สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชวนเตรียมตัวดูดาวหน้าหนาว เริ่มอีเวนท์แรก 3 พฤศจิกายน 2566 “เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ก่อนเปิดให้บริการดูดาวทุกคืนวันเสาร์ พร้อมกัน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค ที่นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และน้องใหม่ล่าสุด “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น”
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวของไทย ท้องฟ้ามีทัศนวิสัยดีเหมาะแก่การดูดาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตภาคเหนือ จึงถึงเวลาเปิดฤดูกาลชมดาวทุกวันเสาร์อีกครั้ง ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และปีนี้เตรียมเปิดให้บริการ “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น” ตั้งอยู่ที่ ต. เขื่อนอุบลรัตน์ อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น ในส่วนท้องฟ้าจำลองและหอดูดาว ซึ่งในฤดูหนาวนี้มีวัตถุท้องฟ้าและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าสนใจให้ชมมากมาย อาทิ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี เป็นต้น สดร. จึงเตรียมจัดกิจกรรมดาราศาสตร์หลากหลายในช่วงดังกล่าว ดังนี้
1) เปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาว ในคืนดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เวลา 18:00-22:00 น. กิจกรรมดูดาวครั้งแรกของฤดูหนาวนี้ มาพร้อมปรากฏการณ์ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ส่องดาวพฤหัสบดีผ่านกล้องโทรทรรศน์ ชมความสวยงามของแถบเมฆ จุดแดงใหญ่ และเหล่าดวงจันทร์บริวาร พร้อมฟัง Special Talk เปิดโผกิจกรรมและปรากฏการณ์ดาราศาสตร์น่าติดตามที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงเทศกาล เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
2) ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 14 – เช้า 15 ธันวาคม 2566 เริ่มชมปรากฏการณ์ได้เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า อัตราการตกสูงสุดประมาณ 120-150 ดวง/ชั่วโมง ชวนร่วมนอนนับฝนดาวตก และชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
3) Starry Night over Bangkok ดูดาวกลางกรุง วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 เวลา 18:00-22:00 น. ณ สวนเบญจกิตติ กรุงเทพมหานคร เปิดประสบการณ์ดูดาวและชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ร่วมค้นหาดวงดาวที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางตึกสูงระฟ้า เรียนรู้การดูดาวพื้นฐานผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนกับนักดูดาวมืออาชีพ พร้อมเก็บภาพถ่ายดวงจันทร์ผ่านสมาร์ทโฟนจากกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
4) NARIT Night at the Museum 2023 วันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 เวลา 18:00-22:00 น. เปิดนิทรรศการ ท้องฟ้าจำลองรอบพิเศษยามค่ำคืน และกิจกรรมดูดาว สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้ดาราศาสตร์ในช่วงกลางคืน และร่วมฉลองเทศกาลคริสต์มาสท่ามกลางหมู่ดาว พบกันได้ที่อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภูมิภาค ที่นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
5) TNO Open House : เปิดบ้านหอดูดาวแห่งชาติ ชวนร่วมสัมผัสเทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และชมดาวเคราะห์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวแห่งชาติ) บนอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมห้องทำงานของนักดาราศาสตร์ จัด 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 และครั้งที่ 2 วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 รับจำนวนจำกัด ครั้งละ 120 คนเท่านั้น ค่าสมัคร 300 บาท/ท่าน *เปิดรับสมัครทั้ง 2 ครั้ง วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ทางเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/NARITPage (ในช่วง Live เวลา 20:00 น. เป็นต้นไป)*
6) NARIT AstroFest 2024 มหกรรมดาราศาสตร์ วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 09:00-22:00 น. จัดเต็มกิจกรรมดาราศาสตร์ในวันเด็กแห่งชาติ หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวกับการเปิดบ้านอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีดาราศาสตร์ขั้นสูง สัมผัสการทำงานวิจัยของนักดาราศาสตร์สาขาต่าง ๆ พร้อมลุ้นรับของที่ระลึกสุดพิเศษ และสื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์มากมายภายในงาน ส่วนภูมิภาคพบกันได้ที่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และขอนแก่น เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
7) Stargazing Night วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 เวลา 18:00-22:00 น. ครั้งแรกที่คนไทยจะเงยหน้ามองฟ้าดูดาวพร้อมกันทั่วประเทศ กับการตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อสังเกตการณ์วัตถุท้องฟ้า และกลุ่มดาวฤดูหนาว ได้แก่ ดวงจันทร์ในช่วงหัวค่ำ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี กาแล็กซีแอนโดรเมดา เนบิวลาในกลุ่มดาวนายพราน และกระจุกดาวต่าง ๆ ทั่วท้องฟ้า ให้บริการทั่วไทย นำโดยหอดูดาวในกำกับของ NARIT โรงเรียนในเครือข่ายดาราศาสตร์ และเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย รวมกันกว่าหลายร้อยจุดสังเกตการณ์ เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
8) Dark Sky Star Party มหกรรมท่องเที่ยวดูดาว วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 17:00-22:00 น. ณ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ. อุบลราชธานี สัมผัสความมหัศจรรย์ของท้องฟ้ายามค่ำคืน ในเขตอุทยานท้องฟ้ามืดที่มีทัศนวิสัยท้องฟ้าดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย กับคาราวานกล้องโทรทรรศน์กว่าครึ่งร้อยจากนักดาราศาสตร์สมัครเล่น และเครือข่ายดาราศาสตร์ พร้อมหลากหลายกิจกรรมทางดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชมธรรมชาติยามค่ำคืน และ Workshop การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
9) NARIT Public Night : ดูดาวทุกคืนวันเสาร์ กิจกรรมดูดาวสำหรับประชาชน ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาด 0.7 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กอีกหลายชนิด พร้อมแนะนำการดูดาวเบื้องต้น ทุกคืนวันเสาร์ เวลา 18:00-22:00 น. ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย
● อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ (พฤศจิกายน – พฤษภาคม ของทุกปี) สอบถาม โทร. 084-0882261 *เริ่ม 4 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป*
● หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (เปิดให้บริการตลอดปี) สอบถาม โทร. 086-4291489
● หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต. วังเย็น อ. แปลงยาว จ. ฉะเชิงเทรา (เปิดให้บริการตลอดปี) สอบถาม โทร. 084-0882264
● หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ต. เขารูปช้าง อ. เมือง จ. สงขลา (เปิดบริกาเฉพาะเดือนมกราคม – ตุลาคม ของทุกปี) สอบถาม โทร. 095-1450411
● หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ขอนแก่น ต. เขื่อนอุบลรัตน์ อ. อุบลรัตน์ จ. ขอนแก่น (เปิดให้บริการตลอดปี) สอบถาม โทร. 063-8921854
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เทศกาลชมดาวนับเป็นโอกาสดีที่จะได้สะสมแต้มในแคมเปญ “NARIT Point” อีกด้วย เพียงเข้าร่วมกิจกรรม NARIT Public Night ดูดาวทุกคืนวันเสาร์ รวมถึงกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ สามารถสะสมแต้มออนไลน์และแลกรับของที่ระลึก Limited Edition (ของที่ระลึกขึ้นอยู่กับจุดแลกรับแต่ละแห่ง) พิเศษสุดในวันเปิดเทศกาลชมดาว…รับลมหนาวฯ (3 พ.ย. 66) เพียงเข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับแต้มสะสม 10 คะแนนทันที
สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITPage