Saturday, September 14, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ทำไมระเบียงบ้าน ถวัลย์ ดัชนี ถึงมีแรมโบ้

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

‘เราไม่คิดอะไรเลย เราทำตามแบบฝรั่งหมด เราจะเห็นว่าคนไทยที่อยู่นี่ มาตรฐานอเมริกัน เขาเรียกอเมริกันสแตนดาร์ด ในขณะที่ฝรั่งต้องการอยู่บ้านไทย ศึกษาวัฒนธรรมไทย กินอาหารไทย เราก็กินแดกด่วนของฝรั่ง เราเป็นฝรั่งหมดเลย’

ในบรรดาฉากเหตุการณ์สำคัญต่างๆในพุทธประวัติ คงไม่มีฉากไหนที่ดูดรามาติก ยิ่งใหญ่ ทรงพลัง เร้าอารมณ์ ไปกว่าฉาก มารผจญ ซึ่งเกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงประทับนั่งขัดสมาธิใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ แล้วอธิษฐานจิตว่าหากยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ จะไม่ลุกไปไหน

ถึงแม้ร่างกายจะแห้งเหี่ยวเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกก็ตาม การตั้งจิตซึ่งนำไปสู่การตรัสรู้ในครั้งนี้เป็นปฏิปักษ์โดยตรงกับพญามารซึ่งดลใจให้ผู้คนประพฤติชั่ว และตกอยู่ใต้อำนาจ ส่งผลให้บัลลังก์แห่งพระยาวัสสวดีมารเกิดการสั่นไหวอย่างรุนแรง พระยาวัสสวดีมารจึงไม่รอช้าขี่ช้างคีรีเมขล์ พร้อมพรั่งด้วยกองทัพมารจำนวนมหาศาล ยกพลมาเพื่อขับไล่พระองค์ให้เสด็จหนีไป     

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะยังทรงนิ่งเฉยไม่เกรงกลัว กองทัพมารจึงกระหน่ำซัดศัสตราวุธนานาชนิดเข้าใส่ แต่พอเข้าใกล้พระองค์อาวุธต่างๆกลับกลายสภาพเป็นกลีบดอกไม้ไปเสียทั้งหมด พระยาวัสสวดีมารเห็นดังนั้นจึงเปลี่ยนยุทธวิธีโดยการอ้างสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าของที่ประทับใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์แห่งนี้ และสั่งให้พระองค์ลุกออกไป เจ้าชายสิทธัตถะจึงขอให้ นางวสุนธรา หรือ พระแม่ธรณี มาเป็นพยานให้ว่าที่ประทับแห่งนี้เหมาะสม และเป็นของพระองค์จริงๆ พระแม่ธรณีจึงผุดขึ้นมาจากแผ่นดิน พลันบิดมวยผม จนเกิดกระแสน้ำรุนแรงไหลท่วมพัดพาพระยาวัสสวดีมาร และกองทัพให้แตกกระจายหายไปยังขอบจักรวาลอย่างหมดสิ้น      

‘มารผจญ’ ฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี
(ภาพจากหนังสือ Thawan Duchanee Modern Buddhist Artist โดย Russell Marcus)

ด้วยตัวละครที่มีบทบาท และอารมณ์แตกต่างกันมากมาย ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งที่ขึงขัง ดุดัน โกลาหล ฉากมารผจญจึงเป็นโจทย์อันท้าทายหากศิลปินท่านใดคิดจะถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมอันมโหฬารสมเหตุการณ์

ตั้งแต่อดีตกาล ผลงานจิตรกรรมฝาผนังโดยเฉพาะในพระอุโบสถของวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนนั้นนอกจะสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อประดับประดาให้เกิดความสวยงามแล้ว เนื้อหาในภาพยังมีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่ความเป็นมา และคำสอนของพระพุทธศาสนา ฉากที่มักถูกเลือกมาถ่ายทอดเป็นจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถประกอบไปด้วยเรื่องไตรภูมิบนผนังฝั่งพระประธาน ผนังด้านข้างทั้งฝั่งซ้ายและขวาเป็นเรื่องพุทธประวัติ และทศชาติวาดเรียงกันเป็นตอนๆ ส่วนผนังฝั่งประตูตรงข้ามกับพระประธานเป็นฉากมารผจญ

