“ฮูปแต้ม”
จากงานศิลปะไร้มารยาสู่ความเป็นงานศิลปะร่วมสมัย
ศิลปะวัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงถึงความมีอารยะของชาติ ภาคอีสานมีภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นงานเขียนภาพจิตรกรรมบนฝาผนังโบสถ์ เรียกว่า “ฮูปแต้ม”
ในคำท้องถิ่น ฮูป ก็คือ รูปแต้ม เป็นคำกิริยา หมายถึง การวาด
เปิด Time capsule : เฮาชาวอีสานผู้มีอารยะ
สมัยก่อนวัสดุก่อสร้างไม่ได้หาซื้อได้ง่ายอย่างในปัจจุบัน ช่างต้องตระเตรียมเอง หรือ ชาวบ้านต้องร่วมแรงร่วมใจกันในการสรรหา เช่น พากันนั่งเกวียนไปขนทรายแม่น้ำ ไปขนหินปูนบนภูเขา หรือ ไปเก็บขี้นกอินทรี (ฟอสซิลหอย) แถบทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อมาทำเป็นปูนในการสร้างโบสถ์ หรือ “สิม” ในภาษาอีสาน รวมถึงปลูกอ้อยกันเองเพื่อคั้นเอาน้ำมาเป็นตัวประสานปูนเป็นต้น
เมื่อถึงกระบวนการแต้มฮูป ช่างจะวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ใช้รากต้นลำเจียกบุปลาย หรือใช้ขนสัตว์ ในการทำพู่กันระบาย ใช้กาบห่อต้นไผ่ในการวาดเส้นเล็กๆ อย่างวาดคิ้วกรีดตาให้เรียวคม เป็นต้น
สีที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นสีที่ปรุงจากธรรมชาติ อย่างพืชพรรณ สัตว์ และแร่ธาตุ เช่น สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองจากยางรง สีม่วงจากเปลือกลูกหว้า สีน้ำตาลจากยางรัก สีขาวจากเปลือกหอยกาบกี้เผาไฟ (หอยมุกน้ำจืด) สีดำจากเขม่าก้นหม้อ และสีเทอร์คอยส์ที่เป็นสูตรผสมระหว่าง คราม ยางรง และเปลือกหอยกาบกี้เผาไฟ เป็นต้น
ภาพที่นิยมวาดเห็นจะเป็นเรื่องราวในพุทธประวัติ พระเวสสันดร สังสินไซ พระมาลัย แต่สิ่งสำคัญที่สอดแทรกอยู่ในภาพตำนานนิทาน คือ วิถีชีวิตพื้นบ้าน ฮีตคอง ซึ่งยุคโบราณเป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านธรรมดาจะได้เรียนหนังสือ ผู้ชายยังได้อาศัยบวชเรียน ส่วนผู้หญิงก็อาศัยศึกษาสิ่งควรไม่ควรจากฮูปแต้มนี่เอง
ด้วยความที่เป็นช่างพื้นบ้านจึงไร้ “ขนบเยี่ยงช่างหลวง” มาเป็นเครื่องพันธนาการ ทำให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่ ผู้ที่มาชมฮูปแต้มจึงมาดูเอาเรื่องราวก็ได้ มาดูเอาสนุกก็ได้ ฮูปแต้มบนผนังสิมจึงทำหน้าที่ไม่ต่างจาก “ศิลปะสาธารณะ” ที่โลดแล่นบนผ้าใบผืนโตเลยทีเดียว