Friday, March 21, 2025
ศิลปะ สัมภาษณ์ บทความแนะนำ

สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ กับเส้นทางสู่การเป็นศิลปินแห่งชาติ

นับตั้งแต่วัยเยาว์ที่รู้ตัวว่ารักงานศิลปะจวบจนก้าวสู่การทำงานศิลปะอย่างเต็มตัวทั้งในฐานะอาจารย์สอนศิลปะ ผู้บริหารงานที่ดูแลศิลปินควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนางานศิลปะในรูปแบบต่างๆ การค่อยๆ ก้าวค่อยๆ สั่งสมประสบการณ์ยาวนานบนเส้นทางสายนี้ ก่อนจะมาถึงจุดที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ในปี ๒๕๖๐ เรียกได้ว่า เขาคือศิลปินตัวจริงที่ไม่เคยทิ้งพู่กันและจานสีให้เงียบเหงา ไม่ว่าจะดำรงสถานะอะไรตั้งแต่วัยเยาว์ อาจารย์สมศักดิ์ หรืออาจารย์เชาวน์ผู้นี้ก็ผลิตงานศิลปะออกมาอย่างต่อเนื่อง

ผมทำงานศิลปะในแนวนี้มาตลอดนอกจากสภาพแวดล้อมของแวดวงศิลปะในบ้านเรายุคนั้นที่สนองตอบการสร้างสรรค์งานแนวแอบสแตรก โดยส่วนตัวผมเองก็มีความประทับใจวิธีการแสดงออกของการทำงานในแนวนี้ด้วย

“สมัยเด็กผมอยู่แถวสี่แยกพลับพลาไชยซึ่งเป็นย่านคนจีน มีเพื่อนๆ รุ่นพี่หลายคนชอบวาดรูป เราก็สนใจ ชอบไปดูเขาวาด สมัยนั้นราวๆ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ย่านนั้นจะมีชุมชนชาวจีนที่เขียนตัวอักษรจีนแล้วเราก็ชอบดูตอนนั้นผมเรียนที่กรุงเทพคริสเตียน ทุกวันคริสต์มาสจะมีการจัดประกวดวาดรูปเกี่ยวกับพระเยซู ซานตาคลอส เราก็ส่งภาพไปประกวด แล้วสมัยนั้นทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหมก็มีรายการเล่านิทาน แล้วให้เด็กๆ ส่งภาพที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นเข้าประกวด ผมก็ส่งภาพไปประกวดกับรายการทีวีนี้ตลอดเลย ผมคิดว่ามีศิลปินหลายท่านโตขึ้นมากับรายการนี้ สำหรับผมการเขียนรูปในวิชาศิลปะในโรงเรียนและการส่งภาพประกวด รวมทั้งการที่ได้เห็นศิลปินเขียนตัวอักษรจีน สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้รู้สึกว่าอยากเรียนศิลปะ”

หลังจบ ม. ๖ ในยุคนั้น อาจารย์สมศักดิ์ได้ย้ายไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยช่างศิลป์ ด้วยทั้งอาจารย์สอนศิลปะที่สนับสนุนและครอบครัวก็ไม่ได้บังคับว่าจะต้องเรียนอะไรดังนั้นการที่ผลสอบออกมาในอันดับ ๑๐๑ จากนักเรียน ๒๐๐ คน ซึ่งจะมีเพียง ๑๐๐ คนสามารถเรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนเดิมได้จึงไม่ใช่ปัญหา เพราะทำให้เขาได้เข้าไปเรียนในวิทยาลัยช่างศิลป์อย่างที่ตั้งใจ

“ธรรมชาติของพ่อแม่ผมไม่ค่อยบังคับว่าเราจะเรียนอะไร แค่ขอให้ได้ที่เรียนแล้วเรียนอะไรก็ได้ที่เราสนใจ คุณพ่อผมเคยบอกว่า ถ้าจะเรียนศิลปะต้องไปเรียนในโรงเรียนศิลปะจริงๆ ไม่ใช่แค่วาดรูปส่งประกวด ช่วงนั้นผมเองก็สนใจศิลปะค่อนข้างมาก พอได้เข้าไปเรียนทำให้ตั้งใจมากกว่านักเรียนคนอื่นๆเหมือนเรามีต้นทุนเป็นความสนใจอยู่พอสมควรทำให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ไปหาตำรับตำราที่อื่นมาอ่าน พอเรียนได้ปีที่สองก็สอบเทียบ ม. ๘ ได้ จากนั้นก็สอบเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร”

