นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 66
เรื่อง/ภาพ ตัวแน่น
(ซ้าย) คาร์โล ริโกลี (ขวา) กาลิเลโอ คินี ถ่ายที่กรุงเทพฯ – ภาพจาก facebook ตามรอยกาลิเลโอ คินี
ในปี พ.ศ. 2453 ศิลปินหนุ่มชาวอิตาเลียน นามว่า คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) ใช้เวลาหลายเดือนล่องเรือเดินสมุทรที่ออกเดินทางจากยุโรป ลัดเลาะไปตามชายฝั่งทวีปแอฟริกา ต่อไปยังอินเดียมุ่งหน้าไปสู่จุดหมายคือราชอาณาจักรสยามที่อยู่ห่างไกลไปทางตะวันออก ถึงจะไม่รู้ว่าสถานการณ์ในภายภาคหน้าในดินแดนที่ไม่คุ้นเคยจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยการเดินทางที่ไกลที่สุดในชีวิตของริโกลีก็น่าจะเป็นไปด้วยดี เพราะชายชาวสยามผู้เชื้อเชิญศิลปินฝรั่งให้มาปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน
ย้อนเวลาไป 27 ปีก่อนหน้า ในวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2426 ณ เมือง เซสโต ฟิออเรนติโนเมืองเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยโบสถ์ ปราสาทราชวังอายุหลายร้อยปี และเป็นแหล่งผลิตเครื่องกระเบื้องชั้นดีส่งไปขายทั่วยุโรป คาร์โล ริโกลี ได้ลืมตาดูโลก เด็กชายริโกลีเติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับพี่น้องอีก4 คนในครอบครัวที่มีอันจะกิน ริโกลีได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีโดยพ่อกับแม่ตั้งใจว่าเมื่อลูกชายนายนี้เติบใหญ่จะให้ไปบวชเป็นบาทหลวง แต่ริโกลีกลับอยากจะเอาดีทางด้านศิลปะมากกว่า ไม่อยากเบนไปทางสายบุญอย่างที่ครอบครัวคาดหวัง
ริโกลีจึงเลือกเดินตามความฝันของตัวเองด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นจิตรกรให้ได้ จนโชคชะตานำพาให้ไปพบพานกับ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินรุ่นอาวุโสกว่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการแสดงผลงานทั่วยุโรป ซึ่งก็รวมถึงงานใหญ่ระดับโลกอย่างเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่จัดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2450 ในช่วงเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอยู่ระหว่างการเสด็จฯประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พอดิบพอดี จึงทรงเสด็จฯไปร่วมเทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ในครั้งนั้นด้วย ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดผลงานของคินี จึงทรงมีพระราชดำริให้ทาบทามตัวมาช่วยวาดภาพประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งกำลังมีแผนจะก่อสร้างกันอยู่ในขณะนั้น ราชสำนักสยามเจรจากับคินีได้สำเร็จ แต่ด้วยปริมาณงานอันมากมายทำคนเดียวให้เสร็จสิ้นในเวลาที่กำหนดคงเป็นไปไม่ได้ คินีจึงตัดสินใจชักชวนริโกลีให้มาร่วมงานด้วย
ที่กรุงเทพฯ ริโกลีกลายเป็นศิลปินเต็มตัวสมใจ งานหลักของริโกลีคือวาดภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีขนาดใหญ่ยักษ์บนเพดานโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมร่วมกับคินี ริโกลีกลายเป็นศิลปินที่มีงานชุก ทั้งวาดภาพตกแต่งตำหนัก พระที่นั่ง วัด และสถานที่อื่นๆอีกเพียบ ยิ่งตอนหลังคินีต้องกลับประเทศอิตาลีไปก่อนเพื่อดูแลภรรยาที่ป่วย ริโกลีเลยยิ่งมีงานราษฎร์งานหลวงให้วาดเยอะขึ้นไปอีก
