Monday, October 14, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ทองแท้ไม่แพ้ไฟ ดั่งงานศิลปะแท้ไม่แพ้การพิสูจน์

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

เอกสารหลักฐานที่มาของภาพ

          ของทุกอย่างในโลก เมื่อไหร่ที่มีราคาค่างวดขึ้นมา ก็จะมีมิจฉาชีพสร้างของปลอมขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์จากผู้ไม่รู้ สมัยก่อนในวงการศิลปะบ้านเราเรื่องพรรค์นี้ไม่ค่อยประสบพบเจอ เพราะงานศิลปะไม่ได้มีค่า เปลี่ยนมือกันในราคาถูกๆ บางทีรักใครชอบใครก็ยกให้กันฟรีๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนมือกันในราคาเป็นแสนเป็นล้านเหมือนในปัจจุบัน พอผลงานศิลปะในประเทศไทยเกิดมีมูลค่า เหล่าทุรชนก็กระดี๊กระด๊าเริ่มสร้างผลงานลอกเลียนศิลปินที่มีชื่อ แล้วเอามาเร่ขาย ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังตรวจสอบกันให้ดีๆ มิฉะนั้นอาจจะเสียหายกลายเป็นเหยื่อโจรได้

         แต่เดี๋ยวก่อน พอรู้อย่างนี้อย่าเพิ่งตกใจ พากันหนีหายเลิกซื้อหางานศิลปะกันไปหมด แม้ว่าการพิสูจน์ผลงานซักชิ้นว่าเป็นของแท้หรือเทียมบางทีก็ยาก แต่ก็ไม่ถึงกับดูไม่ออกบอกไม่ได้ ซึ่งเอาเข้าจริงยิ่งถ้าเราตระหนักให้มาก ตรวจสอบให้ละเอียดมีสารพัดอาวุธครบมือ การเสาะแสวงหา และพิสูจน์งานศิลปะซึ่ง ซ่อนเร้นอยู่ที่ไหนซักแห่ง นั้นไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงเลย แถมสำหรับเรายังเป็นกิจกรรมอันสนุกสนานเสียด้วยซ้ำ เพลินแค่ไหนเดี๋ยวจะสาธยายเป็นตัวอย่างซักสองสามเรื่อง

         ใครๆก็รู้ว่าในเมืองไทยมีสุดยอดศิลปินแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ในตำนานอยู่ 2 ท่านที่ส่งประกวดงานระดับชาติทีไรก็ชนะเลิศเสมอๆ จนได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินชั้นเยี่ยมด้านจิตรกรรมท่านแรกๆของประเทศ นั่นก็คือ มีเซียม ยิบอินซอย และ เฟื้อ หริพิทักษ์ หากจะสะสมงานศิลปะแบบอิงประวัติศาสตร์เข้าขั้นซีเรียส เพชรเม็ดงามที่จะขาดไม่ได้ในคอลเลคชันคือภาพสีน้ำมันฝีมือศิลปินทั้งสองท่านนี้

มีเซียม ยิบอินซอย

         การจะซื้อหาผลงานที่ศิลปินยังอยู่นั้นง่ายมาก อยากรู้ว่าจริงหรือเก๊เพียงถามศิลปินดูแค่นี้ก็รู้แล้ว แต่ถ้าเป็นผลงานของศิลปินที่ถึงแก่กรรมไปนานแล้วอย่าง มีเซียม หรือ เฟื้อ นั้นอาจจะต้องพึ่งประสบการณ์ หลักฐานที่มา สายตาผู้รู้ บวกกับเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบ อย่าว่าแต่เราเลย ขนาดทายาทศิลปินเอง ก็ยังต้องพึ่งข้อมูลเหล่านี้ มาประกอบในการรับรองผลงานของพ่อแม่ปู่ย่าตายาย

