นิตยสารอนุรักษ์ ฉบับที่ 21
เรื่อง: นิภาพร ทับหุ่น
ภาพ: อดุลวิทย์ วาณิชอุปถัมภ์กุล, ตามตะวัน
นครชุม ลับแลแห่งเมืองอกแตก
ถ้ารอยยิ้มคือดัชนีชี้วัดความสุขได้ ชุมชนที่อยู่ภายใต้การร่ายรำของสายหมอกของจังหวัดพิษณุโลกแห่งนี้ คงได้ชื่อว่าเป็นชุมชนที่มีความสุขที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ถนนสายนั้นสิ้นสุดลงที่ชุมชนขนาดใหญ่ซึ่งตั้งเรียงรายต่อกันไปเป็นทางยาว หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ “ร่องเขาแห่งนครชุม” จังหวัดพิษณุโลก
ย้อนไปกว่า ๗๐๐ ปี ชุมชนแห่งนี้เคยมีสถานะเป็นเหมือน “อู่ข้าวอู่น้ำ” และแหล่งซ่องสุมกำลังไพร่พลเพื่อการสู้รบของพ่อขุนบางกลางท่าว เจ้าเมืองบางยาง (นครไทย) เพื่อไปตีเอาเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัยกลับคืนมาจากขอม โดยในครั้งนั้นได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองลาด (เพชรบูรณ์) ในการตีคืนบ้านเมือง เมื่อได้ชัยชนะจึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”
จากดินแดนที่เป็นแหล่งซ่องสุมกำลังพลซึ่งรู้จักกันในชื่อ “นครซุ่ม” โดยมีหลักฐานเป็นค่ายทหารโบราณ เครื่องถ้วยและอาวุธโบราณสมัยสุโขทัย ต่อมาเพี้ยนเป็น “นครชุม” และมีฐานะเป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอนครไทยจังหวัดพิษณุโลก (พิษณุโลกเคยถูกเรียกว่าเมืองอกแตกเพราะมีแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมือง)
สายลมเย็นๆ พัดผ่านร่องเขาโชยมาเบาๆ ไม่ใช่เพียงแค่ฤดูหนาว แต่สายลมแห่งความสดชื่นนี้เป็นเพื่อนแท้ที่แสนดีของชาวนครชุมตลอดปี เพราะด้วยสภาพภูมิประเทศที่ถูกโอบล้อมไปด้วยทิวเขาสูงชันทั้ง ๔ ด้าน ตรงกลางเป็นที่ราบและถิ่นอาศัย มีสายน้ำไหลมาจากภูเขาตลอดปี ทำให้พื้นที่นี้เหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากสายลมเย็นๆ แล้ว สายหมอกบางเบาก็เป็นเจ้าถิ่นที่คุ้นเคยกันดี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผู้คนในละแวกนี้จะมองความสวยงามนั้นเป็นเรื่องธรรมดา เพราะพวกเขาพบเจอมาตั้งแต่เกิด แต่…ความธรรมดานั้นเองที่เป็นเสน่ห์และดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วทิศเดินทางเข้ามาสัมผัส
นครชุมเพิ่งเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ใช่ว่าก่อนนั้นจะเมินเฉยเพียงแต่ชาวนครชุมรู้สึกว่า “ไม่มีอะไร” ต้อนรับผู้มาเยือนกระทั่ง สุรินทร์โรจน์ ศรีสังข์ เข้ามาดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม แล้วมองเห็นศักยภาพของพื้นที่ จึงพยายามพัฒนาชุมชนโบราณแห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ขึ้นมา
ความตั้งใจเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเดินทางมาเยือนนครชุม เพราะที่นี่ไม่ใช่เมืองผ่านหรือมีทางออกไปสู่พื้นที่อื่นๆฉะนั้นใครจะมาจึงต้องตั้งใจ เรียกว่ามาทางไหนก็ต้องกลับไปทางนั้นจริงๆ
ในย่านนครชุมมีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ติดกัน ๘ แห่ง สามารถขี่จักรยานไปแวะทักทายชาวบ้านได้โดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักท่องเที่ยวจะมาพักโฮมสเตย์ที่มีให้บริการอยู่ราว ๒๐ หลัง แล้วอาศัยจักรยานในการเดินทางไปชมแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่ภายในชุมชน โดยอาจจะเริ่มต้นที่ต้นตะเคียนยักษ์ ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าชุมชน เป็นต้นตะเคียนที่มีอายุกว่าร้อยปี ตั้งตระหง่านอยู่ ๒ ต้นใกล้ๆ กัน บางคนจึงเรียกตะเคียนคู่ อยู่ติดกับศาลปู่หลวง ที่ชาวบ้านให้ความศรัทธา
ขี่จักรยานส่งรอยยิ้มให้ชาวบ้านมาเรื่อยๆ จะพบกับกลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า ที่ถือเป็นผลิตภัณฑ์หลักของชาวบ้านโดยในช่วงหลังปีใหม่ราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ดอกหญ้าบนภูขัด-ภูเมี่ยงจะมีปริมาณเยอะเป็นพิเศษ ชาวบ้านจะไปตัดเอามาทำไม้กวาดส่งขายกันในตำบลและอำเภอนครไทย
