เรื่อง: นัทธ์หทัย วนาเฉลิม
ภาพประกอบ: ประทีป สุธาทองไทย

“ที่จริงแล้วดุสิตธานี
ผมว่ามันเป็นการเล่น”
ประโยคข้างต้นเป็นประโยคที่ทำให้รู้สึกสะดุดใจอยู่พอสมควร เพราะค่อนข้างขัดกับความรับรู้ที่ได้จากแบบเรียนนับตั้งแต่ประถมศึกษาช่วงปลายเรื่อยมาว่า ดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองประชาธิปไตย

“ผศ.ประทีป สุธาทองไทย” เจ้าของประโยคข้างต้น ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจารย์ประทีปเป็นผู้มีแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการเมืองไทยให้กลายเป็นงานศิลปะสร้างสรรค์ ชุด “ดุสิตธานี” เขาได้เล่าถึงที่มาที่ไปในเส้นทางศิลปะจนกระทั่งพบแรงบันดาลใจในครั้งนี้อย่างออกรส
แม่ผู้กำเนิดและเกิดจิตรกร
ปกติแล้ววัยรุ่นในยุค ๙๐ เป็นยุคสมัยที่เส้นทางอาชีพไม่ได้หลากหลายและเปิดกว้างอย่างในยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้ปกครองในยุคนั้นเป็นห่วงอนาคตของลูกหลานกันมากด้วยความปรารถนาดีอยากให้มีชีวิตที่มั่นคง ถ้าใครบอกว่าอยากเรียนศิลปะ ปฏิกิริยาที่สะท้อนกลับมาอาจจะเป็นกัณฑ์เทศน์ยาวยืด หรือการเจรจาหว่านล้อมชักแม่น้ำทั้ง ๕ ให้เปลี่ยนความคิด แต่คุณแม่ของอาจารย์ประทีปกลับเห็นต่างออกไป
“สมัยสาวๆ แม่ผมเคยตามพี่สาวไปเรียนพิเศษแถวพาหุรัด แถวนั้นก็จะใกล้เพาะช่างไง แม่ก็เลยไปเรียนวาดรูป วาดรูปเหมือนเสียด้วย น่าเสียดายรูปดรออิ้งที่แม่วาดไว้หายไปตอนช่วงย้ายบ้าน
“จากเรื่องนี้ก็เลยคิดว่ามีส่วนที่ทำให้แม่สนับสนุนเรื่องเรียนศิลปะ ตั้งแต่เด็กๆ ก็อยากวาดรูปเหมือนให้ได้ เพราะมันยากไง แม่ก็เป็นคนแรกที่สอน เรื่องการตีตารางที่ภาพต้นฉบับ แล้วค่อยมาตีตารางในสมุดวาดรูป เป็นรูปดินสอก่อน จำได้ละ ก็โอเคนะ ประสบความสำเร็จ พอเราทำได้ก็มีความมั่นใจ”

จิตรกรรมทิวทัศน์ดุสิตธานี (ผลงาน พ.ศ. ๒๕๖๓)
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อททางการศึกษาอาจารย์ประทีปตัดสินใจไม่เดินทางต่อในเส้นทางสายสามัญ มุ่งสู่สายอาชีพที่ “วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี”
“ผมไปเรียนอาชีวะจบ เราก็ไม่ได้เก่งขนาดที่จะไปเข้าศิลปากร ก็ไปเข้าเพาะช่าง อย่างเพาะช่างก็จะเป็นไปในทางอนุรักษ์นิยม (conservative) ก็คือเรียนศิลปะแบบเก่า (classic) ไม่ใช่แบบสมัยใหม่ (modern)”
ในเวลานั้นที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี รัตนโกสินทร์ มีอาจารย์ปัญญา เพ็ชรชู ซึ่งเจนจัดในเรื่องเทคนิคการใช้สีน้ำ และ สีชอล์ก ทำให้จิตรกรหนุ่มได้เรียนรู้เทคนิคเหล่านี้มาเสริมการวาดภาพเหมือนของเขาให้เนี้ยบยิ่งขึ้น ทำให้เขายิ่งมั่นใจว่าตนเองมาถูกทางแล้ว และจดจ่อกับการเขียนรูปเหมือนจนกระทั่งจบชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปลายปีนั้นเองความคิดของจิตรกรหนุ่มได้มาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง
“ผมเรียนปวส. อยู่ ๒ ปี ทางเพาะช่างเขาก็ปรับหลักสูตรให้เป็นปริญญาตรี คือ เรียนอีก ๒ ปี โดย ๒ ปีหลังที่ได้เชิญอาจารย์พิเศษจากศิลปากรมาสอน มันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยน เพราะมันเปิดโลกเราให้ได้รู้จักการเรียนการสอนแบบอื่น ที่ต่างจากอาจารย์ทางเพาะช่าง ว่ามันมีงานแบบอื่นๆ นอกจากภาพเหมือน จึงเกิดแรงบันดาลใจ แล้วก็เริ่มชัดเจนกับงานแนวสร้างสรรค์ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานเรียลลิสติกก็ตาม”

นิทรรศการ Art SG สิงคโปร์
หลังจากรู้ถึงความต้องการของตัวเองแล้วอาจารย์หนุ่มจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิต ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ในสาขาจิตรกรรม ทำให้เขาเปิดโลกทัศน์ไปอีกแบบหนึ่ง เมื่อพบว่าเพื่อนร่วมชั้นที่มาจากหลายที่ถูกสอนกันมาคนละแบบ ทำให้อาจารย์ประทีปเห็นว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องยึดติดเฉพาะในแบบที่เรียนมา แต่ควรทำความเข้าใจในเทคนิคแบบอื่นๆ ด้วย ไม่ต่างจากการเจออาจารย์หลายท่านช่วยประสิทธิประสาทวิชา รวมทั้งประสบการณ์จากการไปดูงานแสดงศิลปะ ทำให้จิตรกรหนุ่มเริ่มมีมุมมองของงานในแบบร่วมสมัยมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นงานประกวดหรือการแสดงงานศิลปะ ล้วนทำให้จิตรกรหนุ่มก้าวเดินในเส้นทางศิลปะได้อย่างมั่นคง แต่เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีนิสัยรักการอ่านมาช่วยเสริมมุมมองในการสร้างสรรค์งานของเขาให้เฉียบคมขึ้น
“ตอนหลังเริ่มรู้จักภัณฑารักษ์ (curator) หลายคน มีอาจารย์อยู่ท่านหนึ่ง เป็นอาจารย์สายรัฐศาสตร์ แต่ก็มาทำงานในสายภัณฑารักษ์ด้วย ชื่อ อาจารย์อรรฆย์ ฟองสมุทร บางครั้งผมก็ไปค้างบ้านอาจารย์ ไปนอนในห้องสมุด ซึ่งมีหนังสือพวก ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา โอ้โห! มันเปิดโลกมากเลย มันทำให้เราเห็นมุมของศิลปะที่เกี่ยวโยงกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือ เรื่องสังคม วัฒนธรรมได้

ผลงานจำลอง คนธรรพนาฏศาลา (ผลงาน พ.ศ. ๒๕๖๖)