โดยจิตรกรรมฝาผนังภาพมารผจญสไตล์ไทยประเพณีมักจัดวางภาพแบบสมมาตรซ้ายขวา และมีการเรียงตัวละครเป็นแบบแผนคล้ายๆกัน คือตรงกึ่งกลางด้านบนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนโพธิบัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ตรงกึ่งกลางด้านล่างเป็นรูปพระแม่ธรณีกำลังบีบมวยผม ด้านขวาเป็นรูปพญามารขี่ช้างคีรีเมขล์ สูงตระหง่านอยู่เหนือกองทัพมารที่ต่างจับจ้องและหันคมอาวุธเข้าใส่พระพุทธเจ้า ส่วนด้านซ้ายเป็นรูปกองทัพมารเช่นเดียวกันแต่เป็นเหตุการณ์ภายหลังขณะกำลังกระเสือกกระสนอยู่ในกระแสน้ำจากมวยผมพระแม่ธรณีที่ไหลบ่าเข้าท่วม

จากหลักฐานภาพมารผจญเท่าที่พบในจิตรกรรมฝาผนังสมัยปลายอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ (ซึ่งจริงๆแล้วน่าจะมีวาดมาก่อนหน้านั้น แต่ปัจจุบันผุพังไปหมดจนไม่เหลือหลักฐานให้เห็น) ต่างถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยแพทเทิร์นที่เหมือนกันมาโดยตลอด เหมือนถูกบังคับไว้ด้วยกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ตกทอดต่อๆกันมา

จนราวปี พ.ศ. 2511 เมื่อ ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินหนุ่มหัวขบถผู้ซึ่งเพิ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านจิตรกรรมฝาผนัง และปริญญาเอกด้านอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ จากราชวิทยาลัยศิลปะ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อสร้างสรรค์ผลงานแนวพุทธศิลป์ที่แหวกล้ำ และเป็นเอกลักษณ์ของถวัลย์เอง ก็ถึงคราวที่เหตุการณ์มารผจญในพุทธประวัติจะถูกตีความด้วยมุมมองอันแปลกใหม่ร่วมสมัย ต่อยอดไปจากสไตล์ดั้งเดิม

หลังจากที่ถวัลย์ประสบความสำเร็จในการสร้างสรรค์ผลงานชุดรามเกียรติ์ และทศชาติ ด้วยรูปแบบที่ล้ำหน้า ฉีกกฎเกณฑ์ด้วยการนำเทคนิค และวิทยาการจากตะวันตกที่ได้ร่ำเรียน กับความเชื่อ หลักคิดที่หล่อหลอมมาจากรากเหง้าความเป็นไทย มาผสมผสานได้อย่างลงตัว จนผลงานพุทธศิลป์ไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับในเวทีศิลปะสมัยใหม่ระดับนานาชาติซึ่งเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ช่วงเวลานี้เองก็เป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผลงานชุดมารผจญถูกพัฒนามาจนตกผลึกสุกงอม พร้อมที่จะเปิดเผยสู่สายตาสาธารณชน

‘มารผจญ’, ‘Battle of Mara’ พ.ศ. 2532
เทคนิค สีน้ำมัน และทองคำเปลวบนผ้าใบ
ขนาด 174 x 360 เซนติเมตร
ศิลปิน ถวัลย์ ดัชนี

