ภาพวัดพระแก้วในกรอบรูปไม้สักกรอบเล็กๆกรอบหนึ่งซึ่งแขวนแสดงอยู่ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2493 นั้นเป็นเสมือนดั่งกรอบหน้าต่างแห่งกาลเวลาที่นำพาผู้ชมทะลุมิติเพื่อมาสัมผัสวงการศิลปะไทยในอีกเกือบ 80 ปีข้างหน้า ท่ามกลางผลงานจิตรกรรมชิ้นสำคัญในตำนานที่ปาดป้ายด้วยสีน้ำมันอย่างฉวัดเฉวียนด้วยโทนสีหนักๆผสมผสานกันในแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ และประติมากรรมส่วนใหญ่ที่เน้นความสมจริงขั้นสุดในทุกกระเบียดของสรีระร่างกาย ภาพวัดพระแก้วภาพนี้ดูเหมือนจะไม่เข้าพวกกับผลงานชิ้นอื่นๆที่รายล้อมอยู่เอาซะเลย เพราะถูกสร้างสรรค์ด้วยคู่สีสวยๆดูฟรุ้งฟริ้งแทบออกไปทางพาสเทล แต่ละสีถูกระบายแบบทึบๆ เรียบๆ แบนๆ ตัดขอบคมๆแยกเป็นช่องๆ ภาพอุโบสถ เจดีย์ ต้นไม้ ก้อนเมฆ ท้องฟ้า ถูกหยิบยกมาเพียงรูปทรง ไม่เน้นความสมจริงใดๆ ผลงานศิลปะที่ใช้สี เทคนิค และรูปแบบประมาณนี้มันช่างคล้ายกับสไตล์ป๊อปๆที่ศิลปินรุ่นใหม่นิยมวาดกันอยู่ในปัจจุบัน หากไม่มีใครมาบอกว่าภาพวัดพระแก้วที่ดูแสนจะคอนเท็ม แถมยังคงอยู่ในสภาพเนียนกริบนี้มีอายุเกือบศตวรรษแล้ว เราก็คงหลงคิดไปว่าภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาเมื่อวานโดยศิลปินวัยรุ่นเป็นแน่
จิตรกรผู้มาก่อนกาล ที่ได้รังสรรค์ภาพวัดพระแก้วแนวล้ำยุคชิ้นนี้มีนามว่า ประสงค์ ปัทมานุช ประสงค์เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ที่ตำบลคลองบางไส้ไก่ จังหวัดธนบุรี ซึ่งทุกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯไปแล้ว ประสงค์ฉายแววเก่งกาจด้านการวาดภาพมาตั้งแต่เล็ก หากบิดาพาไปดูงิ้วก็สามารถจดจำลักษณะยุบยิบ ก่อนจะกลับมาวาดที่บ้านให้เหมือนเป๊ะได้ เมื่อโตขึ้นประสงค์เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ และเรียนต่อด้านศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างจนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2480
ในระหว่างที่เป็นนักเรียนเพาะช่างประสงค์ได้รู้จักกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และ โรงเรียนศิลปากรที่อาจารย์ศิลป์เพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยการแนะนำของ จิตร บัวบุศย์ ผู้เป็นครูของประสงค์ที่โรงเรียนเพาะช่าง นี่จึงเป็นเหตุให้ประสงค์ตัดสินใจมาเรียนต่อกับอาจารย์ศิลป์ที่โรงเรียนศิลปากร โดยมีเพื่อนๆร่วมสถาบันอย่าง เฟื้อ หริพิทักษ์, จำรัส เกียรติก้อง, สนิท ดิษฐพันธุ์ ที่ภายหลังกลายเป็นศิลปินชื่อดัง
ในยุคที่วงการศิลปะเพิ่งเริ่มจะตั้งไข่ ศิลปินมีไม่มาก นักสะสมยิ่งน้อยเข้าไปใหญ่ หากจะเลี้ยงชีพโดยการเป็นศิลปินอิสระรับรองว่าอดตายแน่นอน เมื่อสำเร็จการศึกษาประสงค์จึงเข้ารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร โดยได้ทำงานสำคัญมากมายเช่น วาดภาพตกแต่งทำเนียบรัฐบาล ตกแต่งบ้านนรสิงห์ วาดภาพในช่องคูหาวัดเบ็ญจมบพิตร และวาดลายไทยตกแต่งพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่ 8
