Friday, November 8, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

ล่ามังกรอีสาน

เรื่อง/ภาพ นัทธ์หทัย วนาเฉลิม

หน้าบันวัดบ้านกระเดียน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นรูปนูนต่ำผสมผสานกับการเขียนฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรม) เป็นภาพมังกรโชว์หน้าแต่มีความพิเศษคือ มีการคายสัตว์น้ำออกมาด้วยแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ผลงานสร้างสรรค์ของ “องนา เวียงสมศรี”

“เรื่องราวของมังกรเคยมีรวบรวมไว้เป็นคัมภีร์มังกร
แต่ได้สาบสูญไปเหลือเพียงเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ
เล่าต่อกันมาถึงปัจจุบัน…”

                      หากมีโอกาสได้มาเที่ยววัดทางภาคอีสาน ลองสังเกตศาสนคารหลังเล็กๆ ที่เรียกว่า “สิม” ดูนะ ที่จริงแล้วสิมหมายถึงโบสถ์ในภาษาภาคกลางนั่นละ เพียงแต่สิมอีสานนั้นมีขนาดเล็กกว่าโบสถ์ทางภาคกลางมาก เนื่องจากความอัตคัตในวัสดุจึงสร้างในขนาดเพียงพอให้พระสงฆ์จำนวนขั้นต่ำประกอบสังฆกรรมได้

          สิมแบบดั้งเดิมเป็นสิมไม้ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น จากนั้นจึงพัฒนาไปสู่สิมปูน แต่ยังมีการประดับเครื่องไม้ลายสลักอย่างพื้นบ้านที่เครื่องหลังคา เช่น ช่อฟ้า (สัตตบริภัณฑ์) โหง่ว (ช่อฟ้า) ลำยอง หางหงส์ ฮังผึ้ง (รังผึ้ง) และคันทวย (แขนนาง) และช่างที่มีความชำนาญการการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยปูน ราคาจ้างงานไม่แรงในยุค ๑๐๐-๒๐๐ ปีก่อน เห็นจะเป็นช่างญวนหรือช่างเวียดนามนี่เอง

ตามคติไตรภูมิ สิม หรือ โบสถ์ เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุ ซึ่งตามคติจะมีนาคคอยเฝ้าบริเวณตีนเขาป้องกันไม่ให้ผู้ประสงค์ร้ายขึ้นไปรบกวนเหล่าเทวดาบนสวรรค์ที่อยู่เหนือยอดเขาพระสุเมรุขึ้นไป ภายหลังจึงมีการสร้างเป็นสัตว์หิมพานต์ต่างเป็นตัวทวารบาลบ้าง สำหรับสิมวัดบ้านเซเป็ด อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี สร้างโดยช่างญวน ซึ่งผ่านการรับอิทธิพลวัฒนธรรมจีนมาอย่างเต็มเปี่ยมจึงได้สร้างมังกรมาอารักขาแทน

ช่างฝีมือพลัดถิ่น

ประเทศเวียดนามที่อยู่แสนไกล ไปอย่างไรมาอย่างไรจึงมาถึงภาคอีสานได้ เรื่องนี้ต้องเล่ากันยาว

ชาวญวนหรือชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ที่ประเทศรวมถึงในไทยจะเรียกตัวเองว่า “เหวี่ยดเกี่ยว” แต่กระนั้นยังจำแนกออกเป็นกลุ่มญวนเก่าและกลุ่มญวนใหม่ด้วย โดย

          กลุ่มญวนเก่า (เข้ามาก่อนปีพุทธศักราช ๒๔๘๙) จะเรียกตนเองอย่างเป็นทางการว่า “เหวี่ยดกู๋”
          กลุ่มญวนใหม่ (อพยพเข้ามาหลังปีพุทธศักราช ๒๔๘๙, หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒)   จะเรียกตัวเองว่า “เหวี่ยดเหมย”

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพในครั้งนั้นเกิดจากประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมมีการกดขี่อย่างรุนแรง (พุทธศักราช ๒๔๖๓) แม้ว่าภายหลังจะได้รับเอกราชแล้วยังประสบปัญหาความขัดแย้งด้านอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ โดยระหว่างพุทธศักราช ๒๔๘๘-๒๔๘๙ ได้มีเกิดการอพยพครั้งใหญ่ผ่านประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งรกรากอยู่ในภาคอีสานแถบจังหวัดอุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี หนองคาย นครพนมและมุกดาหาร