ภาพ ‘มารผจญ’ ฝีมือ ถวัลย์ ดัชนี นั้นถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาในหลากหลายเวอร์ชั่น แต่ถึงกระนั้นทุกๆชิ้นหากใครได้เห็นก็สามารถบอกได้ทันทีว่านี่คือฝีมือถวัลย์ โดยภาพในชุดมารผจญจะประกอบไปด้วยพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าซึ่งถวัลย์เลือกที่จะสื่อด้วยพระพักตร์ที่คล้ายพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปยุคที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่างดงามหมดจดที่สุด และที่รายล้อมอยู่รอบๆคือหมู่มารที่มีร่างเป็นมนุษย์กล้ามเนื้อกำยำบีบเกร็ง อยู่ในท่าที่บิดตัว โก่งตัว ก้งโค้ง กางเล็บ ง้างอาวุธ มารเหล่านี้มีหัวเป็นสัตว์ เช่น เสือ สิงห์ ลิง งู หมูป่า ปลาฉลาม แยกเขี้ยว ขู่คำราม อยู่ในท่าทางดุร้าย หันหน้าพร้อมที่จะพุ่งกระโจนไปทำร้ายพระพุทธเจ้าที่มีพระพักตร์นิ่งเฉยไม่เกรงกลัวกองทัพมารที่กำลังถาโถม โรมรัน เข้ามาหาอย่างบ้าคลั่ง ภาพที่ออกมาเหมือนเวลาถูกหยุดไว้อย่างฉับพลันในฉากการต่อสู้เสี้ยววินาทีที่กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม และทรงพลังมากที่สุด

อารมณ์ของภาพมารผจญสื่อออกมาได้อย่างชัดเจนระหว่างความสุข สงบ ดีงาม ในศีลในธรรม กับขั้วตรงกันข้ามคือความร้อนรุ่ม วุ่นวาย เลวทราม ซึ่งถูกชักนำโดยกิเลส ตัณหา ความโลภ โกรธ หลง ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนเป็นความรู้สึกภายในจิตใจ แต่ถูกอุปมาอุปมัยออกมาเป็นพุทธประวัติแนวอภินิหาร อันเป็นแรงบันดาลใจต่อมาสู่ผลงานจิตรกรรมทั้งแบบไทยประเพณี และแบบสมัยใหม่

ในบรรดาผลงานชุดมารผจญทั้งหมด ที่ถวัลย์สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา มีผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันบนผ้าใบขนาดใหญ่ที่น่าสนใจมากอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ผลงานชิ้นนี้ถวัลย์ตั้งใจวาดขึ้นมาแบบนี้เพียงครั้งเดียว ชิ้นเดียว ซึ่งไม่ได้ดูใกล้เคียงกับผลงานชิ้นใดๆทั้งก่อนหน้า และต่อๆมาของถวัลย์เลย จนใครๆก็จำได้ติดตา ขึ้นใจ ภาพวาดขนาดยาวเกือบ 4 เมตร และสูงเกือบ 2 เมตรชิ้นที่ว่านี้มีชื่อที่ถูกตั้งอย่างเป็นทางการเหมือนกับชิ้นอื่นๆในชุดเดียวกันว่า ‘มารผจญ’ หรือ ‘Battle of Mara’ แต่ที่พิเศษคือ ถวัลย์เอง สมาชิกในครอบครัว รวมถึงนักวิชาการ ภัณฑารักษ์ และนักสะสมในวงการศิลปะต่างก็เรียกผลงานชิ้นนี้ด้วยชื่อเล่นที่ไม่เป็นทางการว่า ‘แรมโบ้’

ก็จะไม่ให้เรียกแรมโบ้ได้อย่างไรล่ะเพราะถวัลย์เล่นวาดแรมโบ้ตัวเบ้อเร่อยืนจังก้าถือปืนยิงจรวดอาร์พีจีอยู่กลางภาพ แค่นั้นยังไม่พอ รอบๆแรมโบ้ ยังมีแรมโบ้เวอร์ชั่นในหนังภาคอื่นๆอีก รวมถึงคนดังในฮอลลีวูดอย่าง คนเหล็กดิเทอร์มิเนเตอร์ บรูซ ลี เอลวิส เพรสลีย์ โลนวูล์ฟ  แมดแม็กซ์ โคแนน ซูเปอร์แมน แบทแมน อีที ในภาพยังประกอบไปด้วยสัตว์สายพันธุ์อเมริกันอย่างนกอินทรีหัวขาวซึ่งเป็นสัตว์ประจำชาติ ม้าพาหนะของคาวบอย และชาวอินเดียนแดง รวมถึงช้างโคลัมเบียนแมมมอธ ช้างดึกดำบรรพ์พันธุ์ขนสั้นงายาว ซึ่งเจอซากฟอสซิลแบบครบทั้งตัวในเมืองลอสแอนเจลิสใกล้ๆกับฮอลลีวูดนั่นแหละ สรุปว่าทุกสรรพสิ่งในภาพล้วนเมดอินยูเอสเอ ไม่มีชาติอื่นใดมาปะปน

สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่ดูไม่ใช่พวกเดียวกัน เพราะถูกแยกเอาไว้ในกรอบที่ดูเหมือนหน้าต่าง อีกทั้งยังหันหลัง เหมือนไม่ยินดียินร้าย ก็คือส่วนเศียรของพระพุทธเจ้า ซึ่งบอกได้จากลักษณะพระกรรณที่ยืดยาว และบริเวณพระกรรณนั้นเองถวัลย์ยังวาดลวดลายไทยตามแบบฉบับของตนเองและปิดทอง เหมือนจะสื่อว่าพระพุทธองค์ไม่ได้ปิดกั้น นิ่งเฉย แต่ได้รับฟังสุ้มเสียงอันกัมปนาทจากสิ่งรายล้อม และนำมากลั่นกรองจนกลายเป็นทองด้วยไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ และปัญญา

ภาพสเก็ตช์ ‘มารผจญ’ เทคนิค ปากกาลูกลื่นบนกระดาษ

สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย หากเห็นภาพแรมโบ้ครั้งแรกอาจจะดูตลกๆเหมือนถวัลย์จับเอาโปสเตอร์หนังมายำรวมๆกัน แต่ผลงานสุดแปลกตาชิ้นนี้หากศึกษาให้ถ่องแท้ทะลุเปลือกนอกจะพบความหมายที่ศิลปินต้องการสื่อถึงในหลากหลายแง่มุม

ความหมายประการแรก ก็คล้ายๆกับผลงานรูปมาญผจญชิ้นอื่นๆที่สื่อถึงเหตุการณ์ฉากสำคัญในพุทธประวัติ แต่แทนที่จะใช้ภาพมารตัวเป็นคนหัวเป็นสัตว์เหมือนปกติ ถวัลย์กลับเลือกใช้ตัวละครจากหนังฮอลลีวูดพร้อมอาวุธครบครัน ถวัลย์ชอบการวาดภาพสรีระคนที่มีกล้ามเนื้อบึกบึนอยู่แล้ว ดาราที่เลือกมาเลยเน้นหุ่นล่ำบึ้กแบบนักเพาะกาย และเพื่อไม่ให้ตัวละครตกหล่นขาดหาย ช้างแมมมอธจึงถูกเลือกมาใช้จัดวางอยู่ในตำแหน่งของช้างคีรีเมขล์ด้วยซะเลย

ความหมายประการที่สอง ในสมัยที่ถวัลย์ร่ำเรียนอยู่ต่างประเทศ ณ ห้วงเวลาหนึ่งถวัลย์เคยตกอยู่ในภวังค์ของราคะจริต ทั้งๆที่ไม่ได้มีเงินทองมากมายเหมือนสมัยที่ประสบความสำเร็จ ถวัลย์ห่อหุ้มตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าด้วยเสื้อผ้าราคาแพงเพื่อสร้างความมั่นใจ และเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยให้เป็นที่ยอมรับในสังคม ยุคนั้นถวัลย์ต้องใส่สูทปิแอร์ บาลแมงค์ สวมเสื้อจีวองชี่ ใส่รองเท้ากุชชี่ เท่านั้น กว่าถวัลย์จะหลุดพ้นจากวังวนของแบรนด์เนมได้ก็เมื่อกลับมายังประเทศไทยแล้ว แต่ก็เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ถวัลย์พบว่าที่บ้านเกิดค่านิยมแบบตะวันตกก็กำลังแผ่ขยายเข้ามาจนวิถีชีวิตแบบไทยค่อยๆสูญหายไป ถวัลย์เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไฮ-คลาส ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2534 ไว้ว่า

