Friday, November 8, 2024
ศิลปะ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

แบกะดิน งานศิลป์สุเชาว์

เรื่อง/ภาพ: ตัวแน่น

สุเชาว์ สมัยหนุ่มๆเคยประกอบอาชีพวาดภาพไทยๆขายฝรั่งอยู่ช่วงหนึ่ง
ส่วนจะขายภาพละเท่าไหร่คงไม่ต้องเดา เพราะรูปที่ใหญ่กว่าด้านหลังมีราคาเขียนไว้ว่า 20 บาท
ส่วนรูปเล็กเขียนไว้หราว่า 10 บาทขาดตัว


         

        ช่วงนี้กระแสที่เกี่ยวกับภาพวาดฝีมือ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ กำลังเป็นเรื่องฮิตติดลมบน มีผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการออกมาเขียนหนังสือ เขียนบทความ แม้กระทั่งในงานประมูล ราคาผลงานสุเชาว์ก็พุ่งปรี๊ดอย่างกับติดจรวด ทำเอาเราถึงกับมานั่งคิดว่ารู้งี้ น่าจะกวาดงานสุเชาว์ชิ้นดีๆ เอาที่ชัวร์ๆ เก็บเอาไว้เยอะๆ สมัยที่ราคาค่างวดยังเฟรนด์ลี่ เพราะถ้าจะให้ไปตามหาซื้องานประเภทนี้ในวันนี้ บอกตามตรงว่าชิ้นเด็ดๆแต่ละชิ้นนี่ต้องมีหลายๆล้านไม่ต่างอะไรกับซื้อบ้านซักหลังสองหลัง

ศิลปินหนุ่ม เขียนรูปในห้องเช่า เมื่อ พ.ศ. 2495
(ภาพจากหนังสือ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ชีวิตและงาน)

         ไหนๆก็ว่ากันถึงเรื่องบ้าน เรื่องสุเชาว์ กันแล้ว เลยจะขอเล่าถึงเหตุการณ์สุดพิลึกแบบ อึ้ง ทึ่ง ซึ่งเพิ่งพบเจอมากับตัวแบบหมาดๆ แถมยังเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สุเชาว์กำลังพีคสุดๆ คลับคล้ายคลับคลาเหมือนสุเชาว์ที่อยู่บนฟ้ากลัวว่าเราจะตกเทรนด์ 

         เรื่องมีอยู่ว่าเมื่อเย็นวันหนึ่งในกลางเดือนสิงหาคม 2567 มีไลน์มาจากเพื่อนรุ่นพี่ผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารโบราณ ส่งรูปถ่ายภาพสีน้ำ 2 ภาพมาให้ดู เป็นภาพกลุ่มบ้านไทยริมคลองที่มีพื้นยกสูง ความน่าสนใจของภาพทั้งสองนี้คือการจัดวางคอมโพซิชั่น ให้บ้านแต่ละหลังซ้อนทับกันแน่นๆในระยะที่แตกต่างกัน เกิดเป็นมิติลึกเข้าไปไกลๆ อีกทั้งหน้าตาของบ้านแต่ละหลังยังดูสูงโหย่งๆแบบไม่สมส่วน ราวกับว่าผู้วาดไม่ได้เน้นความสมจริงตามที่ตาเห็นทั้งหมด แต่ใส่อารมณ์แบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์นิดๆเข้าไปด้วย นอกจากบ้านที่เป็นจุดสนใจหลัก ภาพทั้งสองยังมีต้นไม้ใหญ่ใบน้อยๆกระหยุมกระหยิมซึ่งมีลำต้น และกิ่งแบบหงิกๆงอๆ เป็นส่วนประกอบ โดยรวมๆดูยังไงก็แตกต่างจากภาพบ้านริมคลองแบบมาตรฐานที่เห็นกันบ่อยจนเหมือนลอกกันมาเป็นทอดๆ