เฟื้อ หริพิทักษ์ cr: the101.world

         เรื่องแรก วันหนึ่งเราได้พบกับผลงานภาพวาดสีน้ำมันรูปแจกันดอกไม้บนโต๊ะสีออกแดงๆที่ว่ากันว่าเป็นฝีมือมีเซียม ที่มาของภาพสืบทราบได้ข้อมูลว่าเดิมทีเป็นสมบัติของพยาบาลที่เคยดูแลมีเซียม โดยมีเซียมเป็นผู้มอบให้ด้วยความกรุณา หลังจากนั้นผลงานก็ถูกเปลี่ยนมือมายังเจ้าของแกลเลอรีชื่อดังย่านผ่านฟ้า เจ้าของใหม่รักและหวงแหนภาพนี้มากโดยนำไปใส่กรอบที่สั่งทำพิเศษ และแขวนประดับไว้ในบ้านพักส่วนตัวอย่างดี ระหว่างนั้นยังเคยชวนทายาทของศิลปินมาชมภาพแจกันดอกไม้นี้ ก่อนจะเกิดโศกนาฏกรรมไฟไหม้บ้านโบราณของเจ้าของภาพ ทำให้มีความจำเป็นจะต้องขายผลงานศิลปะบางส่วนที่เหลือรอดจากเปลวเพลิงเพื่อเป็นทุนในการบูรณะบ้านใหม่ ผลงานชิ้นนี้ถูกเปลี่ยนมืออีกครั้งมาตกอยู่ที่แกลเลอรีใหญ่ในริเวอร์ซิตี้ เจ้าของแกลเลอรีงานศิลปะรุ่นใหญ่ท่านนี้ เป็นที่รู้กันในวงการว่างานชิ้นดีๆในกรุนักสะสมระดับประเทศมากมายล้วนผ่านมือบุคคลท่านนี้มาแล้ว

         ถ้าเรื่องเล่าที่มาพรรค์นี้มาจากนาย ก นาย ข ที่เราไม่รู้จัก ไม่รู้หัวนอนปลายเท้า เราคงจะตั้งข้อสงสัยไม่น่าเชื่อถือ แต่นี่มาจากปากของบุคคลที่มีชื่อเสียงถึงสองท่านที่เป็นที่นับหน้าถือตาในวงการศิลปะ หากวิเคราะห์ในมุมของ ‘แหล่งที่มา’ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า ‘Provenance’ อันเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการยืนยันสถานะของผลงาน นับว่าภาพนี้พอให้ผ่านด่านแรกได้

ศิลปิน มีเซียม ยิบอินซอย

         ด่านที่สอง คือ ถามผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญจะเสียเงินเยอะๆทั้งที เราก็ต้องแน่ใจที่สุดว่าของที่ได้มาจะต้องดีเพราะหากผิดพลาดคนที่เดือดร้อนที่สุดคงเป็นตัวเราเองไม่ใช่ใครอื่นเพราะฉะนั้นเราจึงไม่เพียงพึ่งตาตนเอง แต่ไปเที่ยวถามผู้รู้ ทั้งนักสะสม นักวิชาการ ซึ่งคำตอบที่ได้คือ ถ้าหากดูจากสไตล์ เนื้อหาของภาพ เทคนิคการวาด กลุ่มสีที่ใช้ รวมถึงลายเซ็น โดยรวมก็ไม่ได้มีความผิดแผกอะไร         

         ลำดับถัดมา จึงเข้าสู่ด่านที่ 3 คือการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ โชคดีที่เรามีภาพฝีมือมีเซียมอีกภาพเก็บไว้ เป็นภาพหญิงสาวนอนอ่านหนังสือ ซึ่งภาพนี้เป็นภาพดัง มีตีพิมพ์อยู่ในสูจิบัตรรวมผลงานของมีเซียม โดยระบุชื่อภาพไว้ว่า ‘วัยรุ่น’ เราจึงจัดแจงนำภาพวัยรุ่น กับภาพแจกันดอกไม้ ไปวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่าภาพทั้งสองมีองค์ประกอบทางเคมีของสีเหมือนกัน ซึ่งสีแต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่นถึงจะมองด้วยตาเปล่าแล้วจะดูเหมือนกัน แต่ส่วนผสมไม่เหมือนกัน นั่นหมายความว่าถ้าใครคิดจะปลอมภาพให้ได้ถึงขั้นนี้ ต้องมีจานสี และหลอดสี ของมีเซียม ฝึกวาดให้ได้ในสไตล์เดียวกัน และวาดพร้อมกันในยุคนั้น ส่วนประกอบของสี หน้าตา และความเก่าถึงจะผ่าน ซึ่งถ้ามีโจรทำได้ถึงขนาดนี้ก็คงต้องยอมแล้วล่ะ สรุปเลยได้เสียเงินซื้อรูปแจกันมาตามระเบียบ

