
“หากโลกนี้ไร้ซึ่งศิลปะ หัวใจของเราคงเป็นเพียงก้อนดินแตกระแหงก้อนหนึ่ง”
การวัดความศิวิไลซ์ของเมืองไม่ใช่เพียงแค่มีตึกสูง การคมนาคมสะดวก หรือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังต้องมีสิ่งจรรโลงใจที่เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง หนึ่งในนั้นคือ “งานศิลปะ”

๒๗ ปี ที่แล้ว
ที่จุดศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองขอนแก่น อาคารหลังหนึ่งค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างที่เปิ๊ดสะก๊าดกว่าตึกทรงสี่เหลี่ยมหลังไหนๆ ในจังหวัดขอนแก่น ในยุคสมัยที่โทรศัพท์มือถือถ่ายรูปได้ยังไม่กำเนิดขึ้น จากคำร่ำลือปากต่อปากถึงรูปทรงที่แปลกตา ใครต่อใครในเมืองจึงต่างแวะเวียนไปชมดูด้วยความตื่นใจ “โรงแรมแคนคู่” คือชื่อเล่นที่ชาวเมืองกล่าวถึง “โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด”
โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด ก่อตั้งโดย “คุณพนิดา รักสุจริต” เปิดให้บริการในวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๙ เพื่อให้เป็นโรงแรมที่ได้รับมาตรฐานระดับห้าดาวที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุมที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะปรับเปลี่ยนโฉมใหม่เป็น “โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด” เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ โดยมี “คุณอรวรรณ พัฒนพีระเดช” เป็นผู้กุมบังเหียนคนปัจจุบัน และเพื่อให้เป็นจุดหมายของกลุ่มผู้ประชุมสัมนาทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน รวมทั้งนักเดินทางจากทั่วโลก ทางโรงแรมจึงจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้คอยบริการ เพื่อให้ผู้เข้าพักได้รู้สึกสงบและผ่อนคลายราวกับอยู่บนสวรรค์ทีเดียว
แต่…
ทางโรงแรมไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งบำรุงบำเรอกายเท่านั้น หากยังมี “ศิลปะ” อันชุบชูใจให้ได้เสพด้วย และไม่ใช่ภาพประดับทั่วๆไป หากแต่เป็นผลงานในชั้นครู (old master) จากศิลปินถึง ๕ ท่าน (อ.ปรีชา เถาทอง อ.ธนะ เลาหกัยกุล อ.พิษณุ ศุภนิมิตร อ.อิทธิพล ตั้งโฉลก และอ. นพพงษ์ สัจจวิโส) ติดตั้งถาวรกว่า ๓๐ ชิ้นงานทีเดียว
ทันทีที่ก้าวเท้าเข้าสู่ภายในตัวอาคารจะพบประติมากรรมพานบายศรีขนาดใหญ่ สร้างสรรค์โดย “ศาสตราจารย์ปรีชา เถาทอง” สื่อถึงประเพณีการรับขวัญผู้มาเยือน ซึ่งชาวอีสานมีความเชื่อในเรื่อง “ขวัญ” มีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง ในระหว่างการเดินทางอาจมีเหตุให้ตกใจจนขวัญหนีไป
พิธีบายศรีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้กลับมาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการเสริมพลังใจให้เข้มแข็ง มีสติ และไม่ประมาท เป็นการเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับแขกผู้มาพัก