หลังจากรับราชการมาเป็นเวลา 7 ปี ประสงค์ได้ย้ายไปทำงานที่ธนาคารออมสิน โดยรับตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาพเขียน กองโฆษณาการ รับผิดชอบงานออกแบบตราสัญลักษณ์ ปฏิทิน โปสเตอร์ สื่อต่างๆของธนาคาร รวมถึงการตกแต่งสถานที่ ทำงานอยู่ที่ธนาคารออมสินอยู่ถึง 37 ปีจนเกษียณอายุเมื่อ พ.ศ. 2520
ตลอดทุกช่วงเวลา ตั้งแต่เล็กจนวัยหลังเกษียณประสงค์ใช้ชีวิตอย่างศิลปินโดยแท้ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะทั้งจากที่ได้รับมอบหมายด้วยหน้าที่การงาน และแบบส่วนตัว มาโดยตลอด ผลงานของประสงค์ได้รับการยอมรับระดับชาติ ประสบความสำเร็จคว้ารางวัลจากการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายครั้ง จนได้รับเกียรติให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยม รวมถึงภายหลังยังได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พ่วงเข้าไปอีกตำแหน่ง ในวัยชราประสงค์โชคร้ายมีโรครุมเร้ามากมาย จนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ประสงค์ต้องเข้ารับพระราชทานโล่ และเข็มเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติด้วยรถเข็น เพราะถูกตัดขาไป 1 ข้างจากผลพวงของโรคเบาหวาน ไม่นานหลังจากนั้นประสงค์ก็ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2532
ประสงค์นับเป็นศิลปินชั้นนำผู้แตกฉานการวาดลายไทย โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาแขนงนี้มาจากครูดำผู้เชี่ยวชาญด้านจิตรกรรมแบบไทยประเพณีตั้งแต่สมัยที่ประสงค์เรียนอยู่เพาะช่าง เมื่อได้มาเรียนต่อกับอาจารย์ศิลป์ที่โรงเรียนศิลปากรประสงค์ก็ยังได้รับการเคี่ยวกรำสั่งสอนศิลปวิทยาในแนวทางตะวันตกอีก ด้วยความรู้ความสามารถของ 2 ซีกโลก ผลงานของประสงค์จึงตกผลึกออกมาเป็นจิตรกรรมไทยแนวใหม่ที่แปลกตาไปจากเดิม โดยเริ่มจากการผสมสีฝุ่นเองด้วยเทคนิคแบบโบราณ แต่เลือกเฉดสีให้สว่างไสวทันสมัย หลังจากนั้นก็นำมาวาดด้วยการระบายแบบทึบๆ แบนๆ เป็นภาพตัวละครสไตล์ไทยที่จัดวางท่าทาง และองค์ประกอบแบบศิลปะสากล ให้ความรู้สึกลึกซึ้งไปอีกแบบ
จิตรกรรมอีกสไตล์อันเป็นซิกเนเจอร์ของประสงค์ที่สมัยนั้นดูเหมือนหลุดออกมาจากอนาคต คือผลงานที่ประสงค์นำภาพที่คุ้นตา เช่นภาพวัด ภาพเจดีย์ ภาพเรือหงส์ มาดัดแปลงให้มีมิติแบบใหม่ โดยประยุกต์ใช้หลักการแบบคิวบิสม์ ที่ลดทอนรูปทรงที่ซับซ้อนให้เรียบง่ายขึ้น และเป็นเหลี่ยมมุมแบบเรขาคณิต ดัดแปลงภาพ 3 มิติให้ดูเป็น 2 มิติ แสดงรูปด้านหน้า ด้านข้าง และด้านหลังให้อยู่ในระนาบเดียวกัน และบางส่วนก็ซ้อนทับบดบังกันตรงนี้นิด ตรงนั้นหน่อย รวมทั้งจัดวางคู่สีสดใสกึ่งพาสเทล สลับไปมาให้สอดคล้องกันอย่างช่ำชอง ยิ่งดูนานยิ่งได้อรรถรส
