเขต’ ห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ในทำเลทองย่านชิดลม ในเวลาเดียวกันเสถียรได้เปิดแกลเลอรีซื้อขายงานศิลปะชื่อว่า ‘เพลินจิตแกลเลอรี’ อยู่ภายในห้าง โดยแกลเลอรีนี้ไม่เน้นขาย แต่จะหนักไปทางซื้อเข้าซะมากกว่า เพราะเจ้าของรักงานศิลปะ อีกทั้งยังมีฐานะระดับเจ้าสัว ว่ากันว่าหากศิลปินที่เสถียรชื่นชอบอย่างเช่น ประเทือง เอมเจริญ, ถวัลย์ ดัชนี, สวัสดิ์ ตันติสุข, หรือ หม่อมหลวง ปุ่ม มาลากุล ขนรูปมาขายที่เพลินจิตแกลเลอรี พนักงานประจำแกลเลอรีก็จะโทรบอกเสถียรซึงโดยปกติจะอาศัยอยู่ในห้องสวีทของโรงแรมใกล้ๆแทนการอยู่บ้าน พนักงานแค่แจ้งจำนวน ขนาด โดยเสถียรไม่จำเป็นต้องเห็นผลงานจริงก็ตัดสินใจซื้อได้ และถ้าภายหลังเสถียรมาเห็นงานที่ซื้อไว้แล้วถูกใจเป็นพิเศษก็จะโอนเงินเพิ่มไปให้ศิลปินอีก เพราะเป็นคนง่ายๆใจถึง พึ่งได้ ขนาดนี้ผลงานศิลปะชิ้นดีๆถึงหลั่งไหลมาหาเสถียรอย่างไม่ขาดสาย ศิลปินเองก็ไม่กล้าจะเอางานชิ้นรองๆมาส่งเพราะถ้าขืนสเถียรไม่ถูกใจเดี๋ยวจะเสียลูกค้าคนสำคัญไป นานวันเข้าเพลินจิตแกลเลอรีจึงเต็มไปด้วยผลงานศิลปะชิ้นสำคัญระดับพิพิธภัณฑ์ และแต่ละชิ้นก็ตั้งราคาค่างวดไว้สูงลิบลิ่วเหมือนไม่อยากให้มีใครมาซื้อไป

‘ทะเลมรกต (The Emerald Sea) พ.ศ. 2521
เทคนิค สีน้ำมันบนผ้าใบ
ขนาด 130 x 124 เซนติเมตร
ศิลปิน ประเทือง เอมเจริญ

เมื่อสถานการณ์ร้อนระอุสงบลง ประเทืองจึงหันกลับไปหาแรงบันดาลใจจากธรรมชาติอีกครั้ง ถัดจากผลงานชุดจักรวาลประเทืองยังคงยึดโยงกับความงดงามของแสง ที่เพิ่มเติมคือการแสวงหาสภาพแวดล้อมใหม่ๆภายใต้แสงอาทิตย์ที่สาดส่อง สำหรับประเทืองการจะเข้าใจอะไรให้ลึกซึ้งถึงแก่น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันกับสิ่งนั้นๆ ในปีพ.ศ. 2521 เพื่อจะแตกฉานในความงดงามอย่างมีชีวิตชีวาของท้องทะเล ประเทืองจึงตัดสินใจออกเดินทางไปอาศัยอยู่ริมทะเล ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นเวลาหลายเดือน ทุกๆวันประเทืองเฝ้าสังเกตแสงยามเช้า กลางวัน และเย็นที่กระทบกับคลื่นทะเล พิจารณากิ่งปะการังแต่ละแขนง หินแต่ละก้อน ทรายแต่ละเม็ด จนเข้าใจแก่นแท้ของสรรพสิ่งที่รายล้อม แล้วค่อยๆถ่ายทอดออกมาเป็นบทกวี และภาพวาดชุดทะเลชุดแรกของประเทือง       

ภาพ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ กลายเป็นภาพชิ้นท้ายๆในชุดจักรวาล เพราะหลังจากที่ประเทืองวาดภาพนี้แล้วเสร็จไม่นานสถานการณ์บ้านเมืองก็เริ่มระส่ำระส่าย ระบอบเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศไทยมากว่าทศวรรษถูกต่อต้านโดยประชาชน เกิดการกวาดล้างผู้ประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และต่อเนื่องมายังเหตุการณ์ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ผลงานจิตรกรรมของประเทืองที่สร้างขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวแทบทั้งหมดจึงเป็นการสะท้อนแนวคิดทางการเมือง ระบายความคับข้องใจส่วนตัวออกมาเป็นภาพที่มีเนื้อหาในเชิงสัญลักษณ์เช่น ภาพปืนที่กำลังเน่าเปื่อยบิดเบี้ยว หรือภาพพระพุทธเจ้าที่พรุนไปด้วยรูกระสุน ไม่ใช่ภาพวาดที่จะนำไปขายให้ใครใช้แขวนประดับได้

