ภาพร่างความคิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฮูปแต้มวัดสนวนวารีพัฒนาราม ซึ่งภาพสำเร็จที่จิตรกรวาดนั้นได้รับเกียรติไปแสดงที่สหรัฐอเมริกา โดยตัวจิตรกรได้รับคัดเลือกเป็นศิลปินไทยผู้มีผลงานดีเด่น ๑ ใน ๑๐ โครงการครุศิลปะสร้างสรรค์ กับศิลปินแห่งชาติ รุ่นที่ ๒ จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมประจำปี ๒๕๕๔ และได้รับทุนศึกษาดูงานศิลปะ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จาก Naive art (ศิลปะไร้มารยา) ถึง Contemporary art (ศิลปะร่วมสมัย)
กว่า ๑๐๐ ปี แค่ชั่วพริบตาจากงานช่างพื้นบ้านสไตล์ Naive art ที่ไม่เคร่งครัดเรื่อง สัดส่วนสมมาตร อาศัยเพียงความศรัทธา ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานแบบ Contemporary art ของจิตรกรหลายท่าน ที่เห็นได้ชัดเจนและมีผลงานอย่างต่อเนื่อง คือ อาจารย์ตนุพล เอนอ่อน ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ตนุพลได้เล่าถึงที่มาที่ไป ในการนำตัวภาพจากฮูปแต้มมาประกอบในงานศิลปะร่วมสมัยของเขาว่า
“เรื่องการนำฮูปแต้มมาใช้ในงานนั้น ผมไม่ได้ทำตั้งแต่แรก มีการเรียนในรายวิชาบ้าง แต่ในลักษณะงานสร้างสรรค์ยังไม่มี ช่วงที่เรียนปริญญาโท ผมสนใจ(ทำงานเกี่ยวกับเรื่องชนชั้น ความไม่เป็นธรรมในสังคม ในตอนนั้นอาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ) ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้แนะนำให้ลองไปดูลักษณะของสัญลักษณ์ ในงานจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้ว
“ไปครั้งนั้นผมก็ได้การใช้สัญลักษณ์อย่างเรื่องสี การระบุตำแหน่งตัวภาพ มาปรับใช้ในงาน เช่น สีทองแทนผู้มีอำนาจ สีเงิน สีทองแดง ก็มีความสำคัญรองลงมา สีน้ำตาล สีแดง ก็เป็นสีแทนชนชั้นกรรมาชีพ ความรู้จากเรื่องนี้ก็ได้กลายมาเป็นงานวิทยานิพนธ์เรื่อง สัญลักษณ์ของความอยุติธรรมในสังคมไทย”
จิตรกรหนุ่มจากดินแดนที่ราบสูงยังคงทำงานศิลปะ ที่มีแรงบันดาลใจจากความแตกต่างของชนชั้นทางสังคมอยู่ราว ๒ ปี จนกระทั่งช่วงปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ จึงถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อได้มาทำงานสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้คลุกคลีสนิทสนมกับอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร จึงจุดประกายทางความคิดขึ้นมา
“ในตอนที่กลับมาทำงานสอน อาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ท่านเกษียณไปแล้ว ผมก็ไปช่วยทำเฟรม พาอาจารย์ไปทานข้าว นั่งรถไปดูวัด ดูสิมเป็นเพื่อน ฟังท่านเล่าเรื่องต่างๆ ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่ผมอยากทำงานชุดใหม่ ที่เป็นงานจิตรกรรมที่แฝงความเป็นท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีแนวคิดสมัยใหม่ด้วย

“เมื่อคิดย้อนไปสมัยที่เรียนอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ (ราชบัณฑิต) ซึ่งสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ก็เคยถามว่าเป็นคนอีสานนี่ ทำไมไม่ทำอะไรเกี่ยวกับอีสานเลย มันเป็นประโยคในอดีตที่ยังดังอยู่ในหัวเสมอ มาบวกกับอิทธิพลที่ได้จากอาจารย์ไพโรจน์ จึงเกิดงาน ชุดเก่าไปใหม่มา เป็นงานที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของศิลปะวัฒนธรมท้องถิ่นอีสาน ที่กำลังถูกกลืนด้วยยุคสมัยแห่งการพัฒนา
“มีการยืมภาพต้นไม้ ภาพบ้าน ภาพสัตว์ จากฮูปแต้มบนผนังสิมวัดสนวนวารีพัฒนาราม อำเภอบ้านไผ่ จังขอนแก่น มาสร้างเป็นภาพทิวทัศน์ แล้วใช้สัญลักษณ์พวกรถไถ รถบรรทุก เป็นตัวแทนสิ่งที่เข้ามารุกล้ำ”

หลังจากเมล็ดพันธุ์ที่เรียกว่า ฮูปแต้ม ได้ถูกหย่อนลงในหัวใจแล้ว อาจารย์ตนุพลได้ลองผิดลองถูกกับความคิดใหม่นี้เรื่อยมา ด้วยความรู้สึกสนุกไปกับมันเหมือนเด็กที่ได้ของเล่นถูกใจ จุดประกายความคิดใหม่ เกิดเป็นงานชุดที่เกี่ยวกับธรรมชาติ วิถีชีวิต บางชิ้นมีการขอยืมบุคลลิกของฮูปแต้มมาบางส่วน บ้างชิ้นได้ยืมมาแบบภาพใหญ่ๆ บางชิ้นมีการลดทอนลงไป ความที่ในยุคสมัยนั้นจิตรกรที่นำงานเกี่ยวกับฮูปแต้มอีสานมาตีแผ่ยังมีน้อย ทำให้หลายปีบนเส้นทางศิลปะ ผลงานในชุดฮูปแต้มจึงกลายเป็นเป็นภาพจำของคนในวงการศิลปะที่มีต่อจิตรกรหนุ่มผู้นี้ไปเสียแล้ว