“ช่วงเรียนศิลปากรยุคนั้นเรามีครูบาอาจารย์เป็นศิลปินมีชื่อเสียงแล้ว อย่างเช่น อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข ซึ่งทำงานในแนวที่เราเรียกว่าเป็นงานศิลปะแบบเซมิแอบสแตรก รุ่นนั้นยังมีศิลปินกลุ่มที่เป็นครูบาอาจารย์ในศิลปากร แล้วก็มีกลุ่มหัวก้าวหน้าที่อาจไม่สนใจในการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติสมัยนั้นคือตั้งแต่ปี ๒๕๐๖-๒๕๐๙ ช่วงนั้นจะเป็นการแสดงศิลปกรรมสมัยใหม่ที่สำคัญที่สุดของประเทศ เพราะสมัยนั้นแทบจะไม่มีการแสดงที่ไหนเลย การแสดงวันแมนโชว์ของศิลปินทั่วๆ ไปมีน้อยมาก ดังนั้นศิลปะสมัยไหมในประเทศไทยที่เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูก็เป็นช่วงที่ผมเติบโตขึ้นมาพอดี ช่วงเรียนช่างศิลป์จนเข้ามหาวิทยาลัย กระทั่งจบมหาวิทยาลัย ปี๒๕๑๕ เป็นยุคที่งานศิลปะแนวสมัยใหม่ โดยเฉพาะงานแอบสแตรกกำลังนิยมมาก”และจากการที่ศิลปะแนวแอบสแตรกหรือนามธรรมกำลังเบ่งบานได้รับความนิยมมากอยู่ในขณะนั้นนั่นเองที่หล่อหลอมความสนใจศิลปะแนวนี้ของอาจารย์สมศักดิ์ จนกระทั่งทำให้มีความชัดเจนในการสร้างผลงานที่มีการจัดแสดงในรูปแบบวันแมนโชว์หลายชุดตามมาในที่สุด

“ผมทำงานศิลปะในแนวนี้มาตลอดนอกจากสภาพแวดล้อมของแวดวงศิลปะในบ้านเรายุคนั้นที่สนองตอบการสร้างสรรค์งานแนวแอบสแตรก โดยส่วนตัวผมเองก็มีความประทับใจวิธีการแสดงออกของการทำงานในแนวนี้ด้วย ผมประทับใจในงานภาพเขียนจีนเพราะภาพเขียนจีนส่วนใหญ่เป็นภาพทิวทัศน์แสดงถึงความกว้างใหญ่ไพศาลของรรมชาติเช่น ภูเขา น้ำตก ที่แสดงถึงความกว้างใหญ่เวิ้งว้าง ในภาพแต่ละภาพจะมีมนุษย์ตัวเล็กนิดเดียว แสดงให้เห็นว่าเมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติแล้วเทียบกันไม่ได้เลยอันนี้เป็นแรงบันดาลใจ คือจุดเริ่มต้น”

“นอกจากนั้นผมยังสนใจในศาสนาพุทธที่พูดถึงความว่างเปล่า ความเป็นอนัตตาความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็ทำให้อยากจะนำแนวคิดนี้ออกมาเป็นงานในแนวแอบสแตรก สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้น ทำให้เราศึกษางานลักษณะนี้มาตลอด”


นับจากการส่งภาพประกวดจนได้รับรางวัลเหรียญเงินงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติหลังเรียนจบปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรมฯ ไปทำงานด้านออกแบบลายผ้าก่อนจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะที่วิทยาลัยช่างศิลป์ เมื่อคณะจิตรกรรมฯ เปิดสอนระดับปริญญาโท อาจารย์ก็เข้าไปศึกษาต่อโดยไม่รอช้า และช่วงเวลาบ่มเพาะแนวคิดการทำงานแอบสแตรกออกมามากที่สุดของอาจารย์ก็คือช่วงไปดูงานที่ญี่ปุ่น

“มีผลงานที่ได้แรงบันดาลใจจากตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่น ไปอยู่มหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮาม่า ทำงานศิลปะขึ้นมาหลายชุด ชุดสำคัญก็คือชุดที่ผมตั้งชื่อว่าสวนกวี poetic garden เป็นแรงบันดาลใจจากการไปเห็นสวนเซ็นที่วัดเรียวอัน ความที่เราสนใจภาพเขียนในเรื่องของความเวิ้งว้าง ความว่างเปล่าและผมเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ ชอบศิลปะแบบตะวันออก ภาพเขียนจีน ญี่ปุ่น การไปญี่ปุ่นเป็นการเปิดโลกของผม และยังนำแนวคิดกลับมาต่อยอดแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะได้อีก ๗-๘ ปีเลย”


