นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 59
เรื่อง/ภาพ: ทีมงานนิตยสารอนุรักษ์
“หลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ เป็นชาวบางคลาน เมืองพิจิตร ท่านเกิดเมื่อ วันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู ราวปีพุทธศักราช ๒๓๕๑ มีชื่อว่า “เงิน” เป็นบุตรคนที่ ๔ ของครับครัว “นายอู๋” ผู้เป็นบิดาเป็นชาวบ้านบางคลาน มารดาชื่อ “นางฟัก” เป็นชาวบ้านแสนตอ ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร บิดามารดาประกอบสัมมาอาชีพเป็นชาวนา ตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ในตำบลบางคลาน หลวงพ่อเงินมีพี่น้องทั้งหมด ๖ คน คือ นายพรหม นางทับ นายทอง (ขุนภุมรา) หลวงพ่อเงิน นายหล่ำและนางรอด
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน (หิรัญญาราม)
จังหวัดพิจิตร พระโพธิสัตว์แห่งเมืองชาละวัน เจ้าของรูปหล่อเหนือมัจจุราช ตอนที่ ๑
เมื่อหลวงพ่อเงินอายุได้ประมาณ ๓ ขวบ นายช่วง ซึ่งมีฐานะเป็นลุงของท่าน ได้นำไปฝากเล่าเรียนหนังสืออยู่ที่ “วัดตองปุ” ในราวปี พ.ศ ๒๓๖๐ สมัยก่อนการศึกษาเล่าเรียนมักเรียนกันตามวัดไม่มีโรงเรียนเหมือนสมัยนี้ ครูผู้สอนก็คือพระสงฆ์ ซึ่งในขณะนั้น “พระมหาสุเมธาจารย์” เป็นเจ้าอาวาส เด็กชาย “ เงิน” ได้ศึกษาเล่าเรียน ณ สำนักตองปุ และเมื่ออายุอย่างเข้า ๑๒ ปี จึงกราบลาบิดามารดาและลุงช่วง เพื่อขอบรรพชาเป็นสามเณร ทั้งนี้ได้เข้ารับการศึกษาพระธรรมวินัย คัมภีร์มูลกัจจายน์ เวทมนต์คาถาและวิทยาการต่างๆ จนมีความรู้แตกฉาน ด้วยสำนักวัดตองปุ ในขณะนั้นมีชื่อเสียงที่สำคัญแห่งหนึ่ง “วัดตองปุ” ปัจจุบันชื่อว่า วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เดิมเป็นวัดโบราณขนาดเล็ก เรียกกันว่า “วัดกลางนา” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงรวบรวมชาวรามัญที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ให้มาตั้งหลักฐานอยู่รอบวัดกลางนา ได้ก่อสร้างวัดกลางนา ให้พระสงฆ์ชาวรามัญจำพรรษาแล้วตั้งนามวัดกลางนาใหม่ว่า “ วัดตองปุ” โดยลอกเรียนนามวัด และขนบธรรมเนียมของวัดในกรุงศรีอยุธยาและลพบุรี ซึ่งเป็นวัดที่พระสงฆ์ฝ่ายรามัญพำนักอยู่
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงโปรดจัดให้วัดตองปุเป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เพื่อตอบแทนคุณความดี และเชิดชูเกียรติ ทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ที่เป็นกำลังสำคัญในการรบพม่า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ตามเหตุการณ์หลักจากทำสงครามชนะพม่าถึง ๓ ครั้ง คือ พ.ศ.๒๓๒๘, พ.ศ.๒๓๒๙ และ พ.ศ.๒๓๓๐ ว่า “วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร” สำหรับพระมหาสุเมธาจารย์ พระอาจารย์ท่านแรกของหลวงพ่อเงินนี้สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปฐมเจ้าอาวาสของวัดชนะสงคราม นอกจากพระมหาสุเมธาจารย์แล้วหลวงพ่อเงิน ได้ศึกษาเล่าเรียน กับพระอาจารย์ที่สำคัญและมีชื่อเสียงเกียรติคุณมากอีกท่านหนึ่ง คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่ง วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เข้าใจว่าท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานแบบลำดับที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเล่าเรียนมาจาก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ญาณสังวโร วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ)