ดุสิตธานี…บุรีเมตาเวิร์ส

จิตรกรรมทิวทัศน์ดุสิตธานี พ.ศ. ๒๔๖๕ (ผลงาน พ.ศ. ๒๕๖๖)
สำหรับแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานศิลปะชุด “ดุสิตธานี” อาจารย์จากเมืองตักศิลาออกตัวว่า เรื่องนี้ต้องคุยกันยาว
“โอ้โห!…เอาแบบนี้ก่อน พอเรียนจบปุ๊บ ผมก็มาสอนที่มหาสารคามเลย ตอนปี ๒๕๔๙ หลังจากมาสอนที่นี่แล้ว ก็มาสนใจเรื่องท้องถิ่น ตอนที่ยังไม่มาทำงานที่มหาสารคาม ผมอ่านหนังสือประวัติศาสตร์โน่นนี่ เพื่อมาใช้ในการสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ผมรู้สึกว่าหนังสือวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทยเนี่ย มันถูกวางเนื้อหาโดยมีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง พอมาสอนที่นี่นิสิตเขาก็ไม่อิน เพราะพื้นที่มันไกลกันมาก คนทั่วไปถ้าไม่มีเหตุผล หรือสถานการณ์มากระตุ้นน่ะ เขาจำไม่ได้หรอก
“ผมรู้สึกว่าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะมันน่าจะสนุกกว่านี้ นึกถึงในอนาคตข้างหน้า ถ้าเด็กๆ ที่ผมสอนไปรับจ็อบ แน่นอนว่าใน ๑๐๐ คน ย่อมมี ๙๐ คน ที่ลืมอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาจำได้ว่าเรื่องนี้อาจารย์เคยสอน เพราะตอนนั้นเรียนสนุก แล้วไปเปิดหนังสืออ่านเพิ่มเพื่อให้งานมีความลึกซึ้งน่าจะดีกว่า”

นิทรรศการดุสิตธานี-บ้านน้อมเกล้า Bangkok Art Biennale 2020
จากความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์ เชื่อมโยงมาถึงเรื่องดุสิตธานีได้ก็ไกลกันอยู่ไม่น้อย จุดที่ทำให้ทั้งสองเหตุการณ์มาบรรจบกันได้ คือ เทศกาลงานศิลปะระดับนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ๒๐๒๐” (Bangkok Art Biennale 2020)
“มันมีจุดที่ทำให้ศึกษาค้นคว้าตอนถูกภัณฑารักษ์เชิญชวนให้เสนองานเข้าไปในเทศกาลศิลปะบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ปี ๒๐๒๐ ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ ๒ ผมเลยมาดูว่า เอ๊ เราจะทำอะไร ก็มาคิดว่าพื้นที่ที่ใช้จัดงานตรงแบ็บ บ็อก (Bab box) นั้นมีความเชื่อมโยงอะไรบ้าง
“ก็มี สวนลุมพินี ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่รัชกาลที่ ๖ ตั้งใจจะใช้จักงานแสดงสินค้า (world expo) ให้ชาวต่างชาติมาชม ภายในสวนลุมพินี มีอนุสาวรีย์รัชกาลที่ ๖ แล้วเน้นย้ำผ่าน โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอนุสาวรีย์ ทั้งชื่อยังไปพ้องกับเมืองจำลองที่รัชกาลที่ ๖ ทรงสร้างขึ้นเพื่อทดลองระบบเทศบาล ก็ตกลงทำเรื่องดุสิตธานี”

แผนที่ดุสิต ธานี วาดโดย พระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์ สวัสดิ์-ชูโต)
ข้อมูลดุสิตธานี ๑๐๑ จากแหล่งค้นคว้าทั่วไปทำให้เราทราบว่า เมืองจำลองดุสิตธานีสร้างขึ้นระหว่างพุทธศักราช ๒๔๖๑-๒๔๖๘ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมตามพระราชดำริในด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และมุ่งสื่อภาพลักษณ์เรื่องทิศทางการปกครองในอนาคต หลังจากสยามได้ส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑
บางคนก็เรียกว่าเป็นเมืองตุ๊กตา เพราะอาคารบ้านเรือนมีขนาดเพียง ๑ : ๒๐ ตั้งอยู่โดยรอบพระที่นั่งอุดรภาค ซึ่งมีทางเชื่อมกับพระที่นั่งอัมพรสถาน รวมเนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ครึ่ง ก่อนจะย้ายไปสร้างที่พระราชวังพญาไทบนพื้นที่ใหญ่กว่า ๔ ไร่