ประติมากรรมพานบายศรีนี้ตัวพานฝังมุกมีลวดลายก้นหอย ที่มาจากลายเขียนสีบนหม้อบ้านเชียง ซึ่งสื่อถึงเรื่องขวัญเช่นกัน ในส่วนที่เป็นชั้นใบตองแทนด้วยวัสดุ นาค เงิน และทอง ตามลำดับ ส่วนยอดกรวยของพานบายศรีนั้นเป็นคริสตัล
บริเวณฐานรองพานเป็นสระน้ำสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของภาคอีสาน ภายในสระมีทั้งหินแกรนิต หินทรายและศิลาแลง ที่มีลวดลายเขียนสีของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สื่อถึงรากฐานของศิลปวัฒนธรรมอีสาน
ตามที่อาจารย์ปรีชา ท่านสนใจปรากฏการณ์ของแสงและเงาในธรรมชาติจนเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างจุดกำเนิดแสง วัตถุทึบแสง และพื้นที่รับแสง ตำแหน่งที่จัดวางงานประติมากรรมพานบายศรีจึงเหมาะเจาะพอดี แสงยามบ่ายส่องผ่านช่องแสงของโรงแรมตกกระทบลงมาที่พานบายศรีเกิดเป็นบรรยากาศอันอบอุ่น และสง่างาม
และเมื่อหันหลังกลับไปมองจะพบแสงสีเหลือง เขียว น้ำเงินและชมพู จากกระจกสีรูปพานบานศรีที่หน้าจั่วของหลังคาที่จอดรถชั่วคราว เสมือนเงาสะท้อนของงานประติมากรรม เป็นความละเอียดประณีตใส่ใจจากบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน

จากบริเวณล็อบบี้ เลาจน์ ไม่ไกลกันภายในห้องอาหารพาวิเลี่ยน คาเฟ่ ที่ชั้น ๑ มีกรอบภาพงานประเภทศิลปะสื่อผสม (mixed media art) ประดับอยู่ตามจุดต่างๆ เป็นผลงานของ “ศาสตราจารย์ธนะ เลาหะกัยกูล” ซึ่งนำเส้นโลหะมาสานกับกระดาษเป็นลายขัด ทั้งแบบลาย ๑ และลาย ๒ ร่วมกับภาพภาชนะประเภทจักสาน เช่น สุ่ม หวด เฉลว บางชิ้นงานยังสอดแทรกภาพลวดลายแกะสลักไม้บริเวณฮวงเผิ่ง (รังผึ้ง) ที่เป็นส่วนบังแดดของสิม (โบสถ์) ร่วมอยู่ด้วย เป็นการสะท้อนวัฒนธรรมการดำรงชีพของชาวอีสานได้อย่างน่าสนใจ
นึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งที่อาจารย์ธนะไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา ท่านได้เปรียบดินแดนเสรีภาพที่ศิลปินต่างพากันไปฝังตัวเพื่อรอโอกาสทองที่นั่นว่าเป็น “หม้อจับฉ่าย” ซึ่งหมายถึง การที่ที่มีคนเก่งมารวมตัวกัน เราต้องหาจุดเด่นของตัวเองแสดงมันออกมาให้คนมองเห็น สหรัฐอเมริกาจึงไม่เพียงเป็นแหล่งสถานศึกษาแต่ยังเคี่ยวกรำความคิดสร้างสสรค์ให้มีความแหลมคมไปด้วยในตัว งานศิลปะเทคนิคสื่อผสมของอาจารย์จึงสะท้อนถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านของชาวอีสานได้อย่างถึงแก่นโดยไม่ต้องมีองค์ประกอบรุงรังอื่นๆ
งานศิลปะสื่อผสมของอาจารย์ธนะ ยังมีอีกหลายชิ้นกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ของโรงแรม แต่การจะหาผลงานของอาจารย์จากลายเซ็นต้องสังเกตให้ดี เพราะท่านเซ็นแตกต่างกันถึง ๓ แบบ การตามหางานของอาจารย์จึงสนุกเหมือนกำลังเล่นเกมส์ล่าขุมทรัพย์อย่างไรอย่างนั้น
จากบริเวณห้องอาหารที่ชั้น ๑ ไปยังด้านหลังเคาท์เตอร์เช็คอิน เรื่อยไปจนถึงบริเวณโถงห้องประชุม ติดตั้งผลงานของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณพิษณุ ศุภนิมิตร” เรียงรายหลายชิ้น หลายขนาด

ในแต่ละภาพนั้นบอกเล่าถึงแผ่นดินอีสานทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วยภาพเขียนดินแดงที่พบตามผนังถ้ำ ไปจนถึงยุคอารยธรรมที่มีการใช้เครื่องนุ่งห่ม อาจารย์ได้เลือกใช้ผ้าไหมมัดหมี่ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของเมืองขอนแก่นมาสื่อได้อย่างลงตัว ที่สำคัญถ้าคนรักผ้าไหมมัดหมี่ได้มาเห็นเป็นต้องใจฟู เพราะเทคนิคการมัดลายของผ้าไหมที่อาจารย์นำมาใช้ในงานนั้นก็เป็นฝีมือชั้นครูไม่แพ้กัน
มีอยู่ชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ได้ใช้ภาพจารึกอักษรไทน้อยมาร่วมในงานด้วย อักษรไทน้อยน้อยนี้เป็นตัวอักษรที่ชาวอีสานและลาวใช้มาแต่เดิม เนื่องภาคอีสานเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณรจักรล้านช้างโบราณ ก่อนที่จะรับนโยบายจากส่วนกลางให้อักษรไทยเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ จึงเป็นอีกชิ้นงานหนึ่งที่อาจารย์ใส่ใจและศึกษาข้อมูลก่อนสร้างงานได้อย่างน่าประทับใจ
รวมถึงการใช้รูปทรงเรขาคณิตอย่างรูปสามเหลี่ยม ที่อดคิดถึงหมอนขวานที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้ และถ้าสังเกตจะพบว่าบริเวณขอบชิ้นงานงานของอาจารย์มักจะมีรอยเว้าแหว่ง ราวกับผ่านการกัดกร่อนจากร่องรอยของกาลเวลา เป็นงานศิลปะที่มองเท่าใดก็ไม่มีเบื่อ ดั่งดอกไม้ที่อวลกลิ่นหอมชวนให้เราเข้าไปชมอยู่ตลอดเวลา
บริเวณทางเดินโถงประชุมฝั่งตรงข้ามงานศิลปะของอาจารย์พิษณุ เป็นผลงานของ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณอิทธิพล ตั้งโฉลก” ติดตั้งเรียงรายจนสุดทางเดิน


งานศิลปะของอาจารย์อิทธิพลเป็นงานศิลปะนามธรรม (abstract) ได้ยินคำว่า “นามธรรม” หลายๆ คนเป็นต้องเบรกจนตัวโก่ง กลัวจะดูไม่รู้เรื่อง แต่ไม่ต้องกังวลไป ศิลปะนามธรรมนั้น เริ่มตรงจุดที่ศิลปะรูปธรรมไม่อาจสื่อสารได้ ดังนั้นผลงานนามธรรมจึงเป็นการแสดงออกของอารมณ์และความรู้สึกจากโลกภายในนั่นเอง
พิจารณาจากเส้นยึกยือที่ขนานกันอย่างเป็นระเบียบ ฟังดูย้อนแย้ง เป็นเทคนิคที่เกิดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างการแสดงศิลปกรรมเดี่ยว ครั้งที่ ๑ “จิตรกรรมชุดใหม่” และ การแสดงศิลปะกรรมเดี่ยวครั้งที่ ๒ “สีสันแห่งแสง” ดูท่าทางอาจารย์คงกำลังสนุกกับการสร้างงานด้วยเทคนิคนี้มากทีเดียว
เทคนิคที่อาจารย์อิทธิพลใช้นี้เป็นเทคนิคเฉพาะที่ผสมผสานวิธีการทางจิตรกรรมและภาพพิมพ์เข้าด้วยกัน คือ ใช้ทั้งวิธีระบายสีน้ำมันหลายๆ สีบนกระดาษที่มีผิวเรียบและมันวาว แล้วจึงใช้ลูกกลิ้ง กลิ้งสีเข้มทับลงไปจนดำเรียบทั่วทั้งแผ่น แล้วจากนั้นจึงใช้เครื่องมือเฉพาะที่มีลักษณะเป็นซี่ๆ คล้ายหวีขูดเอาสีเข้มชั้นบนออกไป ทำให้สีสันต่างๆ ที่อยู่ชั้นล่างปรากฏขึ้นมา
การขูดสีนี้ต้องทำตั้งแต่สียังเปียก จึงต้องมีความ “ฉับพลัน” มือ ตา สมาธิ สี ต้องสัมพันธ์กัน รอยขูดนี้จะเว้นไว้ก็ตรงลวดลายเรขาคณิตที่มักพบในงานหัตถกรรมอีสานอย่าง หน้าตัดทรงสามเหลี่ยมของหมอนขวาน ลายดอกแก้ว ลายเขี้ยวหมา ลายลูกแก้ว ลายหางปลาวา ที่เป็นลายขิดบนผ้าทอพื้นบ้าน เป็นต้น