‘บ้าน‘ พ.ศ. 2496 เทคนิคสีน้ำ และดินสอบนกระดาษ ขนาด 22 x 27 เซนติเมตร

           ภาพวาดทั้งสองชิ้นนี้ถูกร่างเนื้อหาขึ้นมาก่อนด้วยดินสอหัวทื่อๆ บางจุดก็ลากเส้นเอาท์ไลน์เส้นเดียวเกิดเป็นรูปร่างของสิ่งต่างๆ ในขณะที่บางจุดก็ใส่แรงฝนจนเกิดเป็นน้ำหนักเกิดเป็นเงา สีน้ำที่ระบายไว้ก็ปล่อยให้เนื้อสีน้ำตาล เขียว และฟ้า ไหลไล่เฉดอย่างผ่อนคลาย เว้นพื้นที่สีขาวของกระดาษไว้เป็นหย่อมๆ เพื่อแทนที่แสงอาทิตย์จ้าที่ส่องลงมากระทบหลังคา และฝาบ้าน 

          เพราะเป็นแค่รูปถ่ายเล็กๆทางหน้าจอมือถือ ที่เตะตาเรามากที่สุดจนต้องซูมแล้วซูมเข้าอีก คือลายเซ็นพร้อมระบุปีที่วาดตรงมุมล่างขวาเขียนว่า ‘S. YIM 1953’  โดยตามหลักการแล้วตัว S ที่ตามด้วยจุดน่าจะเป็นอักษรย่อของชื่อผู้วาด อาจจะเป็นชื่ออะไรก็ได้นับพันนับหมื่นชื่อที่นำหน้าด้วย ส. เสือ ศ. ศาลา หรือ ซ. โซ่ ส่วน YIM นั้นน่าจะเป็นนามสกุลซึ่งเป็นไปได้หมดทั้ง ยิม หยิ่ม ยิ่ม ยิ้ม หยิม  และ 1953 นั้นเป็นอื่นใดไปไม่ได้ นอกจากปี ค.ศ. 1953 หรือตรงกับ พ.ศ. 2496 

‘บ้าน‘ พ.ศ. 2496 เทคนิคสีน้ำ และดินสอบนกระดาษ ขนาด 22 x 27 เซนติเมตร

          วันต่อมาเราเลยไม่รอช้า ขอนัดไปดูภาพทั้งสองชิ้นนี้กับตา สิ่งแรกที่เราสงสัยคือภาพนี้มีใครวาดขึ้นมาใหม่ แล้วระบุปีย้อนยุคหรือเปล่า พอดูจากสภาพความเก่าของกระดาษ และสี ภาพเหล่านี้น่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนานกว่า 70 ปีจริงๆ คำถามที่สองคือถึงแม้ภาพวาดจะเก่า แต่อาจจะมีใครอุตริเอาภาพเหล่านี้ที่อาจจะไม่มีลายเซ็นอยู่เดิม มาเซ็นใหม่ภายหลังหรือเปล่า เมื่อลองส่องดูลายเซ็นอย่างละเอียดพบว่าลายเซ็น และปีล้วนเขียนด้วยดินสอหัวทื่อๆ เวลาโดนแสงแล้วเกิดประกายเทาๆวาวๆพอดีไม่ดำปี๋ เฉดเดียวกับที่ใช้ร่างภาพทุกประการ ความสงสัยเรื่องอายุอานาม และการปลอมลายเซ็นจึงค่อยๆคลายไป ความน่าเชื่อถืออีกประการคือพี่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเอกสารเก่ามือฉมัง เรียกง่ายๆคือ ‘ดูเป็น’ ใครคิดจะต้มพี่เขาคงยาก 

           สเต็ปต่อไปเราจึงสอบถามพี่เขาถึงแหล่งที่มา เลยได้ความว่าเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้าได้ไปเดินดูของเก่าที่ตลาดไทยคลองถมช่วงบ่ายๆ เจอแผงแบกะดินแผงหนึ่งซึ่งขายของเบ็ดเตล็ด ท่ามกลางกองถ้วยชามรามไห และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีภาพวาดบนกระดาษเก่าๆถูกกองทับๆกันไว้แบบดิบๆโดยไม่มีกรอบ เป็นรูประบำรำฟ้อน พุทธประวัติ วัดวาอาราม บ้านเรือนแบบไทย สไตล์ที่เอาไว้ขายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คล้ายกับว่าเจ้าของแผงรายนี้ไปเหมา หรือเก็บของเก่ามาจากร้านจำหน่ายของที่ระลึกที่ไหนซักแห่ง 