ผลงานของริโกลีในช่วงแรกๆที่มาถึงสยามนั้นยังดูเป็นฝรั่งจ๋า จนได้มีโอกาสถวายงานกับสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ริโกลีถึงได้เริ่มวาดภาพแนวใหม่โดยการนำตัวละครในวรรณคดี พุทธประวัติ เทพยดา รวมถึงลวดลายแบบไทย มาวาดในสไตล์ตะวันตกที่ตัวเองถนัด ถ้าอยากเห็นว่าผสมผสานกันแล้วออกมาลงตัวแค่ไหนไปดูฝีไม้ลายมือริโกลีได้ที่วัดราชาธิวาสฯ เท่าที่รู้ที่นั่นน่าจะเป็นวัดเดียวในเมืองไทยที่ใช้ฝรั่งเป็นผู้วาดจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถเราจะไม่เห็นภาพวาดจิตรกรรมไทยประเพณีแบบ 2 มิติตัดเส้นสีดำกับสีทองอย่างที่เราคุ้นตาเหมือนตามผนังวัดอื่นๆ แต่เราจะได้เห็นภาพแบบสามมิติที่มีระยะใกล้ไกล เน้นแสงเงา และหลักกายวิภาค รูปแบบเดียวกับปราสาทราชวังในยุโรป ในขณะที่เรื่องราวในภาพที่เกี่ยวกับพระเวสสันดรชาดกนั้นเป็นเรื่องแบบไทยๆ
มีสถานที่สำคัญอื่นๆที่ริโกลีได้ฝากฝีมือในการวาดจิตรกรรมฝาผนังเอาไว้อีกมากมายเช่นภาพเหล่าเทพยดาในพระที่นั่งบรมพิมาน พระที่นั่งแบบตะวันตกในพระบรมมหาราชวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้เป็นที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ หรือภาพเรื่องรามเกียรติ์ในบ้านพิบูลธรรม ที่เดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี แต่ตอนนี้กลายเป็นออฟฟิศของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
ในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 นอกเหนือจากจิตรกรรมฝาผนังแล้ว ผลงานศิลปะอีกประเภทที่เริ่มเป็นที่นิยมคือภาพเหมือนบุคคลที่วาดด้วยสีน้ำมันแบบยุโรป ศิลปินชาวไทยที่สามารถวาดภาพประเภทนี้ได้ดีนั้นมีจำนวนน้อยนิดจนแทบจะนับนิ้วได้ ที่มีชื่อหน่อยก็มีแค่ท่านสองท่านอย่าง พระสรลักษณ์ลิขิต และ พระยาอนุศาสน์จิตรกร ในขณะที่จิตรกรฝรั่งส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯรวมถึงริโกลีนั้นสามารถวาดภาพเหมือนบุคคลได้คล่องกว่ามากเพราะฝึกฝนร่ำเรียนมาโดยตรงจากสถาบันศิลปะในยุโรป ด้วยเหตุนี้ริโกลีจึงถูกมอบหมายให้วาดพระบรมสาทิสลักษณ์สีน้ำมันขนาดน้อยใหญ่ของ ในหลวงรัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6, และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงภาพเหมือนเจ้านายชั้นผู้ใหญ่อยู่เสมอๆ และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำไมสาธารณชนถึงไม่ค่อยเห็นงานของริโกลีในพิพิธภัณฑ์หรือคอลเลคชั่นสะสมส่วนตัวของบุคคลทั่วไป เพราะผลงานที่หลงเหลือส่วนใหญ่นั้นอยู่ในรั้วในวังกันแทบทั้งหมด
ในบรรดาผลงานอันหาชมได้ยากของริโกลีระหว่างที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ มีจิตรกรรมสีน้ำมันชิ้นสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งพิเศษตรงที่ริโกลีวาดขึ้นมาโดยไม่มีใครสั่งการหรือว่าจ้าง ผลงานที่สร้างสรรค์ด้วยความรัก และเป็นที่หวงแหนยิ่งนักชิ้นนี้เป็นภาพเหมือนของ ออร์โซลินี (Orsolini) คนรักของริโกลีผู้ซึ่งยอมหอบผ้าหอบผ่อนมาอยู่ดูแลสามีในดินแดนสยามอันห่างไกลที่เธอไม่คุ้นเคยในภาพออร์โซลินีอยู่ในชุดเดรสสีแดง ตรงแขนมีระบายผ้าลูกไม้สีขาวตามแฟชั่นที่ผู้หญิงยุโรปนิยมใส่กันในสมัยตันศตวรรษที่ 20 เธอใส่ทั้งสร้อยคอ และสร้อยคาดผมประดับดอกไม้ แต่งเต็มขนาดนี้น่าจะเป็นโมเมนท์ในงานรื่นเริงที่เป็นทางการอะไรซักอย่าง