เมื่อเข้ามาอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารแล้วจึงประกอบอาชีพตามที่ตนถนัด คือ “งานช่าง”ด้วยเชิงช่างที่มีความสร้างสรรค์จากแรงงานราคาถูกเพื่อให้คนในท้องถิ่นยอมรับ ได้เข้ามามีบทบาทเด่นชัดในฐานะนายช่างผู้เชี่ยวชาญรับเหมาก่อสร้างทั้งอาคาร บ้านเรือน โดยเฉพาะศาสนคารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิม ธาตุ หอแจก (ศาลาการเปรียญ) หอไตรและวิหาร ทำให้เทคโนโลยีการสร้างศาสนคารในอีสานมีความก้าวหน้าขึ้นมาก

เอกลักษณ์ช่างญวน

ในขณะที่ทางเมืองหลวงพยายามสร้างความศิวิไลซ์ให้ทัดเทียมชาติตะวันตกโดยใช้ช่างฝีมือจากอิตาลี ภาคอีสานอันห่างไกลหากอยากจะศิวิไลซ์กับเขาบ้างก็เห็นจะมีแต่ช่างญวนนี่ละที่สามารถสร้างสถาปัตยกรรมอย่างตะวันตกได้ แต่เป็นสถาปัตยกรรมอิทธิพลฝรั่งเศส ซึ่งมีเอกลักษณ์ คือ กรอบโค้งเหนือประตูหน้าต่าง ระเบียงเจาะช่องรูปไข่ มีบันไดแจกออก ๒ ข้าง กลายเป็นสถาปัตยกรรมที่คนท้องถิ่นตั้งชื่อเล่นให้ว่า “ตึกฝรั่ง ช่างญวน”

        ช่างญวนไม่เพียงแค่สร้างสถาปัตยกรรมอิทธิพลฝรั่งเศสที่ปรากฏเท่านั้น แต่ลวดลายประดับสถาปัตยกรรมที่เป็นภาพมงคลจีนก็มีความหมายที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ก่อนหน้านี้เวียดนามก็เคยอยู่ภายใต้การปกครองของจีนมากว่า ๑,๐๐๐ ปี ด้วยเช่นกัน เป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลและวัฒนธรรมหลายอย่างจากจีน (ก่อนพุทธศักราช ๖๕๔-๑๔๘๑) และได้รับอิสรภาพเมื่อปีพุทธศักราช ๑๔๘๑ เช่นนี้แล้วลวดลายมงคลที่เป็นดั่งคำอำนวยพรประดับสิม และสิ่งของเครื่องพุทธบูชาต่างๆ ที่เห็นได้บ่อยจึงเห็นจะเป็น “มังกร”

ธรรมาสน์ทรงเก๋ง วัดบ้านป่าข่า อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่เสาทั้ง ๔ ของธรรมาสน์สลักเป็นลายมังกรดั้นเมฆ หอธรรมมาสน์หลังนี้เป็นธรรมาสน์สกุลช่างญวนที่เก่าแก่ที่สุดในภาคอีสานขณะนี้ สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๒๓

เกร็ด-มังกร

          ในขณะที่คนจีนเรียกมังกรว่า “เล้ง” (แต้จิ๋ว) หรือ “หลง” (จีนกลาง) ทางเวียดนามบันไดเสียงขยับเล็กน้อยเป็น “ลอง” และกลายเป็น “ลวง” เมื่อมาถึงหลวงพระบาง

          มังกร มีนัยความหมายอันเป็นมงคล หมายถึง พลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ เพศชาย สติปัญญา

          ตำนานกำเนิดมังกรเป็นนิทานปรัมปราเล่าสืบขึ้นไปถึงสมัยบรรพบุรุษ มีหญิงชื่อ “นึ่งออเนี่ยเนี้ย” ตัวเป็นคนหัวเป็นงู เมื่อถึงเวลาสิ้นอายุขัย ผ่านไป ๓ ปี กลับไม่เน่าเปื่อย มีคนอุตริเอามีดผ่าท้องดู พลันมีมังกรเหลืองพุ่งตัวออกมาแล้วเหาะขึ้นฟ้าไป จึงเกิดเป็นความเชื่อว่ามังกรเป็นสัตว์เทพอันศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง