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

         เรื่องที่ 2 ภาพวาดสีน้ำมันฝีมือเฟื้อ หริพิทักษ์ ยุคที่ไปเรียนต่ออิตาลี เป็นผลงานที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในวงการว่าดี และหายากที่สุดของเฟื้อ ตอนนั้นเราเองก็โชคดีทยอยได้ภาพทิวทัศน์ในอิตาลีชิ้นสำคัญที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือมาเก็บไว้ในคอลเลคชันแล้วหลายชิ้น รวมถึงได้มีโอกาสพินิจพิเคราะห์ผลงานของนักสะสมท่านอื่นแบบใกล้ๆทั้งด้านหน้า ด้านหลัง อีกนับไม่ถ้วน จนมีความคุ้นเคยกับผลงานฝีมือเฟื้อพอสมควร แต่ที่ค้างคาใจคือเราดันมีแต่ภาพวิวในคอลเลคชัน ไม่มีภาพนู้ดอันเลื่องชื่อซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าภาพวิวมากเก็บเอาไว้เลย

         จนอยู่มาวันหนึ่งญาติสนิทของเราได้แนะนำให้รู้จักกับนักสะสมวัตถุโบราณรุ่นใหญ่ หลังจากนั้นจึงมีโอกาสไปพบท่านที่บ้านย่านสุขุมวิท เรายังจำความรู้สึกแว้บแรกขณะย่างกรายเข้าไปในบ้านได้อย่างดี ในบ้านมีวัตถุโบราณทั้งตู้ โต๊ะ ตั่ง พระพุทธรูป งาช้าง และ เครื่องกระเบื้องแทบจะครบทุกแบบทุกสี แต่ที่ทำเอาเราตะลึงพรึงเพริดมากที่สุดคือบรรดาภาพวาดที่แขวนประดับไว้บนฝาผนัง ซึ่งมีทั้งผลงานยุคแรกๆที่มีสีสันฉูดฉาดของ ถวัลย์ ดัชนี ภาพทิวทัศน์ชายทะเลฝีมือ ทวี นันทขว้าง ภาพดวงอาทิตย์โดย ประเทือง เอมเจริญ ภาพพระพุทธเจ้าของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต และอื่นๆอีกมากมายจนสาธยายไม่หมด แต่ที่สะดุดตาเรามากที่สุดคือภาพผู้หญิงเปลือยวาดด้วยสีน้ำมัน 2 ภาพซึ่งวางพิงกำแพงแอบๆไว้กับพื้น ภาพทั้ง 2 นี้เป็นภาพนางแบบท่านเดียวกัน ถูกวาดด้วยสไตล์ และโทนสีเดียวกัน ภาพหนึ่งเป็นภาพแนวตั้งวาดบนบอร์ด อีกภาพเป็นแนวนอนวาดบนผ้าใบ

ศิลปิน เฟื้อ หริพิทักษ์

         เนื่องจากภรรยาของเจ้าของบ้านไม่ค่อยพิศมัยกับภาพนู้ดที่ดูอล่างฉ่างคู่นี้ เราจึงมีโอกาสได้เสียทรัพย์ก้อนใหญ่เพื่อนำมาดูแลต่อ ส่วนสาเหตุที่มั่นใจว่าเป็นผลงานของเฟื้อแน่ๆจนถึงกับยอมควักจ่ายแบบไม่ลังเลนั้นประกอบไปด้วยหลายเหตุผล เช่น สไตล์ และเทคนิคของภาพทั้ง 2 เป็นอิมเพรสชั่นนิสม์เจือคิวบิสม์ซึ่งตรงกับแนวทางศิลปะภาพนู้ดของเฟื้อในยุคอิตาลี

         สภาพสี รอยแตก ความเก่าของผ้าใบ และบอร์ด อายุอานามดูถึงยุคไม่ได้ทำใหม่ แถมบอร์ดที่ใช้วาดยังเป็นยี่ห้อ รุ่น และขนาดเดียวกันกับภาพสีน้ำมันฝีมือเฟื้อชิ้นอื่นๆที่เรามี ซึ่งต่างก็เป็นชิ้นดังเคยถูกตีพิมพ์ในสูจิบัตรเก่าๆมากมาย ดูได้จากลวดลายสีที่เป็นเอกลักษณ์ด้านหลังภาพ ซึ่งถ้าคนที่ไม่เคยจับของจริงลองพลิกด้านหน้าด้านหลังดู ก็คงไม่รู้ว่าเฟื้อใช้บอร์ดแบบไหน และก็ยังไม่เคยพบข้อมูลว่ามีศิลปินไทยท่านอื่นๆใช้บอร์ดยี่ห้อนี้ รุ่นนี้เลย