‘ภูเขาทอง’ พ.ศ. 2496 เทคนิคสีน้ำ และดินสอบนกระดาษ ขนาด 38 x 48 เซนติเมตร

          ภาพที่เอาไว้ขายฝรั่ง ซึ่งวาดโดยใครก็ไม่รู้แบบนี้ จริงๆแล้วเห็นได้ทั่วไปในตลาดของเก่า ไม่มีราคาค่างวดอะไรมากมาย ซึ่งปกติพี่เขาก็ไม่ได้สนใจภาพอะไรแบบนี้หรอก แต่วันนั้นไม่รู้อะไรดลใจ เกิดสงสัยไปพลิกดูว่า ทำให้ไปจ๊ะเอ๋เข้ากับภาพบ้านไทย 2 ภาพ ที่ถูกวาดในสไตล์ที่แปลกแยกกว่าชิ้นอื่นใดในกอง แถมลายเซ็นยังน่าสนใจศึกษา เลยจัดแจงซื้อมาในราคาเหมือนแทบจะได้ฟรี    

          เมื่อเราพลิกดูภาพจนพอใจแล้ว ทั้งเราและพี่เขาก็มองตากันปริบๆ และเกิดข้อสันนิษฐานคล้ายๆกันว่าภาพสีน้ำเซ็นชื่อ S. YIM คู่นี้มันช่างสอดคล้องซะเหลือถ้าจะเป็นตัวย่อของ ซิวเกียง แซ่หยิ่ม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนทั้งชื่อทั้งนามสกุลเป็น สุเชาว์ ยิ้มตระกูล และ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ตามลำดับ อีกสาเหตุที่เป็นไปได้สูง เพราะภาพบ้านที่จัดวางองค์ประกอบแบบนี้ มีให้เห็นในผลงานของสุเชาว์ยุคต่อมาอยู่หลายชิ้น แต่จะให้ฟันธงไปเลยว่า S. คือสุเชาว์แน่ๆก็ดูจะโลกสวยไปหน่อย วันนั้นเราทั้ง 2 จึงแยกย้ายกันไปอย่างต่างคนต่างตะขิดตะขวงใจ    

‘วัดอรุณ‘ พ.ศ. 2496 เทคนิคสีน้ำ และดินสอบนกระดาษ ขนาด 43 x 55 เซนติเมตร

          ปุบปับฉับไวจนน่ามหัศจรรย์ที่อีกแค่ 2 วันให้หลัง มีไลน์ส่งมาจากเพื่อนรุ่นพี่ของเราอีกท่านหนึ่งซึ่งไม่มีความข้องเกี่ยวใดๆกันกับท่านแรกที่โชว์ภาพสีน้ำ 2 ภาพให้เราดู ในไลน์เป็นรูปถ่ายภาพวาดปริศนาที่พี่เขาได้มาจากตลาดไทยคลองถมตอนช่วงสายๆของสัปดาห์ก่อน โดยพี่เขาเล่าว่าไปเจอแผงแบกะดิน ขายของจิปาถะ รวมถึงมีภาพวาดแบบไทยๆทั้งภาพสีน้ำ และสีฝุ่น สุมทับๆไว้เป็นกอง เลยลองไปนั่งยองๆเลือกดูที่ถูกใจ ในบรรดาภาพเก่าๆจนกระดาษกรอบราวข้าวเกรียบเหล่านั้นมีภาพเทคนิคสีน้ำขนาดใหญ่กว่าชิ้นอื่นๆอยู่ 3 ภาพ เป็นภาพพระปรางค์วัดอรุณ ภูเขาทอง และโลหะปราสาท ภาพเหล่านี้วาดด้วยสไตล์แบบสำแดงอารมณ์ ลงสีปล่อยๆ หากดูจากมุมที่ไม่ซ้ำซาก ศิลปินน่าจะเดินทางไปวาดในสถานที่จริง แตกต่างไปจากภาพอื่นๆในกองซึ่งดูแข็งทื่อ ให้ความรู้สึกเหมือนภาพคัดลอกที่ถูกวาดซ้ำๆกันจากโต๊ะในห้องทำงาน

