Friday, April 18, 2025
ศิลปะ สัมภาษณ์ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

มองดุสิตธานีผ่านสายตาจิตรกร

อัลบั้มภาพถ่ายดุสิตธานี
ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ

          พลเมืองของดุสิตธานี เรียกว่า “ทวยนาคร” ทวยนาครสามารถจับจองที่ดินขนาดตั้งแต่ ๑ ตารางเมตร มีการออกโฉนดให้แก่ผู้ถือครอง มีการขายและเสียภาษีอย่างเป็นระบบ สำหรับทวยนาครที่ยังไม่มีที่ดินสามารถเช่าบ้านจากพระคลังข้างที่ หรือทวยนาครคนอื่นได้ และที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกคือ มีการจัดการระบบอย่างชัดเจน มีการทำสำมะโนประชากร เพื่อให้ทราบหลักแหล่งที่จัดเจน

          ในสมัยนั้นเงินเดือนข้าราชการเริ่มต้นที่ ๒๐ บาท แต่การจะสร้างบ้านหรือซื้อบ้านนั้นต้องใช้เงินราว ๒๐๐-๓,๐๐๐ บาท จึงไม่ใช่กิจกรรมที่บุคคลทั่วไปจะร่วมเล่นได้ ชาวทวยนาครจึงเป็นมหาดเล็ก และข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกงาน รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงแสดงบทบาทเป็น “นายราม ณ กรุงเทพ” อาชีพทนายความด้วย

     การประกอบอาชีพของชาวทวยนาครนั้นมักจะล้อไปกับอาชีพในชีวิตจริง เช่น ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ในดุสิตธานีจะมีตำแหน่งราชการที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ หรือในโรงเรียน ผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับนักศึกษาในดุสิตธานีมักเป็นครู ส่วนอาชีพที่ดูท่าทางจะสนุกมากกว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นร้านเช่าหนังสือหรือร้านเครื่องเขียน แต่ถ้าใครไม่มีอาชีพจะถูกเก็บเงินเหมือนเสียภาษี

          หากมองในเชิงบริบทของการปกครอง พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าคือผู้นำประเทศที่ได้ไปเห็นโลกกว้างมามากทั้งจากการที่เคยประทับอยู่ยุโรปกว่า ๑๐ ปี รวมถึงการเสด็จประภาสยังประเทศต่างๆ พระองค์จึงทรงใช้ดุสิตธานีเป็นโมเดล เสมือนเป็นห้องเรียนห้องหนึ่งในเรื่องการวางผังเมือง ระบบเทศบาลต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นกรุงเทพฯ กำลังทดลองใช้ระบบการจัดการแบบเทศบาลในการกำจัดขยะ และการขยายเส้นทางคมนาคม

          “จากแหล่งข้อมูลที่ผมตรวจสอบย้อนกลับไป ทำให้ผมมั่นใจว่าดุสิตธานีเป็นของเล่น และเป็นการเล่นที่ซีเรียสมาก ทวยนาครแต่ละคนต้องมีบ้าน มีการทำสำมะโนครัวด้วย มีความชัดเจน มีระบบกลาง เท่าที่ผมคำนวณนี่มันเป็นการสะท้อนแบบแผนในระบบราชการ

          “แต่อาคารในดุสิตธานีมันอยู่อาศัยไม่ได้จริง จึงต้องมีคลับให้คนไปสังสรรค์กันหลังเลิกงาน เขาก็จะมารวมตัวกันที่คลับชื่อ โฮเต็ล เมโทรโพล (Hotel Metropole) ซึ่งเป็นที่ประชุม ถกเถียง สังสรรค์ และเลือกตั้ง ซึ่งมีการสมมติว่า ๑ เดือนในดุสิตธานี คือ ๑ ปี จึงมีการเลือกตั้งกันทุกเดือนก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นกฎระเบียบในดุสิตธานีคือการเอาของจริงมาใช้ ในเชิงกายภาพพอมันเป็นเรื่องเล่นมันจึงจัดการได้ง่าย

          “พูดถึงว่าดุสิตธานีเป็นการเล่น ในการเล่นก็มีประเด็นการเล่นอยู่ซึ่งพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่พอเล่นวนไปสัก ๓ ถึง ๔ รอบ ก็เบื่อแล้ว ต้องหาเรื่องมาเล่นใหม่ เช่น การประกวดเคหะสถาน โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นกรรมการ หรือ การแข่งเรือจิ๋ว ซึ่งก็มีอู่ต่อเรือสำหรับเรือลำจิ๋วด้วย”

จิตรกรหนุ่มไขข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยคข้างต้นชวนชะงักที่เขาเชื่อว่าเมืองจำลองนี้เป็นการละเล่น ไม่เพียงเท่านี้ในหนังสือ “จดหมายจางวางหร่ำ” ยังกล่าวถึงพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และดุสิตธานีว่า “พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดการ เล่น อยู่สามอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ละครอย่างหนึ่ง สโมสรอย่างหนึ่ง ออกหนังสือพิมพ์อย่างหนึ่ง” และทั้ง ๓ อย่างนี้กลายเป็นกิจกรรมที่สำคัญและจริงจังในเมืองจำลอง ซึ่งเป็นการนำร่องสู่การปกครองแบบใหม่

ประกาศนียบัตร การประกวดเคหะสถาน พ.ศ. ๒๔๖๑
ที่มา: หอวชิราวุธาณุสรณ์

สืบรอยศิลป์

ผลงานสันนิษฐาน แผนที่ดุสิตธานี (ผลงาน พ.ศ. ๒๕๖๓)

ผลงานสันนิษฐาน คนธรรพนาฏศาล (ผลงาน พ.ศ. ๒๕๖๓)

          จากภาพจิตรกรรมเมืองดุสิตธานีแบบ ๒ มิติ ขยับไปเป็นภาพพิมพ์เขียว และก้าวสู่งานแบบจำลองสถาปัตยกรรม ๓ มิติ เหล่านี้เป็นงานศิลปะที่จะใช้เพียงจินตนาการไม่ได้ แต่ต้องมีข้อมูลชนิดที่เรียกว่า “แน่นปึ๊ก” จะใช้แค่ข้อมูลเบื้องต้นจากหนังสือแบบเรียนคงไม่พอแน่ๆ ทั้งการยกเลิกกิจกรรมเมืองจำลองไปแบบฉับพลันภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทำให้ข้อมูลสำคัญบางอย่างขาดหาย การตามหาข้อมูลในเชิงลึกสำหรับอาจารย์หนุ่มแห่งเมืองมหาสารคามนับว่าต้องใช้ความเพียรอยู่มาก

ภาพถ่ายเมืองจำลองดุสิตธานี
ที่มา: หอวชิราวุธาณุสรณ์

About the Author

Share:
Tags: bangkok art biennale / ดุสิตธานี / ประทีป สุธาทองไทย / (world expo / รัชกาลที่ ๖ / ทวยนาคร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