ผลงานคิวบิสม์สีฝุ่นแบบไทยฝีมือประสงค์ชิ้นที่เป็นที่รู้จักมักจี่มากที่สุดนั้นเห็นจะเป็นภาพ ‘วัดพระแก้ว’ ในสูจิบัตร นิทรรศการพิเศษเชิดชูเกียรติ ศิลปินอาวุโส ที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เมื่อปี พ.ศ. 2529 มีศิลปินคนสำคัญเช่น ดำรง วงศ์อุปราช เล่าถึงภาพนี้ไว้ว่า
‘“วัดพระแก้ว” ซึ่งเป็นผลงานที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 …คนสมัยนั้นคงเข้าใจภาพนี้ได้ยากเพราะเป็นงานศิลปะแบบใหม่ อาจจะกล่าวได้ว่าท่านได้นำหน้าศิลปินอื่นๆในเรื่องการนำเสนอศิลปะแบบใหม่นี้ อีกสิบกว่าปีต่อมาศิลปินอื่นๆ จึงเริ่มทำงานศิลปะในแบบคิวบิสม์’
และในนิทรรศการเดียวกัน สวัสดิ์ ตันติสุข ก็ได้พรรณนาไว้ว่า
‘…อาจารย์ประสงค์ ปัทมานุช มีผลงานทั้งสีน้ำ สีฝุ่น และสีน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพสีฝุ่นจัดเป็นองค์ประกอบที่ประทับใจเรามากเป็นพิเศษ ที่ยังจำติดตาอยู่คือ “ภาพวัดพระแก้ว” โดยจัดมุมต่างๆของวัดพระแก้ว ซึ่งดูแล้วก็เห็นได้ชัดว่าเป็นวัดพระแก้ว มีความงาม สีสดใสสะอาด จัดเป็นผู้บุกเบิกผู้หนึ่งสำหรับจิตรกรรมไทยร่วมสมัย…’
เหตุที่ภาพวัดพระแก้วชิ้นนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง จนใครๆก็กล่าวถึงเพราะเคยได้รับเลือกให้ร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ถึง 10 ธันวาคม พ.ศ. 2493 ครั้งนั้นผลงานศิลปะชิ้นต่างๆที่ถูกคัดสรรให้มาร่วมแสดง โดยเฉพาะชิ้นที่ได้รับรางวัลล้วนเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ถูกบันทึกเป็นตำนานในประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยใหม่ของไทยแทบทั้งนั้น ไล่เรียงมาจากผลงานที่ชนะเลิศเหรียญทองประเภทจิตรกรรม อันประกอบไปด้วย ‘โฮโนลูลู’ ภาพวิวในหมู่เกาะฮาวายที่วาดด้วยสีน้ำมันฝีมือ มีเซียม ยิบอินซอย ‘ประกายเพชร’ ภาพเหมือนภรรยาของ ชิต เหรียญประชา เทคนิคสีน้ำมันที่วาดโดย เฟื้อ หริพิทักษ์ และ ‘ชายฉกรรจ์’ ภาพเหมือน แสวง สงฆ์มั่งมี ขณะกำลังสูบไปป์ วาดด้วยสีน้ำมันโดย จำรัส เกียรติก้อง
ส่วนประเภทประติมากรรมผลงานที่ได้รับรางวัลเหรียญทองนั้นประกอบด้วย ‘ดินแดนแห่งความยิ้มแย้ม’ รูปปั้นหญิงสาวกำลังร่ายรำในแบบไทยประยุกต์ที่ลดทอนเส้นสายให้ดูทันสมัยของ เขียน ยิ้มศิริ ‘เสร็จสรง’ รูปปั้นหญิงสาวกำลังเช็ดตัวโดย แสวง สงฆ์มั่งมี ‘ปลายวิถีแห่งชีวิต’ ประติมากรรมรูปชายชราตาฝ้าฟาง ฝีมือ สิทธิเดช แสงหิรัญ และ ‘ลูกม้า’ รูปม้าวัยเยาว์กำลังเอี้ยวคอที่ปั้นโดย ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์
และที่แปลกไปกว่าการแสดงศิลปกรรรมแห่งชาติในยุคต่อๆมา คือการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งแรกๆนั้นมีการจำแนก และให้รางวัลผลงานศิลปะอีกหมวดที่เรียกว่าประเภทตกแต่ง ในงานครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2493 นี้มีผลงานอยู่ 2 ชิ้นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง คือ ‘รำไทย’ ผลงานรูปนางละคร แกะสลักจากงาช้างฝีมือ ชิต เหรียญประชา และ ภาพ ‘วัดพระแก้ว’ ของ ประสงค์ ปัทมานุช ที่เล่าถึงนี่แหละ