          พี่เขาเล่าต่อว่าตอนที่ค้นๆดู ภาพวาดในกองบ้างก็มีลายเซ็น บ้างก็ไม่มี และชื่อต่างๆที่เซ็นไว้ก็ไม่มีที่คุ้นตาเลย มีแค่ 3 รูปนี้แหละที่เซ็นชื่อไว้ว่า SUCHAO เฉยๆตามด้วยเลข 1953 เหตุเพราะพี่เขารู้ว่ามีศิลปินเลื่องชื่อนามว่า สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เลยตัดสินใจคว้ามาก่อนด้วยอารมณ์แบบใช่ก็ดี ไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร เพราะตอนซื้อไม่ได้มีราคาเท่าไหร่ แต่ครั้นจะให้มั่นใจไปเลยโดยการมโนไปเองว่าใช่ฝีมือ สุเชาว์ ศิษย์คเณศ แน่ๆ ก็ไม่น่าจะเหมาะ เพราะทุกรูปถึงจะเซ็นชื่อไว้ แต่ไม่เห็นนามสกุล คนชื่อสุเชาว์นามสกุลอื่นๆที่วาดรูปได้ในเมืองไทยน่าจะมีอีกเพียบ

‘โลหะปราสาท‘ พ.ศ. 2496 เทคนิคสีน้ำ และดินสอบนกระดาษ ขนาด 48 x 38 เซนติเมตร

        วันต่อมาเมื่อเราได้มีโอกาสพิจารณาภาพของจริงในมือพี่เขา พอเห็นยิ่งมั่นใจในความเก่า ลายเซ็น กับ ปี ที่เขียนด้วยสีน้ำก็เป็นสีเดียวกันกับที่ใช้วาดในภาพไม้ได้มีใครมาแต่งเติมเอาภายหลัง และที่สังเกตได้อย่างชัดเจนที่สุดคือภาพสีน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 3 ภาพนี้ วาดในสไตล์เดียวกัน เทคนิคเดียวกัน ใช้ดินสอเบอร์เดียวกัน ใช้สีน้ำเฉดเดียวกัน และระบุปีที่วาดเป็นปีเดียวกันกับภาพวาด 2 ชิ้นขนาดย่อมที่เราเพิ่งเห็นเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้า ทำให้เรามั่นใจว่าภาพทั้ง  2 ชุดรวม 5 ภาพนี้วาดโดยบุคคลท่านเดียวกัน ต่างกันแค่ขนาดกับลายเซ็น โดยชิ้นใหญ่ทั้งหมดเซ็นชื่อ SUCHAO ในขณะที่ภาพที่เล็กกว่าทั้งหมดเซ็นว่า S. YIM

         เหมือนจิ๊กซอว์ที่ขาดหายมาเติมเต็มซึ่งกันและกันพอดี เมื่อปะติดปะต่อเรื่องราวก็ได้ความว่าภาพทั้งหมดมาจากแผงแบกะดินเจ้าเดียวกัน ที่ทั้งคนขาย และคนซื้อก็ไม่ชัวร์ว่าใครวาด โดยภาพที่เซ็นว่า SUCHAO ถูกเหมาไปก่อนตอนสายๆ ส่วน S. YIM ถูกเหมาไปตอนบ่ายๆในวันเดียวกัน โดยผู้ซื้อรอบ 2 ไม่เห็นภาพที่ถูกเหมาไปตอนสายๆ และบุคคล 2 ท่านที่ซื้อไปไม่มีความเกี่ยวข้องกัน คราวนี้พอเอาภาพทั้ง 2 กลุ่มมารวมกันเลยโป๊ะเชะ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าผลงานทั้งหมดนี้ถูกวาดขึ้นโดย SUCHAO YIM หรือ สุเชาว์ แซ่หยิ่ม (ยิ้มตระกูล) สมัยที่ยังใช้นามสกุลเดิม ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ศิษย์คเณศ ในปี พ.ศ. 2507 และเพื่อความชัวร์ว่าไม่มีใครไปปลอมภาพเหล่านี้ขึ้นมาแน่ ผลงานทั้งหมดจึงถูกขอนำไปตรวจสอบอีกทีด้วยเครื่องมือไฮเทค ผลออกมาก็ไม่มีสิ่งใดๆให้ที่เป็นพิรุธ

