Friday, April 18, 2025
ศิลปะ สัมภาษณ์ ชื่นชมอดีต บทความแนะนำ

มองดุสิตธานีผ่านสายตาจิตรกร

          “ข้อมูลขั้นต้นได้มาจาก หนังสือดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่รวบรวมจากงานสัมนาที่จัดขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๓ โดยหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล และหอสมุดแห่งชาติ เพื่อรวบรวมความทรงจำจากเหล่าข้าราชบริพารผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดุสิตธานี และเรียบเรียงโดย จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ควบคู่กับการจัดนิทรรศการแสดงภาพถ่ายดุสิตธานีในงานพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอสมุดแห่งชาติ ภาพถ่ายในงานนิทรรศการได้ถูกพิมพ์เป็นหนังสือเช่นเดียวกัน

          “แล้วก็ไปเจอข้อมูล แผนที่ภายในดุสิตธานี ที่เขียนโดยพระยาอนุชิตชาญชัย (พงษ์สวัสดิ์ ชูโต) แต่ปรากฏว่าพอเทียบกันกับข้อมูลในหนังสือดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยกับภาพแผนที่ภายในดุสิตธานีนั้นไม่สอดคล้องกัน ผมจึงเกิดความคิดที่อยากจะปรับปรุงแผนที่ขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับมุมมองที่เห็นในภาพถ่าย

          “ด้วยความช่วยเหลือจาก ศาสตราจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ กรุณาประสานกับมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ผมเข้าไปสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมโดยเฉพาะภาพถ่ายที่ไม่ได้พิมพ์ในหนังสือ

          “ผมเป็นคนที่ชอบดูภาพถ่ายเก่าตอนเด็กๆ ก็ไปดูจากหนังสือภาพในห้องสมุด พอมาทำงานชุดดุสิตธานี อาชีพที่ผมสนใจคือร้านถ่ายรูปที่มีถึง ๓ ร้าน คือ ฉายาบรรทมสินธุ์ ฉายาดุสิต ฉายาลัย ซึ่งเป็นที่มาของอัลบั้มภาพดุสิตธานีที่ขายกัน ในการหาภาพถ่ายมาอ้างอิง ต้องขอบคุณ อาจารย์จิตติ เกษมกิจวัฒนา ในเรื่องแหล่งข้อมูล เช่น ภาพถ่ายจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และ เอกสารและอัลบั้มภาพบ้านแบบต่างๆ ในดุสิตธานีจากห้องหนังสือหายากภายในหอสมุดแห่งชาติ ทำให้เห็นกายภาพของเมืองดุสิตธานีชัดเจนขึ้น

หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย
ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ

          “ข้อมูลหลายๆ อย่างก็ได้มาจากหนังสือพิมพ์รายวัน อย่าง หนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย (ฉบับเดือนเมษายน-กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๖๒) เห็นข่าวในชีวิตประจำวันอย่างประกาศต่างๆ การก่อสร้าง การขยายเขตอำเภอ การพัฒนาสาธารณูปโภค รวมถึงข่าวชาวบ้านใครสร้างบ้าน ใครย้ายบ้าน ใครขายบ้าน ถึงไม่มีภาพประกอบแต่ก็ชวนให้จินตนาการตาม นอกจากหนังสือพิมพ์ดุสิตสมัย ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหัว คือ ดุสิตเรคคอร์ดเดอร์ ดีเบตในเรื่องความคิดทางการเมืองด้วย ผมคิดว่าเป็นความคิดแบบก้าวหน้า เข้ากับคนได้กว้างขึ้นด้วย”

          การพบอัลบั้มภาพบ้านเรือนในดุสิตธานีที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ นอกจากช่วยเพิ่มรายละเอียดให้กับอาจารย์หนุ่มในการสันนิษฐานภาพแผนที่ขึ้นใหม่แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาและยืนยันรายละเอียดกลุ่มบ้านที่มองเห็นไม่ชัดเจนในมุมกว้าง อาจารย์ประทีปจึงได้สร้างภาพจิตรกรรมสถาปัตยกรรมไทย จำนวน ๒ ภาพ จากอาคารที่มีอยู่จริง

          จากข้อมูลประเภทเอกสารและภาพถ่ายทำให้อดคิดไม่ได้ว่า แล้วข้อมูลบุคคลล่ะ ยังมีใครที่ยังมีชีวิตอยู่ไหม จิตรกรหนุ่มหัวเราะก่อนจะตอบว่า