สำหรับ กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง ตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ส่วนมากจะทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม โดยมีลายดอกแก้วและลายขอระฆังเป็นลายเอกลักษณ์ของชาวบ้านนครชุมการขี่จักรยานในชมุ ชนแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องยากหรืออนั ตรายเพราะไม่ค่อยมีรถราวิ่งกันวุ่นวายเหมือนเมืองท่องเที่ยวอื่นๆอย่างมากก็แค่รถอีแต๊กของชาวบ้าน หรือบ้างบางทีก็อาจจะพบกับฝูงวัว-ควายที่ชาวบ้านกำลังไล่เข้าคอก ถือเป็นบรรยากาศที่สงบและน่ารักมากทีเดียว
ก่อนเลี้ยวเข้าไปชมเจดีย์สีทองขนาดใหญ่ในวัดนาลานข้าวมีชาวบ้านกำลังเผาข้าวหลามแบบขุดหลุมฝังกระบอกอยู่ริมทาง เมื่อส่งยิ้มให้กันพร้อมกับทักทาย เจ้าบ้านก็ยกข้าวหลามกระบอกใหญ่ให้ผู้มาเยือนเป็นการต้อนรับ ถือเป็นน้ำมิตรน้ำใจที่พบได้ในเมืองนครชุม
สำหรับวัดนาลานข้าวเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวนครชุมด้วยมีความเก่าแก่และมีพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ประดิษฐานอยู่ภายใน ใครไปใครมาจึงมักแวะมากราบพระขอพรเป็นประจำส่วนวัดนาเมือง ก็เป็นอีกหนึ่งวัดที่สำคัญเพราะมีอุโบสถที่สวยงาม
กลางท้องทุ่งนาบริเวณหมู่บ้านนาขุมคัน มี บ่อเกลือพันปีเป็นบ่อเกลือที่ชาวบ้านนำมาบริโภคในครัวเรือน เป็นบ่อเกลือภูเขาคล้ายๆ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน แต่ที่นี่ผลิตเกลือกันในฤดูแล้งและไม่ได้ซื้อขาย หากแต่ผลิตไว้ใช้กันปีต่อปี ปัจจุบันก็ยังมีการต้มเกลือกินกันอยู่
ไม่ไกลกันเท่าไรคือที่ตั้งของ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านปู่ช่วงโดยมี ปู่ช่วง มีเฟีย ราษฎรอาสา(อส.) เป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แต่อย่าเพิ่งคิดการใหญ่โตไป เพราะพิพิธภัณฑ์ที่ว่านั้นเป็นเพียงอาคารหลังเล็กๆ ที่รวบรวมโบราณวัตถุซึ่งขุดค้นพบในแหล่งโบราณคดีนครชุม โดยมีเศษภาชนะดินเผาทั้งเนื้อดินธรรมดาและเนื้อแกร่งอยู่เต็มไปหมด บางส่วนเป็นชิ้นส่วนตุ๊กตาดินเผารูปสัตว์ มีดาบเก่ายุคสุโขทัย และพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่งดงามอยู่ด้วย
ไม่มีสักคนที่ผิดหวังกับการเดินปีนป่ายขึ้นมาบน “เขาโปกโล้น” เพราะภาพที่ทุกคนเห็นคือความงาม “ธรรมดาๆ” แบบที่ชาวบ้านว่า “เห็นมาตั้งแต่เกิด”
อาจจะปิดท้ายของวันด้วยการขี่จักรยานไปยัง โรงกลั่นมิตรชาวนา ซึ่งเป็นโรงกลั่นสุราแบบวิสาหกิจชุมชน โดยมีป้าสมพร บุญมีจิว เป็นผู้ผลิตแบบไม่ผิดกฎหมาย เพราะขออนุญาตมานานกว่า ๑๔ ปี ก่อนหน้านี้ไม่ต้องเอ่ยถึง เพราะป้าเล่าแบบติดตลกว่า ต้มเถื่อนๆ แล้วต้องหนีมานานหลายสิบปีจนที่สุดขออนุญาตแบบถูกกฎหมายดีกว่าจะได้ไม่ต้องหนีอีกส่วนคำว่า “มิตรชาวนา” ก็ตั้งเพราะลูกค้ารายสำคัญคือกลุ่มชาวนาในหมู่บ้านนั่นเอง
ท่ามกลางความมืดมิดของเช้าวันใหม่ในเวลาตี ๕ เศษนักท่องเที่ยวหลายคนเดินคลำทางขึ้นไปบนภูเขาหินทรายแห่งนั้นอย่างเพลิดเพลินใจ ไม่มีความกลัวอยู่ในหัวของพวกเขามีเพียงภาพหมอกขาวๆ และแสงพราวของดวงตะวันเท่านั้นที่ปรารถนา และทันทีที่แสงเช้าปรากฏขึ้นมา ภาพความประทับใจที่ตามหาก็อยู่ตรงหน้านั่นเอง
สายหมอกสีขาวที่ไหลเบาๆ ไปตามร่องเขาแห่งนั้นเป็นภาพชวนตื่นเต้นติดตา ไม่มีสักคนที่ผิดหวังกับการเดินปีนป่ายขึ้นมาบน เขาโปกโล้น เพราะภาพที่ทุกคนเห็นคือความงาม “ธรรมดาๆ” แบบที่ชาวบ้านว่า “เห็นมาตั้งแต่เกิด”
น่าอิจฉาแค่ไหนที่ชุมชนแห่งนี้แม้จะอยู่ห่างไกลแต่ก็ไม่เคยขาดความสุข และเมื่อยิ่งได้รู้ว่า “ตำรวจ” คืออาชีพที่มีไว้ประดับตำบลเพราะผู้คนไม่เคยทำความผิด ไม่มียาเสพติดในพื้นที่ ยิ่งทำให้ “นครชุม” ดูดีในสายตาของคนทั่วไป ไม่ใช่แค่ “ภาพ” แต่นครชุม “เป็น” แบบนั้นจริงๆ
ยิ่งได้มาสัมผัสเชื่อว่าทุกคนจะต้องหลงรัก “เมืองลับแล”แห่งนี้กันทุกราย