ภาพบ้านที่วาดขึ้นในปี พ.ศ. 2528 โดย สุเชาว์ ศิษย์คเณศ

         ก็ไม่แปลกถ้ามีใครจะสงสัยว่าทำไมหน้าตาของภาพสีน้ำเหล่านี้ ถึงจะมีอารมณ์ของสุเชาว์ ศิษย์คเณศ เจือๆอยู่ แต่ไม่ยักกะเหมือนผลงานฝีมือสุเชาว์ที่เราๆท่านๆคุ้นตาเลย ภาพวาดของสุเชาว์ตามมาตรฐานต้องวาดด้วยสีน้ำมันโชว์ทีเกรียงหนาๆ สร้างฉากในจินตนาการที่ไม่มีจริง ปลดปล่อยอารมณ์เศร้าๆจากความลำบากของชีวิตผ่านการทำงานในห้องเช่าแคบๆ แต่ภาพที่พบใหม่ไฉนเหมือนสุเชาว์กำลังชิลๆ พกกระดาษ พู่กัน และสีน้ำไม่กี่สี เดินทางลัดเลาะไปวาดฉากอันงดงามตามตาเห็นนอกสถานที่ ไม่ได้มุ่งถ่ายทอดเนื้อหาความทุกข์ร้อนของตนลงไปบนผลงาน

         เพื่อให้เข้าสาเหตุถึงสไตล์ และอารมณ์ที่แตกต่าง เราต้องย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2496 ปีที่ภาพสีน้ำเหล่านี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา ณ ห้วงเวลานั้น สุเชาว์ในวัย 27 ปี กำลังเรียนอยู่ ณ โรงเรียนศิลปศึกษา ทั้งยังมีโอกาสได้ร่ำเรียนศิลปะกับศิลปินชั้นนำระดับประเทศ ดังที่ท่านเคยให้ข้อมูลไว้ในหนังสือ ‘สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ชีวิตและงาน’ ไว้ว่า ‘…ผมเริ่มเรียนสีน้ำกับอาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ และมาเรียนเขียนสีน้ำมันกับอาจารย์ ทวี นันทขว้าง มาหัดเขียนในวัน เสาร์ -อาทิตย์ ที่ว่างจากงานแล้ว…’ สุเชาว์มุ่งฝึกฝนฝีมืออย่างหนักจากเคล็ดวิชาที่ได้รับการถ่ายทอดจากปรมาจารย์ทั้ง 2 ท่านนี้เป็นเวลาราวครึ่งปี ก่อนจะตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2496 ผลปรากฏว่าภาพวาดของสุเชาว์ถูกคัดเลือกให้จัดแสดงถึง 3 ชิ้นอันประกอบไปด้วยภาพ แดดยามเช้าต้นฤดูหนาว (Morning in Cold Season), สุเหร่า บางลำภู (Islam Church), และ เงียบเหงา (Landscape) ซึ่งภาพที่ชื่อว่า เงียบเหงา ได้รับรางวัลเกียรตินิยมเหรียญเงิน สุเชาว์เล่าไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า ‘…ชีวิตผมเริ่มเปลี่ยนแล้ว…รูปที่ได้รางวัลที่สองเหรียญเงินนั่นแปลกนะ ท้องฟ้าใส ผมเขียนแบบไม่รู้ตัวจริงๆ มันรู้สึกเหมือนอยู่ในภวังค์ เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ เป็นภาพบ้านหลังหนึ่ง หลังไฟไหม้ มีต้นไม้แห้งดำ…โอ้โฮ สวย…’