ที่มาชัดเจน สามารถตรวจสอบสืบประวัติย้อนไปถึงเจ้าของภาพลำดับก่อนๆ และนักสะสมเจ้าของภาพทุกลำดับมีเครดิตน่าเชื่อถือ มีผลงานของเฟื้อชิ้นชิ้นดังๆเก็บไว้เป็นจำนวนมาก จึงได้สัมผัสอยู่เสมอๆจนเชี่ยวชาญคุ้นเคย

พบรูปถ่ายภาพนู้ดนี้อยู่ในอัลบั้มรูปถ่ายเก่า ที่รวบรวมผลงานต่างๆทั้งภาพสีน้ำมัน และภาพเสก็ตช์ ซึ่งรับต่อมาจากญาติของเฟื้อ

มีเอกสารรับรอง พร้อมเอกสารทางราชการ รวมถึงพินัยกรรม เขียนด้วยลายมือ ลงลายเซ็นกำกับจากญาติผู้รับมรดกบางส่วนจากเฟื้อ ยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ได้รับตกทอดภาพนู้ดนี้มา และส่งมอบต่อไปจริง

เอกสารหลักฐานที่มาของภาพ

         หลักฐานเป็นกะตั๊กขนาดนี้ทำให้เราไม่กังขา แต่เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เราจึงนำภาพวาดไปวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ด้วยเครื่องมือต่างๆนาๆ ช่างน่าตื่นเต้นว่าภายใต้สีน้ำมันอันหนาเตอะ นักวิทยาศาสตร์พบว่ามีสเกตช์เค้าโครงของภาพก่อนลงสีซ่อนเร้นอยู่ ซึ่งถ้าใครเคยเห็นงานสเกตช์ของเฟื้อจะรู้ดีว่าท่านมีเส้นสายที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร ในการดรออิ้งเฟื้อไม่นิยมแค่ลากเป็นเส้นๆ แต่เน้นฝนให้เกิดน้ำหนัก เกิดความพลิ้วไหว และภาพสเกตช์ใต้รูปนู้ดนี้ก็เป็นสไตล์แบบที่ว่า มิหนำซ้ำ องค์ประกอบทางเคมีของสีที่ใช้ในภาพ รวมถึงชนิดของผ้าใบก็สอดคล้องตัวอย่างข้อมูลที่เก็บได้จากภาพผลงานเฟื้อชิ้นอื่นๆ

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

         เรื่องที่ 3 แถมอีกนิด จะขอเล่าถึงหนึ่งในไฮไลท์ที่เราไม่เคยคิดฝันว่าวันหนึ่งจะได้พานพบ ย้อนไปช่วงราวๆกว่าสิบปีก่อน รัฐบาลสิงคโปร์มีโปรเจคใหญ่ในการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติซึ่งจะรวบรวมผลงานโอลด์มาสเตอร์จากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจัดแสดงไว้ในที่เดียว ทีมภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์จึงออกเดินทางไปทุกสารทิศ เพียรเสาะแสวงหาผลงานระดับหัวกะทิเพื่อซื้อเก็บเข้าคอลเลคชัน ห้วงเวลานั้นมีแกลเลอรีแห่งหนึ่งได้ขายผลงานศิลปะให้กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติสิงคโปร์หลายชิ้น เช่น ภาพวาดใบหน้าแบบคิวบิสม์ฝีมือ เฟื้อ หริพิทักษ์ ประติมากรรมรูปแม่อุ้มลูก ของ สมโภชน์ อุปอินทร์ ประติมากรรรมนามธรรมโดย ชำเรือง วิเชียรเขตต์ และก็มีผลงานศิลปะอีกชิ้นที่พิพิธภัณฑ์กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อดี เหตุจากสภาพที่เก่าทรุดโทรม และความซับซ้อนในการขออนุญาตส่งออก จังหวะนั้นบังเอิญว่าเรารู้ข่าวนี้เข้า เลยตัดสินใจขอคว้าไว้เสียก่อนด้วยความเสียดายกลัวว่าผลงานสำคัญขั้นนี้จะกลายเป็นสมบัติของชาติอื่นไป ผลงานศิลปะที่ว่าคือภาพวาดโบราณรูปวิวทิวทัศน์แบบยุโรปสไตล์เดียวกับผลงานของขรัวอินโข่งในงานจิตรกรรมฝาผนังวัด ซึ่งตัวอย่างที่เป็นชิ้นลอยตัวแบบนี้มีน้อยมาก แค่ 2-3 ชิ้นในคอลเลคชันของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เท่านั้น หากใครริจะไปเที่ยวเดินหาเพื่อจะเก็บมาสะสม แนะให้ไปงมเข็มในมหาสมุทรดูจะง่าย และมีความหวังกว่ามาก

         จำได้ว่าตอนแรกภาพนี้ อาการเข้าขั้นโคมา สีที่ติดอยู่พร้อมที่จะหลุดร่อนออกเป็นแผ่นๆ ในขณะที่กระดานไม้ที่ศิลปินใช้วาดก็กำลังจะปริแตกออกจากกัน มิหนำซ้ำบนภาพยังมีรูเล็กๆอยู่ทั่ว เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องรีบกุลีกุจอส่งไปอนุรักษ์กับผู้เชี่ยวชาญชาวฝรั่งเศสมือหนึ่งอย่างเร่งด่วน ในการซ่อมแซมนักอนุรักษ์ได้เพิ่มความแข็งแรงให้กับเนื้อสีเก่า รวมถึงเชื่อมแผ่นกระดานไม้ให้กลับมาแนบสนิทเรียบร้อยดังเดิม ผลการตรวจทางวิทยาศาสตร์พบว่า รูเล็กๆที่กระจายทั่ว โดยเฉพาะบริเวณใกล้กึ่งกลางของภาพ เกิดจากการเจาะด้วยโลหะแหลมๆราวกับว่าเคยมีใครใช้แผ่นไม้แผ่นนี้เป็นกระดานปาเป้ามาก่อน ภาพส่วนที่แหว่งหายดูขัดตา นักอนุรักษ์มือฉมังก็ได้ซ่อมแซมด้วยข้อมูลอย่างละเอียดลออที่ศึกษามาจากจิตรกรรมฝาผนังฝีมือขรัวอินโข่งในวัดบวรนิเวศน์ และวัดราชาธิราช โดยยึดแนวทางฟื้นคืนสภาพ และรูปแบบดั้งเดิมของจิตรกรรม โดยได้ดำเนินการตามหลักอนุรักษ์สากล ส่วนที่ฟื้นสภาพขึ้นมาทั้งหมดล้วนไม่ไปปะปนกับสีดั้งเดิม หากวันหนึ่งวันใดอยากจะให้ภาพนี้กลับมามีหน้าตาเว้าๆแหว่งๆ เหมือนสภาพตอนที่ค้นพบ นักอนุรักษ์ก็สามารถล้างสีที่เติมไว้ออกให้ได้ ง่ายนิดเดียว ไอ้เราก็เพิ่งรู้ว่าโปรเฟสชั่นแนลระดับอินเตอร์เขาทำกันแบบนี้ เพื่อไม่ให้การซ่อมแซมไปทำลายหลักฐานเดิมของสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์ ดังที่นักอนุรักษ์ชาวฝรั่งเศสสุดเจ๋งท่านนี้ย้ำกับเราว่า ‘Everything I put here must be reversible’

ศิลปิน ขรัว อินโข่ง

         สเต็ปต่อมา เราได้นำภาพนี้ไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ หลากหลายเครื่องมือ ผลออกมาก็เป็นไปตามคาด คือ ส่วนประกอบทางเคมีของสีทั้งหมดที่ศิลปินใช้ในภาพ ล้วนเป็นส่วนผสมของสีจากสมัยก่อน ไม่มีส่วนผสมของสีสมัยใหม่ มีการตรวจพบสารอันตรายหลายชนิดในองค์ประกอบสี ซึ่งในสมัยโบราณสารเคมีเหล่านี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่ศิลปินโดยที่ไม่ทราบว่ามีอันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย จนเกือบ 2 ศตวรรษก่อนพอรู้ถึงภัยนี้จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้สารเคมีดังกล่าวในวงการศิลปะ สีในสมัยต่อๆมาจึงมีความปลอดภัยกว่า และมีส่วนประกอบทางเคมีที่เปลี่ยนไป ด้วยเหตุนี้เราจึงพอจะสามารถกำหนดอายุของภาพจากสีที่ใช้ได้