งานศิลปะนามธรรมของอาจารย์อิทธิพลนั้นมีทั้งเส้นขนานที่ดูยึกยือ ชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้าง สะท้อนให้เห็นถึงกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ นอกจากทางเดินโถงห้องประชุมชั้น ๑ แล้ว ภาพของอาจารย์ยังสามารถพบได้ที่บริเวณที่เคยติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ทางไกล ทางลงชั้นใต้ดิน บริเวณโถงห้องประชุมชั้น ๒ และทางเดินชั้น ๒๐
บริเวณที่นั่งรอลิฟท์บริเวณห้องอาหารจีนลองหยุนซึ่งอยู่ชั้น ๒ มีภาพพิมพ์ของอาจารย์ปรีชา เถาทอง ติดตั้งอยู่ ๓ ภาพ คือ “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” “Time หมายเลข ๒” (ชิ้น AP; Artist Proof) และ “Mara Tempted Buddha”
ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า อาจารย์พิษณุท่านได้ค้นคว้าทดลองในเรื่องแสงและเงา จนเกิดความรู้ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของการเกิดปรากฏการณ์แสงเงา โดยผลงาน “รูปทรงของแสงบนเนื้อที่ของเงา” เป็นผลงานที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่อาจารย์มีโอกาสได้ทุนไปศึกษาดูงานที่ประเทศอิตาลี และประเทศอื่นๆ ในแถบยุโรป จึงมีโอกาสศึกษาบรรยากาศของแสงและเงาบนสถาปัตยกรรมตะวันตก เพื่อเปรียบเทียบกับสถาปัตยกรรมไทย จากประสบการณ์ที่ค้นคว้า ทำให้เกิดแนวความคิดในเรื่ององค์ประกอบ คือ แสงต้นกำเนิด ตัวกลางทึบแสง และบริเวณที่เกิดเงา เพื่อเน้นความสำคัญของรูปทรงของแสง


ระยะต่อมาท่านได้เปลี่ยนแง่มุมจากแสงตกกระทบสถาปัตยกรรมภายนอก ให้ลองลอดผ่านเข้ามาในพระอุโบสถบ้าง ตกกระทบพื้นกระเบื้องบ้าง กระจกสีบ้าง จิตรกรรมฝาผนังบ้าง ในระยะเวลากว่า ๒๐ ปี ที่อาจารย์ศึกษาเรื่องแสงเงาผ่านการคิดค้นทดลองด้วยเทคนิควิธีการต่างๆ จนตกผลึก เกิดเป็นความแหลมคมของฝีมือที่ฝากไว้ในงานศิลปะที่ท่านสร้าง
แม้ว่างานภาพพิมพ์ทั้ง ๓ ภาพ จะไม่เกี่ยวกับวัฒนธรรมอีสานอย่างภาพอื่นๆ ที่ติดตั้งภายในโรงแรม แต่ก็นับว่าเป็นการมองการณ์ไกลของคุณพนิดา เพราะการสะสมงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียงก็ไม่ต่างกับนักลงทุนที่ถือหุ้นบลูชิพ (Blue chip stock) ไว้ในมือทีเดียว
งานศิลปะที่ติดตั้งภายในโรงแรมไม่ได้มีเพียงแค่ชั้น ๑ และ ชั้น ๒ เท่านั้น แต่ยังสามารถพบได้ในห้องพักประเภท สุพีเรียร์ สวีท เดอลักซ์ สวีท เอ็กเซคคูทีฟ สวีท รวมทั้งตามทางเดินบนชั้น ๒๐ และห้องรอยัล สวีท ซึ่งเป็นลักษณะเพนท์เฮ้าส์ บนพื้นที่ชั้น ๒๑ และ ๒๒ ให้ผู้เข้าพักที่รักงานศิลปะได้ฟินยิ่งขึ้นไปอีก

จากเมื่อแรกสร้างโรงแรมที่คุณพนิดาตั้งโจทย์กับบริษัทออกแบบตกแต่งภายใน เพื่อเฟ้นหาศิลปินที่จะมาสร้างสรรค์งานศิลปะประดับภายในโรงแรมว่า ต้องสะท้อนให้เห็นถึงวิถีการดำเนินชีวิต ศิลปะและวัฒนธรรมของชาวอีสาน งานศิลปะที่ติดตั้งภายในโรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด จึงเป็นความยูนีคในระดับโอลด์มาสเตอร์ที่หาชมที่ใดไม่ได้แล้ว