และในบรรดาผลงานจิตรกรรมชุดทะเล ชิ้นที่นับว่าเป็นเพชรยอดมงกุฎ ด้วยความเข้มข้นของรายละเอียดเนื้อหาที่ฉวัดเฉวียนพลุ่งพล่านระยิบระยับเกินกว่าภาพในชุดเดียวกันชิ้นไหนๆ คือผลงานจิตรกรรมที่ประเทืองตั้งชื่อไว้ว่า ‘ทะเลมรกต’ หรือ ‘The Emerald Sea’ ประเทืองพิถีพิถันในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้มากเป็นพิเศษ เริ่มด้วยการเตรียมเฟรมไม้และผ้าใบ VIktoria Malieinen อย่างดีที่นำเข้าจากประเทศเยอรมันนี และเลือกใช้สีน้ำมันเกรดสูงสุดที่จะไม่ซีดเซียวหรือหลุดร่อนในกาลข้างหน้า ประเทืองระบายสีบรรยากาศทั้งหมดด้วยสีเขียวมรกตเฉดเดียวกับน้ำทะเลในวันที่แสงสวยที่สุดก่อน หลังจากนั้นจึงลงสีฟ้าทับลงไปอีกชั้นให้เกิดเป็นท้องนภาในยามรุ่งสาง เติมด้วยสีน้ำเงินไล่เฉดจากอ่อนไปแก่ให้เห็นความสลับซับซ้อนของเกาะแก่งที่อยู่ห่างไกลสุดลูกหูลูกตา รวมถึงใช้เฉดน้ำเงินที่เข้มขรึมยิ่งกว่าในการพรรณนาความลึกของก้นบึ้งมหาสมุทรที่แสงไม่อาจเล็ดรอดไปถึง ประเทืองเลือกสีเหลืองเพื่อสื่อถึงแสงแรกของรุ่งอรุณจากดวงอาทิตย์ที่กำลังเคลื่อนตัวออกมาแต่ยังไม่พ้นขอบฟ้า แถบแสงอันอบอุ่นนุ่มนวลกระทบลงไปยังผืนน้ำที่คลาคล่ำไปด้วยมวลสสาร และความเคลื่อนไหว หากใช้เวลาชื่นชม ปลดเปลื้องอารมณ์ ขยับเข้ามาสังเกตดูใกล้ๆ จะสัมผัสได้ถึงเกลียวคลื่นและฟองประกายสีรุ้งที่พัดหมุนเวียนส่งต่อพลังงานกันไปมาอย่างไม่สิ้นสุด ในกระแสน้ำยังมีรูปทรงนามธรรมกระตุ้นให้เกิดจินตนาการอันไร้ขอบเขต บ้างก็ดูเหมือนไข่มุก เหมือนอัญมณี เหมือนเปลือกหอย เหมือนเม็ดกรวดเม็ดทราย บ้างก็มีรูปทรงเหมือนจุลชีพ ทุกสรรพสิ่งล้วนประสานบรรจบกันอย่างสมดุลย์เพื่อค้ำจุนท้องทะเล

หลังจากประเทืองถ่ายทอดปรากฎการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติในมหาสมุทรอันสุดจะพรรณนาออกมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในภาพ ‘ทะเลมรกต’ ได้สำเร็จ ผลงานชิ้นพิเศษที่สุดของชุดทะเลจะเป็นของใครอื่นไปไม่ได้นอกจาก เสถียร เสถียรสุต บุคคลสำคัญท่านเดิม ซึ่งก็ไม่รีรอที่จะขอซื้อ พร้อมกันนั้นยังสั่งนำเข้ากรอบรูปที่ออกแบบเป็นพิเศษจากร้าน Galerie du monde ในฮ่องกงมาใส่อย่างพิถีพิถัน เพื่อจะนำไปเข้าคอลเลคชั่นร่วมกับภาพ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ ที่มีขนาดใกล้เคียง และมีรายละเอียดแบบจัดเต็มพอๆกัน

ต้องยอมรับว่าภาพ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ นั้นมีพลังร้อนแรงสำแดงออกมาอย่างล้นเหลือจนยากที่จะหาภาพวาดชิ้นไหนไปแขวนประดับเทียบได้ หากอุตริเอางานอะไรไปใกล้ก็เปรียบได้กับการฆ่าบูชายัญผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆแบบย่างสดด้วยพลานุภาพจากเปลวเพลิงของดวงอาทิตย์ ภาพวาดชิ้นไหนก็แล้วแต่ที่เคยดูดีมีกำลัง ก็อาจจะดูจืดชืดอ่อนแรงไปเลยแบบทันตาเห็นถ้าต้องปะทะกับ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ กันซึ่งๆหน้า