ด้วยประสบการณ์ตรงที่เคยหลงระเริงไปด้วยตนเอง รวมถึงสถานการณ์บ้าคลั่งการใช้ชิวิตแบบฝรั่งเข้าขั้นโคม่าในสังคมไทยที่ถวัลย์ได้เห็น ภาพแรมโบ้จึงเป็นการระบายความอัดอั้นตันใจออกมาเป็นภาพหมู่มารผู้เป็นที่นิยมในโลกตะวันตก เพื่อใช้แทนค่านิยมแบบโลกตะวันตก รวมไพร่พลบุกประชิดคิดจะทำร้ายพระพุทธเจ้าซึ่งสื่อถึงวัฒนธรรม และประเพณีอันดีงามบนรากฐานความเชื่อทางพุทธศาสนาของไทย

 ความหมายประการที่ 3 เกิดจากการที่ถวัลย์เพียรพยายามจะค้นพบสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อจะประสบความสำเร็จเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในวงการศิลปะให้ได้ ตั้งแต่ถวัลย์เข้าเรียนในสถาบันศิลปะ จากโรงเรียนเพาะช่าง สู่มหาวิทยาลัยศิลปากร จนได้ทุนไปเรียนต่อที่ยุโรป ถวัลย์ทดลองสร้างสรรค์ผลงานมาแล้วทุกสไตล์เท่าที่โลกจะรู้จัก ทั้งแบบสมจริง แบบนามธรรม แบบอิมเพรสชั่นนิสม์ แบบบคิวบิสม์ แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบตัวตนที่แท้จริงได้ จนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่เนเธอร์แลนด์ให้ความเห็นว่า

‘นี่เป็นตัวอย่างที่แท้จริงของทาสที่ปลดปล่อยไม่ไป…มันทำเหมือนอิตาเลียน มันทำเหมือนฝรั่งเศส ทำเหมือนดัทช์…แต่เราไม่รู้เลยว่าอะไรที่เป็นตัวของมันเอง…’

          

ถวัลย์เปรียบเสมือนศีรษะที่ติดอยู่ในกรอบแคบๆบีบๆอย่างอึดอัด มโนภาพว่าซักวันจะค้นพบแนวทางศิลปะในแบบของตนเองได้

พอได้ยินดังนั้นถวัลย์เลยหันมามาวาดภาพที่มีเนื้อหาดูไทยจ๋าๆ เช่น วัดอรุณ เรือสุพรรณหงษ์ แต่พออาจารย์เห็นเข้ากลับตำหนิว่า‘นี่มันหลงทางใหญ่แล้ว ตอนแรกมันยังทำงานศิลปะ ถึงแม้มันจะไม่เป็นไทยเป็นอะไรแต่มันก็ทำงานศิลปะ เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเขียนโปสเตอร์ให้ อ.ส.ท. …ความเป็นไทยน่ะไม่ได้อยู่ที่รูปแบบ แต่อยู่ที่เนื้อหาเบื้องในภายในว่าทำยังไงความเป็นไทยนั้นจึงจะหายใจได้ เราจะต้องเอาอดีตมารับใช้ปัจจุบัน ไม่ใช่เอาปัจจุบันนี่ไปรับใช้อดีต เราจะเดินถอยหลังกลับไปสู่มดลูกของโลกนั้นไม่ได้ เราจะต้องพัฒนา สิ่งใดที่หยุดนิ่งคือสิ่งที่ตายแล้ว’งานของถวัลย์ในยุคต่อๆมาจึงเลิกตามก้น ปิกัสโซ่ โมเนต์ แวนโก๊ะ รวมศิลปินฝรั่งอื่นๆซึ่งมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะโลก ถวัลย์หันหลังกลับมามองบ้านเกิด มาทำความเข้าใจแก่นแท้ของจิตวิญญาณแบบตะวันออกที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แล้วถ่ายทอดออกมาอย่างไม่เสแสร้งจากก้นบึ้งแห่งจิตใจที่เป็นไทย