เอาเข้าจริงเรื่องผลงานศิลปะประเภทตกแต่งนี้ก็แอบสับสน ว่าคณะกรรมการใช้หลักการอะไรในการจำแนก ยกตัวอย่างเช่น ‘รำไทย’ ของ ชิต เหรียญประชา พอแกะสลักด้วยงาช้างก็ถูกจัดให้อยู่ประเภทตกแต่ง แต่ในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติปีถัดมา ชิตเลือกใช้ไม้มะฮอกกานีเป็นวัสดุแทน ก่อนจะแกะสลักเป็นรูปคนตีกลองรำมะนาในสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองแบบเดียวกับชิ้นรำไทย แล้วส่งเข้าประกวด ปรากฎว่าผลงานชิ้นนี้กลับถูกจำแนกเป็นประเภทประติมากรรมซะงั้น แถมในปีนั้นยังได้เหรียญทองมาครองด้วยอีกต่างหาก
ภาพ ‘วัดพระแก้ว’ นี้ก็เช่นเดียวกัน คุณสมบัติทุกประการก็ล้วนเข้าข่ายผลงานประเภทจิตรกรรม แต่กลับถูกจำแนกอย่างพิศดารให้เป็นประเภทตกแต่ง จะบอกว่าวาดด้วยสีฝุ่นเลยนับเป็นตกแต่ง ไม่ได้วาดด้วยสีน้ำมันเหมือนชิ้นอื่นๆที่ถูกนับเป็นจิตรกรรมก็ไม่น่าใช่ หรือจะเป็นเพราะว่าสไตล์ของภาพเป็นแนวคิวบิสม์ ไม่ได้ดูเป็นอิมเพรสชั่นนิสม์ เหมือนภาพที่ได้รับรางวัลประเภทจิตรกรรมเลยต้องแยกประเภทกันก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผล
คงเป็นเพราะความงงนี้แหละถึงเป็นเหตุให้ผู้จัดตัดสินใจยกเลิกการจำแนกผลงานประเภทตกแต่งในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในยุคต่อๆมา เพราะในความเห็นของเราผลงาน ‘วัดพระแก้ว’ รวมถึง ‘รำไทย’ นั้นไม่ได้มีคุณสมบัติยิ่งหย่อนไปกว่าผลงานระดับชาติชิ้นอื่นๆ ที่ได้รางวัลชนะเลิศในด้านจิตรกรรม และประติมากรรมเลย แต่พอไปเรียกว่าเป็นประเภทตกแต่ง เลยฟังดูเหมือนไปด้อยค่า ลดเกรดงานศิลปะชั้นยอดเหล่านี้ว่าเอาไว้ใช้ตกแต่งประดับประดาเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่จุดประสงค์หลักเพียงอย่างเดียวของศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันดีงามลึกซึ้ง
ที่แน่ๆภาพ ‘วัดพระแก้ว’ ที่ดูเรียบๆแต่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันลึกลับซับซ้อน พร้อมพรั่งด้วยการสลับสับหว่างคู่สีที่แพรวพราวอย่างอัจฉริยะ ดูทีไรก็เร้าอารมณ์ให้ทั้งฉงนสงสัย ทั้งสนุกสนานเบิกบาน นั้นหากพิจารณาในอีกแง่มุมยังมีความสำคัญยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเป็นดั่งหมุดหมายเริ่มแรกที่ศิลปินไทยทดลองวาดภาพในสไตล์คิวบิสม์ กระแสศิลปะจากตะวันตกในการนำภาพ 3 มิติมาจัดวางให้แบนในระนาบเดียวกัน ซึ่งบังเอิญมาประจวบเหมาะพอดิบพอดีกับหลักการวาดภาพแบบไทยประเพณีที่มีลักษณะแบนเป็น 2 มิติที่ ประสงค์ ปัทมานุช เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เกิดการปรุงศาสตร์จากตะวันตก และตะวันออก ให้ผสมกลมกล่อมจนลงตัวกลายเป็นผลงาน ‘วัดพระแก้ว’ ที่ยังคงความก้าวล้ำนำสมัยไม่เสื่อมคลาย จนแม้กาลเวลาอันยาวนานก็ไม่สามารถแผ้วพานผลักไสให้ตกยุคไปได้เลย