แต่ไฟบรรลัยกัลป์ย่อมสงบได้ด้วยกระแสน้ำอันเย็นยะเยือกจากก้นบึ้งมหาสมุทร ถึง ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ และ ‘ทะเลมรกต’ จะมีอุณหภูมิองศาแตกต่างกันแบบคนละขั้ว แต่เมื่อถูกแขวนแสดงอยู่คู่กันในเพลินจิตแกลเลอรีกลับไม่มีชิ้นใดเพลี่ยงพล้ำ เหมือนได้ดูมวยถูกคู่ที่ฝั่งหนึ่งเป็นแนวไฟต์เตอร์ แรงเหลือ พร้อมบวก พร้อมชน ขยันปล่อยหมัด ในขณะที่อีกฝั่งเป็นแนวดีเฟนซีฟ ตั้งรับแบบใจเย็นๆ เน้นประสบการณ์ หมั่นฟุตเวิร์คหลบอาวุธแบบพลิ้วๆรอจังหวะสวนกลับแบบน้อยๆ แต่เน้นๆ

ผลงานชิ้นพิเศษของประเทืองทั้ง 2 ชิ้นนี้ถูกแสดงอยู่ในเพลินจิตแกลเลอรีเป็นเวลายาวนานจนเป็นที่คุ้นตา ตราบจนวันสุดท้ายที่สถานแสดงงานศิลปะอันเป็นตำนานแห่งนี้ปิดกิจการไปพร้อมๆกับห้างเพลินจิตอาเขต

ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2540 เสถียรตัดสินใจยอมขายภาพ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ และ ‘ทะเลมรกต’ ผ่านทางเจ้าของร้าน สุจิตแกลอรี่อาร์ตแอนด์เฟรม โดยตั้งราคาภาพละ 800,000 และ 500,000 บาทตามลำดับ ในคราวนั้นภาพ ‘ทะเลมรกต’ ถูกซื้อไปโดยนักสะสมศิลปะรายใหญ่เจ้าของซีแอลแกลเลอรี ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมพาร์คนายเลิศ ส่วนเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์คือ ณ เวลานั้นภาพ ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ กลับขายไม่ออก ต้องส่งคืนเสถียรผู้เป็นเจ้าของ

และก็เป็นอีกครั้งที่ภาพ ‘ทะเลมรกต’ ได้แสดงเป็นภาพไฮไลท์อยู่ในแกลเลอรีแห่งถัดมาโดยตั้งราคาไว้สูงเสียดฟ้าเหมือนเดิมเพราะเจ้าของใหม่ก็หวงแหนไม่หวังจะขายเช่นเดียวกับเสถียรเจ้าของภาพท่านแรก แขวนโชว์อยู่หลายปีจนในที่สุดซีแอลแกลเลอรีก็ปิดตัวไปเมื่อหมดสัญญาเช่ากับทางโรงแรม ผลงานชิ้นนี้จึงถูกเก็บเข้ากรุพ้นจากสายตาประชาชนอีกครั้งเป็นเวลายาวนานตราบจนถึงวันนี้

น่าติดตามว่าในอนาคตภาพ ‘ทะเลมรกต’ จะถูกสายลม และเกลียวคลื่นพัดพาให้ไปอยู่แห่งหนใด จะตามรอยคู่ฟัดแต่ปางก่อนอย่าง ‘บทเพลงแห่งจักรวาล’ ไปสร้างสถิติใหม่ๆในงานประมูลไหม หรือจะยังคงแฝงกายอยู่อย่างเร้นลับในคอลเลคชั่นของใคร จะขอตั้งตารอวันที่ภาพทะเลชิ้นดังเผยโฉมให้สาธารณชนได้ชื่นชมอีกครั้ง จะได้ไปปล่อยจินตนาการ ดำผุดดำว่าย เล่นทราย ให้คลายคิดถึง

About the Author

Share:
Tags: ประเทือง เอมเจริญ / นิตยสารอนุรักษ์ / พิริยะ วัชจิตพันธ์ / อนุรักษ์ / The Art Auction Center / anurakmagazine / The Symphony of the Universe / ศิลปิน / วินเซนต์ แวนโก๊ะ / ตัวแน่น / The Emerald Sea / ศิลปินแห่งชาติ / ทะเลมรกต / thai artist / เสถียร เสถียรสุต / pratuang emjaroen / thaiartist /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