         เนื้อหาของภาพเองก็มีความน่าสนใจ และช่วยบ่งบอกอายุได้ ตั้งแต่เห็นภาพนี้แว้บแรก เราก็เอ๊ะแล้วว่าทำไมธงรูปช้างเผือกบนเรือกลไฟนั้นเป็นรูปช้างกำลังชูงวงดูเริงร่า ทั้งๆที่ ธงช้าง ซึ่งก็คือธงชาติสยามในสมัยก่อน แบบที่เราเคยเห็นในพิพิธภัณฑ์ หรือหนังสือหนังหาล้วนเป็นรูปช้างเอางวงลงดูสงบเสงี่ยม อีกทั้งประวัติศาสตร์ที่สาธารณชนรับทราบคือธงช้างเผือกเปล่าบนพื้นแดงนั้นมีการเริ่มใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นรูปช้างเอางวงลงแบบที่ใครๆก็คุ้นตานั่นแหละ เราเลยหลงคิดไปเองว่าเหตุที่ช้างในรูปชูงวง เพราะศิลปินคงนึกสนุกวาดภาพให้ดูมีชีวิตชีวาไม่ได้กะจะให้สมจริง

ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังการอนุรักษ์

         จนเมื่อไม่เร็วๆนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านธงไปค้นพบหลักฐานใหม่ในพิพิธภัณฑ์ธง ณ เมืองเบรเมิน ประเทศเยอรมนี เขาดันมีธงช้างรุ่นชูงวงจัดแสดงไว้ และระบุวันเวลาที่ผลิตขึ้นอย่างชัดเจน ในปี พ.ศ. 2391 ซึ่งตรงกับช่วงปลายรัชกาลที่ 3 เอาล่ะสิ ที่นี้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เลยต้องมีการสังคายนากันยกใหญ่ สรุปเป็นว่าธงช้างนั้นมีใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว และเป็นรูปช้างชูงวง ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นแบบเอางวงลงในสมัยรัชกาลที่ 4 นั่นเลยบ่งชี้ว่าภาพวาดของเราน่าจะถูกวาดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งก็สอดคล้องกันกับพงศาวดารที่ระบุว่าขรัวอินโข่งได้คิดค้นการวาดภาพแบบไทยปนยุโรปนี้ได้ตั้งแต่สมัยที่ถวายงานรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 4 ในห้วงเวลาที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ ก่อนจะขึ้นครองราชย์

         ด้วยสไตล์ และเทคนิคการวาดที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร สภาพดั้งเดิม อายุอานามของภาพที่ระบุได้ด้วยวิทยาศาสตร์ รวมถึงรายละเอียดในภาพซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน จากหลักฐานทั้งหลายทั้งปวงเท่าที่มีในปัจจุบัน จึงยังไม่มีข้อสงสัยใดๆว่าภาพวาดบนกระดานไม้แผ่นนี้จะไม่ใช่ฝีมือของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรท่านแรกของชาติผู้ตัดสินใจแหวกม่านประเพณี จนเกิดเป็นรุ่งอรุณแห่งศิลปะสมัยใหม่ในสยาม

         เห็นไหมล่ะ การพิสูจน์ความแท้ของงานศิลปะถึงจะไม่ง่าย แต่ไม่ได้เป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่หัวใจยังมีไฟใฝ่รู้ เปิดรับข้อมูลรอบด้าน อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ปิดหูปิดตา หรือคิดแต่เพียงว่า ‘สิ่งใดที่ฉันไม่เคยเห็น นั้นแปลว่าไม่มีอยู่จริง’

         ในวงการศิลปะยุคนี้สมัยนี้นอกจากจะมีมิจฉาชีพที่สร้างงานปลอมแล้ว ยังมีปัญหาใหม่คือพวกที่คอยไปด้อยค่าผลงานชาวบ้านจากจริงให้เป็นปลอม ไม่ยอมเปิดใจรับข้อมูลให้ครบครันเสียก่อน แล้วเที่ยวสวดผลงานของคนอื่นว่าเก๊บ้าง น่าสงสัยบ้าง พูดพล่อยๆ ลอยๆ กดไลค์ กดแชร์ คาดคะเนไปว่าคงไม่ต้องรับผิดชอบอะไร พฤติกรรมแบบนี้เวลาโดนฟ้องแล้วผู้เสียหายเขาไปเปิดหลักฐานให้ดูในศาล ระวังจะเขินนะ

การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์

About the Author

Share:
Tags: ศิลปิน / ตัวแน่น / ศิลปะไทย / มีเซียม ยิบอินซอย / เฟื้อ หริพิทักษ์ / สะสมงานศิลปะ / ขรัว อินโข่ง / นักอนุรักษ์ศิลปะ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