ถึงตอนนี้เรานึกภาพจากเด็กชายสมศักดิ์ในวัยเด็กที่เที่ยวเดินดูศิลปินจีนเขียนตัวอักษร calligraphy ภาษาจีน หรือไปดูรุ่นพี่กำลังวาดรูปอย่างขะมักเขม้นด้วยความฝันว่าสักวันจะต้องสร้างงานศิลปะของตัวเองบ้าง และดูเหมือนเส้นทางความฝันก็ต่อยอดทอดยาวขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดสะดุด หรือหักเหเปลี่ยนไปในทิศทางอื่นตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษภาพผลงานชุดล่าสุดที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้าอันเป็นภาพฉากหลังการถ่ายภาพพอร์เทรตของอาจารย์ในคอลัมน์นี้คือผลงานชุดล่าสุดที่เพิ่งมีการแสดงจบไปก่อนจะปิดสตูดิโอพักมา ๒ เดือน ชื่อชุดว่า The Dark Painting ภาพนามธรรมที่แสดงถึงความโศกเศร้าอาดูรที่คนไทยต้องสูญเสียพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ เป็นภาพสีหม่นเศร้าให้ความรู้สึกตราตรึงใจล่าสุด กระทรวงวัฒนธรรมแห่งชาติประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติทั้งหมด ๑๗ คน และในรายนามของศิลปินแห่งชาติ สาขาจิตรกรรม ก็มีชื่อของอาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ เป็นผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้

“สำหรับตัวผม รางวัลคือการตีตรวนทำให้เราไม่สามารถละเลย และต้องตั้งใจทำต่อไปเพื่อไม่ให้ผู้ที่ให้เกียรติเราผิดหวัง ซึ่งผมก็ตั้งใจว่าจะต้องทำต่อไปให้ดีที่สุด ทั้งเพื่อศักดิ์ศรีตัวเองและเป็นเกียรติแก่เรา รวมถึงผู้ที่มอบรางวัลนี้ให้เราด้วย และผมก็มั่นใจว่างานศิลปะของผมจะเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แม้จะเป็นแนวนามธรรมเหมือนเดิม แต่ในเรื่องของการทำงานศิลปะ ตราบใดที่ชีวิตเรายังมีเซลล์เกิดดับและเกิดใหม่อยู่ตลอดเวลา ผมก็จะสร้างสรรค์งานในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับผมศิลปะแนวแอบสแตรกยังมีทางไปอยู่เรื่อยๆ ยังไม่หมดลมหายใจเหมือนที่ใครหลายคนคิดว่าศิลปะแนวนี้ตายแล้ว”


เฟรมภาพหลายขนาดซ้อนเรียงกันอยู่ในสตูดิโอ เปิดรับสายลมพัดผ่าน ตลอดเวลาพูดคุยมีเสียงนกร้อง เสียงสุนัขเห่าขรมเป็นระยะๆ และเมื่อมองออกไปในสวนหมู่มวลต้นไม้นานาพันธุ์ก็พากันส่งพลังธรรมชาติให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาในขอบเขตแห่งนี้ นี่คือที่พำนักอั้นเป็นที่สร้างผลงานศิลปะนามธรรม รูปทรงที่ไร้ขอบเขต สีสันที่เปี่ยมไปด้วยความรู้สึกและเต็มไปด้วยพลังของความคิดก่อนที่ศิลปินจะบรรจงสร้างผลงานเหล่านี้ขึ้นมา นี่คือหนึ่งคุณค่าที่น่ายกย่องของศิลปินคนหนึ่งซึ่งมุ่งหน้าสู่การรังสรรค์ผลงานด้วยความมุ่งมั่นและไม่เคยสั่นคลอน

ผมยังสนใจในศาสนาพุทธที่พูดถึงความว่างเปล่า ความเป็นอนัตตา ความไม่ยั่งยืนของสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็ทำให้อยากจะนำแนวคิดนี้ออกมาเป็นงานในแนวแอบสแตรก สิ่งเหล่านี้เหมือนเป็นแรงบันดาลใจเบื้องต้นทำให้เราศึกษางานลักษณะนี้มาตลอด


About the Author

Share:
Tags: ศิลปินแห่งชาติ / สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ / abstract art /

เรื่องราวอีกมากมายที่คุณจะชอบ