ภาพ ’เงียบเหงา‘ ที่ได้รับรางวัลเหรียญเงินในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2496
(ภาพจากหนังสือ สุเชาว์ ศิษย์์คเณศ ชีวิตและงาน)
 

           ภาพ เงียบเหงา ถูกวาดด้วยสีน้ำมันหนาๆ ปาดป้ายทิ้งทีเกรียงให้เห็นแบบโจ้งๆ รายละเอียดต่างๆในภาพมีการตัดเส้นขอบฉุบฉับเป็นเหลี่ยมแข็ง ดูคล้ายภาพวาดชื่อว่า โรงไฟฟ้า ฝีมือ ทวี นันทขว้าง ที่แสดงในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติในปีเดียวกันมาก จนรู้สึกได้ถึงอิทธิพลจากครูสู่ลูกศิษย์อย่างชัดเจน และถ้าหากนำภาพ เงียบเหงา มาเปรียบเทียบกับภาพสีน้ำซึ่งถูกวาดขึ้นในปีพ.ศ. 2496 ที่เพิ่งค้นพบทั้งหมดก็จะเห็นว่าเนื้อหา การจัดวางองค์ประกอบ วิธีตัดเส้น รวมถึงสไตล์การวาด นั้นคล้องจองไปในแนวทางเดียวกันแบบสุดๆ

ภาพ ’โรงไฟฟ้า‘ โดย ทวี นันทขว้าง
ที่ได้รับเหรียญทองในการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2496
(ภาพจากหนังสือ 5 ทศวรรษศิลปกรรมแห่งชาติ 2492-2541)

          ปัจจุบันไม่รู้ว่าภาพ เงียบเหงา ตกทอดไปอยู่ที่ใด ยังอยู่ดี หรือผุพังย่อยสลายไปหมดแล้ว แต่ค่อยยังชั่วที่ภาพนี้เคยถูกถ่ายรูปตีพิมพ์ลงหนังสือเอาไว้ รูปถ่าย เงียบเหงา จึงเป็นหลักฐานอันเก่าแก่ที่สุดเพียงชิ้นเดียวที่วงการศิลปะไทยมีเพื่อใช้ศึกษาถึงผลงานของสุเชาว์ในยุคแรกเริ่มขณะกำลังค้นหาตัวตน ก่อนจะหันมาวาดภาพแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ที่สาธารณชนคุ้นตา ภาพสีน้ำที่พบใหม่ชนิดที่ คนขายก็ไม่รู้คนซื้อก็ไม่ทราบ ถ้าหากเป็นงานของสุเชาว์จริงๆจะมีความสำคัญอย่างสูง เพราะช่วยเพิ่มเติมคลังความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของผลงาน สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินชื่อก้องผู้ถูกขนานนามว่าเป็นแวนโก๊ะเมืองไทย ให้ครบสมบูรณ์ยิ่งๆขึ้นไปอีก

         แถมยังทำให้เราได้รู้อีกว่า สุเชาว์ สมัยหนุ่มๆเคยประกอบอาชีพวาดภาพไทยๆขายฝรั่งอยู่ช่วงหนึ่ง ส่วนจะขายภาพละเท่าไหร่คงไม่ต้องเดา เพราะรูปที่ใหญ่กว่าด้านหลังมีราคาเขียนไว้ว่า 20 บาท ส่วนรูปเล็กเขียนไว้หราว่า 10 บาทขาดตัว

About the Author

Share:
Tags: สะสมงานศิลปะ / นักอนุรักษ์ศิลปะ / สุเชาว์ ศิษย์คเณศ / S. YIM 1953 / ศิลปิน / ตัวแน่น / ศิลปะไทย / วัดอรุณ /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