ภายใต้แสงสลัวๆ ออร์โซลินีเอี้ยวตัวหันมามองริโกลีด้วยรอยยิ้มอันเปี่ยมล้นไปด้วยความสุขมือหนึ่งใช้เท้าแขนไว้แบบสบายๆ ในขณะที่อีกมือชูแก้วเครื่องดื่มพร้อมที่จะเชียร์เฉลิมฉลองไปด้วยกัน ริโกลีใส่รายละเอียดยุบยิบให้บรรยากาศดูหรูหราทั้งโต๊ะแกะสลักลงทอง แจกันดอกไม้สไตล์วิลิศมาหรา ผ้าปูโต๊ะลายเครือเถา แม้กระทั่งขวดไวน์ระบุยี่ห้อ BOSCA จากอิตาลี แบรนด์เก่าแก่ซึ่งเริ่มผลิตกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2374 ซึ่งเป็นไปได้ว่าคือนี่ไวน์ที่ทั้งคู่โปรดปราน
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากริโกลีได้ทำงานทั้งหมดเสร็จสิ้นบรรลุตามเป้าหมายเป็นที่พอพระราชหฤทัยของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จนกลายเป็นชาวต่างชาติเพียงไม่กี่ท่านในประวัติศาสตร์ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก เหรียญตรา และเกียรติบัตรอื่นๆอีกมากมาย ริโกลีก็ตัดสินใจพาครอบครัวเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่อิตาลี ภาพวาดออร์โซลินีสมบัติส่วนตัวของครอบครัวริโกลีนั้นไม่ได้ถูกนำกลับไปด้วย แต่ได้มอบให้กับเจ้าพระยายมราช ผู้เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนาบดีกระทรวงนครบาล และยังเป็นสถาปนิกควบคุมการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมโปรเจกต์ที่ริโกลีถูกว่าจ้างตั้งแต่เริ่มงานในสยาม
(ซ้าย) ออร์โซลินี (ขวา) คาร์โล ริโกลี ถ่ายที่กรุงเทพฯ – ภาพจากหนังสือจิตรกรรม และประติมากรรมแบบตะวันตกในราชสำนัก
ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยกันกับริโกลี นอกจากภาพออร์โซลินีแล้วเจ้าพระยายมราชยังมีภาพเหมือนสีน้ำมันของท่านเองและ ท่านผู้หญิงตลับ ยมราช ขนาดเท่าตัวจริง รวมถึงภาพนายเงือก‘เมอร์แมน’ บนโขดหิน ที่ล้วนวาดโดยริโกลีเก็บรักษาไว้ด้วย จนภายหลังผลงานศิลปะทั้งหลายเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมือมาเป็นสมบัติของพระยาประเสริฐศุภกิจ เพื่อใช้ประดับ ‘ดุสิตสโมสร’ บ้านพักส่วนตัวสไตล์อิตาเลียนของท่านที่ออกแบบโดย มาริโอ ตามานโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกผู้ร่วมก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม
คาร์โล ริโกลี ลงหลักปักฐานรับใช้ราชสำนักสยามอยู่นานนับสิบปี เป็นหนึ่งในฝรั่งไม่กี่ท่านที่ได้ถูกจารึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้ฝากผลงานอันทรงคุณค่าเพื่อเป็นมรดกทางศิลปะไว้ให้เราชาวไทยมากมาย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจสำหรับศิลปินไทยรุ่นต่อๆมาได้ใช้ศึกษาเป็นแบบอย่างเพื่อพัฒนาฝีไม้ลายมือ และแนวคิดให้ทันยุคทันสมัยไร้พรมแดน
ขอชนแก้วด้วยคนนะออร์โซลินี ที่รักของเธอนี่ระดับตำนานจริงๆ