          “เสียกันไปหมดแล้ว ก็ผ่านมา ๑๐๐ ปีแล้ว อย่างอาจารย์วรชาติ มีชูบท ที่เก็บข้อมูลตรงนี้ก็เสียไปเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง อ้อ! แต่มีครั้งหนึ่งที่ผมไปแสดงงานดุสิตธานี มีนักศึกษาหญิงนามสกุลไกรฤกษ์ เข้ามาทักว่า ‘นี่คือบ้านของคุณตาของเขา’ ก็นำไปสู่การนัดหมายคุยกับคุณแม่ของน้องเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม น่าเสียดายที่คุณตาท่านเสียไปแล้ว คุณแม่ได้ไปค้นลังเอกสารเก่าๆ ก็พบโฉนดบ้านดุสิตธานีที่ผมวาดนี้ จึงได้ขอบันทึกภาพไว้เป็นข้อมูล

ภาพสันนิษฐาน

          เป็นเรื่องธรรมดาของการสร้างงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง แม้จะผ่านการค้นคว้าอย่างหนักหน่วง ตามล่าหาเอกสารอ้างอิงมากมาย อย่างไรก็ต้องมีคนเห็นต่างที่พร้อมโต้แย้งอยู่บ้าง สำหรับงานศิลปะที่ผ่านการค้นคว้า ก็น่าจะไม่มีข้อยกเว้น แต่ผิดคาด

          “อืม ไม่มีนะ คือมันเป็นงานเชิงสันนิษฐานน่ะ สันนิษฐานสเกลว่ามันจะสูงเท่าไร กว้างเท่าไร จากข้อมูลที่บอกเพียงว่าย่อส่วนจากของจริง ๑ ต่อ ๒๐ นั้น คือเท่าไรกัน จากข้อจำกัดของข้อมูลที่เหลือเพียงภาพถ่าย ทำให้เกิดงานเชิงสันนิษฐาน อีกส่วนเป็นงานสันนิษฐานรูปแบบอาคารในดุสิตธานีที่เหลือเพียงภาพถ่ายจำนวน ๖ อาคาร ให้กลายเป็นพิมพ์เขียว โดยมี เจษฎา นฤชิต และ ณัฐวุฒิ ศรีกุลทรัพย์ ซึ่งเป็นสถาปนิกมาทำงานร่วมกัน

          “การมีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลที่หอวชิราวุธานุสรณ์ ทำให้ผมได้วัดขนาดอาคารของดุสิตธานีที่ยังเหลืออยู่ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดสัดส่วนอาคารที่สันนิษฐานเป็นภาพขึ้นใหม่ เอาความสูงโดยเฉลี่ยของอาคารมาใช้เป็นตัวตั้งต้นในการสันนิษฐานความกว้างและรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของอาคารจากมุมที่เห็นในภาพถ่าย ซึ่งเป็นมุมเดียว

          “พอได้พิมพ์เขียวของสิ่งที่สูญไปแล้ว ก็สร้างขึ้นมาเป็นแบบจำลอง ล่าสุดที่ไปแสดงนิทรรศการที่สิงคโปร์เป็นโรงละครในดุสิตธานี ชื่อ คนธรรพนาฎศาลา ขั้นตอนการทำงานเป็นสเต็ปๆ จาก ค้น วาด บลูปริ้นท์ และ ๓ มิติ”

ภาพถ่ายบ้านดุสิตธานี
ที่มา: หอสมุดแห่งชาติ

          สำหรับการไปแสดงงานดุสิตธานียังต่างประเทศอย่างไต้หวัน และสิงคโปร์ นั้น อาจารย์ประทีปให้ความเห็นว่าในเรื่องการคิกต่างหรือโต้แย้งนั้นไม่มี เพราะมันเป็นเรื่องในประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดช่วงที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองอย่างรัสเซียหรือจีน การที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชจริยวัตรเกี่ยวกับเมืองจำลองเพื่อทดลองการปกครองในรูปแบบเสรีภาพย่อมเป็นภาพลักษณ์เชิงบวกของประเทศ

          แน่นอนว่าผลงานศิลปะชุดดุสิตธานียังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะอาจารย์ประทีปเพิ่งจะไขปริศนาประวัติศาสตร์เมืองจำลองดุสิตธานีไปได้เพียง ๒ ปีแรกของการตั้งเมืองเท่านั้นเอง คงต้องอดใจรอต่อไปว่าความลับใน ๕ ปีหลัง จะเผยเรื่องราวที่น่าสนใจ และอาจารย์หนุ่มแห่งเมืองตักศิลาจะถ่ายทอดมันออกมาในลักษณะไหน  

นิทรรศการ หอวิชิราวุธาณุสรณ์ ๒

About the Author

Share:
Tags: bangkok art biennale / ดุสิตธานี / ประทีป สุธาทองไทย / (world expo / รัชกาลที่ ๖ / ทวยนาคร /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