          ในอีกด้านหนึ่งมังกรเป็นที่เกิดจากจินตนาการ โดยนำเอาสัตว์ ๕ ชนิด มาผสมกันได้แก่
          เขา     พัฒนามาจากเขากวาง แต่นำมาใช้เพียงครึ่งเดียว
          หัว      เป็นวัว
          ตัว      คืองู
          เกล็ด  ทั้งตัวปกคลุมด้วยเกล็ดปลา
          ตีน     หยิบยืมตีนเหยี่ยวมาใช้

          ในปากมังกรจะต้องคาบมุกอัคนี เป็นมุกวิเศษ ขยายใหญ่ได้ หดเล็กได้ ดับแสงได้ ส่องสว่างได้ ทั้งยังสามารถเรียกลมฝนได้ และยังปราบภูตผีปีศาจได้ด้วย

ลวดลายมังกรที่พบได้ในงานพุทธศิลป์อีสาน

                           ที่จริงแล้วลวดลายมังกรที่ปรากฏในงานศิลปะมีหลายหลายลายวิจิตร แต่ที่พบได้บ่อยในงานพุทธศิลป์อีสาน ได้แก่มังกรดั้นเมฆ (ฮุ้งเล้ง), มังกรโชว์หน้า (เจี่ยเล้ง), มังกรบิน (เอ้งเล้ง) และมังกรทะยานฟ้า (เท้งเล้ง)

ภาพเขียนสีฝุ่นบนเพดานหอแจกวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี ที่มุมล่างซ้ายวาดเป็นลายมังกรดั้นเมฆ
มกึ่งทึบกึ่งโถง วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ด้านบนใกล้กับจั่วเขียนลาย “มังกรโชว์หน้า” ดูดุร้ายอาจจะเพื่อขู่ขวัญผู้ไม่ปรารถนาดีด้วย
มักมีคำติดปากผู้ศึกษางานช่างพื้นถิ่นว่า
“นาคลาว/อีสาน มีปีก” แต่แท้จริงแล้วนาคมีปีกนั้นคือ “มังกรบิน”
ประตูวัดศรีมงคลใต้ อ.เมือง จ.มุกดาหาร ชาวเวียดนามร่วมใจกันสร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์ก่อนกลับประเทศ เป็นศิลปะปูนปั้นนูนต่ำรูป “มังกรทะยานฟ้า”

          ในบรรดามังกรต่างๆ ที่เอ่ยนามมานี้ “เจ้าแห่งมังกร” (กุยเล้ง) เป็นราชาแห่งมังกร ซึ่งถือศีลอด ไม่ลงน้ำสกปรกหรือดื่มกินน้ำสกปรกเลย มีนัยมงคลถึงความสง่างาม

ภายหลังการบริหารประเทศโดยจอมพลป.พิบูลสงครามได้ชูนโยบายชาตินิยม ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๔ ได้มีการกำหนดว่าการสร้างโบสถ์ใหม่ให้ใช้รูปแบบ ก ข ค ออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ สิมสร้างสรรค์สไตล์ช่างญวนจึงต้องปิดฉากลงอย่างน่าเสียดาย…

          ลวดลายมงคลจีนในงานพุทธศิลป์อีสานยังมีอีกมาก โอกาสหน้าจะนำมาเล่าถึงความหมายในการอำนวยพรให้ชาวอนุรักษ์ได้อ่านกัน

ฮูปแต้มชาดกเรื่องพระเวสสันดร กัณฑ์กุมาร ช่างได้วาดมังกร “กุยเล้ง” ในสระบัวที่พระชาลี และพระกัณหา ลงไปซ่อนตัว นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่าภาพกุยเล้งนี้ ช่างได้ต้นแบบจากกาน้ำชากระเบื้องที่พระสงฆ์นิยมใช้

หน้าบันวัดบ้านกระเดียน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เป็นรูปนูนต่ำผสมผสานกับการเขียนฮูปแต้ม (ภาพจิตรกรรม) เป็นภาพมังกรโชว์หน้าแต่มีความพิเศษคือ มีการคายสัตว์น้ำออกมาด้วยแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ ผลงานสร้างสรรค์ของ “องนา เวียงสมศรี”

About the Author

Share:
Tags: ฮูปแต้ม / มอญ / สะสมงานศิลปะ / มังกร / ศิลปิน / ศิลปะไทย /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