สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนจับตา 10 ประเด็นดาราศาสตร์น่าติดตามในปี 2567
ปีนี้ประเทศไทยจะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุน้องใหม่เพื่อศึกษาวิจัยด้านดาราศาสตร์วิทยุ และยีออเดซี และเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชันดูดาวฝีมือคนไทย ในชื่อ “NAPA” ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ลุ้นปล่อยดาวเทียมฝีมือคนไทย NARIT Cube-1 และพร้อมเผยโฉมดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ TSC-1 นอกจากนี้ ยังจับมือจีนเดินหน้าโปรเจคสำรวจดวงจันทร์กับภารกิจฉางเอ๋อ 7 ส่วนงานพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมขั้นสูง พบกับนวัตกรรมใหม่ “ฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าฝีมือคนไทย” ที่จะช่วยให้การเก็บข้อมูลงานวิจัยสะดวก และแม่นยำขึ้น และจับตางานวิจัยวิทยาศาสตร์บรรยากาศ ร่วมแก้ปัญหาระดับชาติ “ศึกษาต้นตอฝุ่น PM2.5” ผลักดันต่อกับ “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” Amazing Dark Sky in Thailand ชวนมาขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ และปักหมุดหอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชน แห่งที่ 5 ของไทย เริ่มก่อสร้างแล้วที่พิษณุโลก
ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ
– ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้-ไกลโลก : ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี (Micro Full Moon) – 24 กุมภาพันธ์ 2567 (วันมาฆบูชา) และดวงจันทร์เต็มดวงใกล้ที่สุดในรอบปี (Super Full Moon) – 17 ตุลาคม 2567
–ดาวเคราะห์ใกล้โลก :ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี – 8 กันยายน 2567 และดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี – 8 ธันวาคม 2567
– ดวงจันทร์บังดาวเสาร์ : ครั้งที่ 1 วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 เวลา 03:09 – 04:27 น. (เห็นทั้งประเทศ) และครั้งที่ 2 วันที่ 15 ตุลาคม 2567 เวลา 02:19 – 03:00 น. (เห็นในไทยบางส่วน เฉพาะประเทศไทยตอนบน)
– ดาวเคียงเดือน และดาวเคราะห์ชุมนุม ตลอดทั้งปี
เกาะกระแสดาราศาสตร์โลก
ในปี 2567 มีภารกิจสำรวจอวกาศสำคัญ ได้แก่ ภารกิจ Artemis II โดย NASA เตรียมส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งในรอบกว่า 50 ปี (พฤศจิกายน 2567) ยาน Europa Clipper โดย NASA สำรวจดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี (ตุลาคม 2567) ยาน MMX โดย JAXA สำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคาร (กันยายน 2567) และ ยาน Hera โดย ESA สำรวจดาวเคราะห์น้อย Didymos-Dimorphos (ตุลาคม 2567)
โครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ระดับโลก
เตรียมติดตั้งเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบวีกอส (VGOS) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ที่จังหวัดเชียงใหม่ และสงขลา เพื่อการวิจัยด้านยีออเดซี และธรณีวิทยา เชื่อมต่อเครือข่ายกับนานาประเทศ
“NAPA” แอปพลิเคชันดูดาวฝีมือคนไทย
จากซอฟต์แวร์ท้องฟ้าจำลองฝีมือคนไทย สู่แอปพลิเคชันดูดาวในโทรศัพท์มือถือ เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้กลายเป็นแผนที่ดาวดิจิทัล และเครื่องมือช่วยดูดาว ได้ในทุกสถานที่ และทุกเวลา
ความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไทย
จับตา NARIT Cube-1 ดาวเทียม CubeSat ฝีมือคนไทย ที่มีแผนจะปล่อยสู่อวกาศในปี 2567 และ เผยโฉม TSC-1 พร้อม Payload ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ภายใต้ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย ที่มีแผนจะประกอบขึ้นในห้องปฏิบัติการ Clean Room ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่
ความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศไทย-จีน
พัฒนาขีดความสามารถคนไทย ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสำรวจอวกาศเชิงลึก ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศระหว่างโลกและดวงจันทร์ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก เพื่อติดตั้งไปกับยานฉางเอ๋อ 7 ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนาเชิงวิศวกรรมร่วมกันระหว่างสองประเทศ และจีนมีแผนจะส่งไปสำรวจดวงจันทร์ภายในปี พ.ศ. 2569
งานพัฒนาเทคโนโลยี และวิศวกรรมดาราศาสตร์ขั้นสูง
ฐานกล้องโทรทรรศน์ติดตามวัตถุท้องฟ้าความแม่นยำสูง ฝีมือคนไทย ออกแบบและผลิตโดยห้องปฏิบัติการเมคาทรอนิกส์ ศูนย์ปฏิบัติการหอดูดาวและวิศวกรรม NARIT อำนวยความสะดวกในการศึกษาวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ห่างไกลจากพื้นโลก อาศัยหลักการควบคุมการเคลื่อนที่ของกล้องโทรทรรศน์ให้ชี้ไปยังวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการศึกษาด้วยความแม่นยำสูง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต่อเนื่อง และครบถ้วนสำหรับการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์
จับตาผลงานเด่นงานวิจัยดาราศาสตร์
NARIT ร่วมศึกษาหาต้นตอปัญหาฝุ่น PM2.5 ดึงเทคโนโลยี และองค์ความรู้ดาราศาสตร์ แก้ปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย ศึกษาวิจัยการประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 โดยวิเคราะห์หาชนิด และปริมาณสารประกอบอินทรีย์ระเหยจากแหล่งชีวภาพ และตัวติดตามละอองลอยทุติยภูมิของฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อทำความเข้าใจแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่ชัดเจน ตรงประเด็น สอดคล้องตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ด้วยอุปกรณ์ต้นแบบ Atmospheric LiDAR ที่ออกแบบและผลิตขึ้นเอง สำหรับตรวจจับกลุ่มอนุภาค หรือฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ
Amazing Dark Sky in Thailand
NARIT จับมือหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผลักดันสถานที่เข้าร่วมเป็น เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยภายใต้แคมเปญ “Amazing Dark Sky in Thailand” สถานที่ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย และได้รับสนับสนุนสื่อและอุปกรณ์เพื่อการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ รวมถึงประชาสัมพันธ์ในช่องทางต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ปัจจุบัน มีอุทยานแห่งชาติ หน่วยงาน ชุมชน และภาคเอกชน ขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่อนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแล้วทั้งสิ้น จำนวน 30 แห่ง สำหรับผู้สนใจ และประสงค์จะเสนอพื้นที่เข้ารับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ Dark Sky Thailand https://darksky.narit.or.th/
หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนแห่งที่ 5 ของไทย : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา พิษณุโลก หอดูดาวภูมิภาคสำหรับประชาชนเต็มรูปแบบแห่งที่ 5 ของไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) จังหวัดพิษณุโลก เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 หากแล้วเสร็จจะเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคกลางตอนบน สนับสนุนการบริการวิชาการดาราศาสตร์ งานวิจัยดาราศาสตร์สำหรับนักเรียน นักศึกษา สร้างความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิชาการของชุมชน และท้องถิ่