และเมื่อเวลาผ่านไปหลังจากที่ถวัลย์ค้นพบหนทาง และประสบความสำเร็จในอาชีพศิลปินแล้ว ถวัลย์มองย้อนกลับไปยังวันวานวันที่ถูกอิทธิพลศิลปะแบบตะวันตกครอบงำจนไม่สามารถขยับเขยื้อน หรือต่อยอดไปทางไหนได้ จึงแทนเหตุการณ์ด้วยภาพแรมโบ้ ที่ยอดมนุษย์เปรียบเสมือนอิทธิพลศิลปะตะวันตกอันยิ่งใหญ่ ในขณะที่ถวัลย์เปรียบเสมือนศีรษะที่ติดอยู่ในกรอบแคบๆบีบๆอย่างอึดอัด มโนภาพว่าซักวันจะค้นพบแนวทางศิลปะในแบบของตนเองได้

ถวัลย์ ดัชนี (ซ้าย) ณ สภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก Facebook ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง)

ในการสร้างสรรค์ผลงาน ‘แรมโบ้’ ถวัลย์เริ่มต้นด้วยการออกแบบ และร่างภาพด้วยปากกาลูกลื่นบนกระดาษอย่างละเอียดจนเป็นที่พอใจก่อน หลังจากนั้นจึงนำแบบมาวาดขยายด้วยสีน้ำมันลงไปบนผ้าใบขนาดใหญ่ เมื่อเสร็จสิ้นถวัลย์นำผลงานชิ้นนี้ไปแสดงถึงถิ่นดาราฮอลลีวูดในนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ กรุงลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสภาศิลปกรรมไทยแห่งสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นแรมโบ้จึงได้เดินทางข้ามโลกมาติดตั้งไว้บนกำแพงด้านนอกบ้านของถวัลย์บริเวณระเบียงชั้นสอง บ้านหลังนี้ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านนวธานีเป็นที่รู้จักในละแวกนั้นว่าบ้านรั้วเขาควาย ที่ได้ชื่อนี้มาเพราะรั้วบ้านด้านหน้าที่สูงแค่เอวถูกประดับประดาเรียงรายไปด้วยกระโหลกควายตลอดความยาวของรั้ว ส่วนตัวบ้านก็หน้าตาแปลกไม่แพ้กัน เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากยุ้งข้าวในเชียงรายที่เป็นบ้านเกิดของถวัลย์

ภาพ ‘มารผจญ’ ติดตั้งอยู่หน้าบ้าน ถวัลย์ ดัชนี (ภาพจากนิตยสารไฮ-คลาส ฉบับพฤษภาคม พ.ศ. 2534)

หากมีใครผ่านไปผ่านมา สิ่งที่ทุกคนจะได้พบ คือ รั้วเตี้ยๆและเขาควายเรียงเป็นแถว เมื่อมองลึกเข้ามาจะเห็นบ้านรูปทรงพิเศษที่มีภาพแรมโบ้ และเหล่าซูเปอร์สตาร์พร้อมอาวุธครบมือติดตั้งอยู่เป็นภาพแรกไว้ใช้ต้อนรับแขก เราเคยสงสัยว่าทำไมถวัลย์ถึงเลือกภาพนี้ไปแขวนเด่นเป็นสง่าไว้หน้าบ้านทั้งๆที่ดูยังไงก็ไม่ใช่ผลงานในรูปแบบปกติที่สาธารณชนคุ้นตา แต่พอได้ทราบความหมายอันลึกซึ้ง และเป็นส่วนตัวของภาพ ‘แรมโบ้’ ก็เลยเข้าใจแล้วว่าภาพนี้มีความเกี่ยวพันกับถวัลย์มากแค่ไหน เพราะไม่ใช่แค่แสดงเพียงฉากสำคัญในพุทธประวัติ แต่ภาพเดียวกันยังบอกเล่าถึงฉากสำคัญในชีวิตของ ถวัลย์ ดัชนี ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนจะตรัสรู้ทางศิลปะ กลายเป็นดั่งศาสดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของไทย

ติดตามบทความเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยจากคุณตัวแน่นได้ที่นี่ https://anurakmag.com/author/anurak_author001/

About the Author

Share:
Tags: The Art Auction Center / แรมโบ้ / ตัวแน่น / ถวัลย์ ดัชนี / พิริยะ วัชจิตพันธ์ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